Nakhon Ratchasima/Ban Doo - Ban Japoh/District Projects
TH | EN

Korat Crafting Lab

ห้องทดลองต่อยอดผ้าไหมปักธงชัย

Korat Crafting Lab
Published Date:

Korat Crafting Lab | มองผ่านเส้น เล่นผ่านไหม

กิจกรรมทดลองการพัฒนาย่านบ้านดู่-บ้านจะโปะ (ปักธงชัย) ผ่าน ‘ผ้าไหมโคราช’ สินทรัพย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศของอำเภอปักธงชัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมและแนวคิดสมัยใหม่ ผ่านการใช้การออกแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสืบทอดโดยคนรุ่นใหม่ต่อไป โดยจัดเป็นนิทรรศการที่แสดงให้เห็นตัวอย่างการปรับเปลี่ยน ‘ผ้าไหมโคราช’ ให้เป็นวัสดุใหม่ ที่เป็นได้มากกว่าผ้าไหมที่ทุกคนเคยรู้จัก เพื่อขยายมุมมองการใช้งานในมิติใหม่ รวมถึงจัดกิจกรรมเวิร์กชอปชวนคุณ​ยายอำไพ นักถอดลายผ้าไหมมือหนึ่งของย่าน มาแลกเปลี่ยน​ความรู้กับคนรุ่นใหม่ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคนิคล้ำสมัยจากมหาวิทยาลัย​ด้านเทคโนโลยี​และนวัตกรรม​ในโคราช กิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17- 26 ธันวาคม 2564 ที่ Class Cafe’ สาขาย่าโม

หัวใจสำคัญของกิจกรรมคือการตีโจทย์ ‘ของดี’ ของพื้นที่ โดยไม่ได้มองเป็นเพียงแค่สิ่งของ แต่ให้คุณค่าที่องค์ความรู้และภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน  แล้วนำมาผสมผสานความคิดสร้างสรรค์โดยคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เข้ากับบริบทโลกยุคใหม่ ถือเป็นการผสานช่องว่างระหว่างวัย และนำเสนอการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนาต่อยอดได้อย่างสมดุล โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นตัวกลางในการขยายผลจากระดับย่านสู่ระดับจังหวัด

ผลลัพธ์ของโครงการ

  • เกิดแพลตฟอร์มพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้เชิงทดลองด้านผ้าไหม จากความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา นักออกแบบ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน(ผ้าไหม) ผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าไหมให้เป็นต้นแบบระดับประเทศ
  • โมเดล KORAT Crafting Lab ได้รับการต่อยอด ให้เกิดขึ้นใน 10 ตำบล ของจังหวัด และบนพื้นที่โลกดิจิทัล โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีร่วมกับ CEA และภาคีเครือข่าย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากบพท.
  • ต่อยอดเป็นกิจกรรมในงานต่างๆ อาทิ Isan Creative Festival 2023, SUT Hackathon
ห้องทดลองที่นำเสนอ "ผ้าไหมปักธงชัย" ผ่านการผสมผสานเรื่องราวภูมิปัญญาดั้งเดิมและองค์ความรู้ร่วมสมัย

มองย่านผ่านไหม - ผ้าไหมปักธงชัย และ มัดหมี่ปักธงชัย

นิทรรศการเรื่องเล่าภูมิปัญญาด้านการผลิตผ้าไหมของชุมชนผ่านวิถีชีวิตและเส้นเวลาของอุตสาหกรรมการผลิตในชุมชน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

“มัดหมี่” เทคนิคการทอผ้าที่มีชื่อเสียงในอำเภอปักธงชัย โดยสร้างลวดลายจากการมัดเส้นด้ายหรือเส้นไหมแล้วนําไปย้อมสี ให้สีซึมไปตามส่วนของเส้นไหมที่ไม่ถูกมัดขณะย้อม เกิดเป็นลวดลายต่างๆ ผ้าไหมมัดหมี่ปักธงชัย มักเป็นลวดลายประยุกต์จากธรรมชาติ หรือสิ่งของที่พบเห็นได้ตามชีวิตประจำวัน เช่น ลายกุญแจ ลายแว่นตา ลายดอกกุหลาบ ลายดอก ชบา ลายกระต่าย และลายผีเสื้อ
จุดเด่นอยู่ที่รอยซึมของสีตามบริเวณที่ถูกมัด ที่แม้จะใช้ความแม่นยำมากเพียงไร ก็จะเกิดยังลักษณะสีเหลื่อมบนเส้นไหมให้เห็นแตกต่างกันไปจึงนับเป็นศิลปะที่ทำให้ผ้าแต่ละผืนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

Silk Stationery - เป็นมากกว่าผ้าไหม...

นิทรรศการงานออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไหมประยุกต์ จาก Patipat Design Studio นักออกแบบผลิตภัณฑ์ Designer of the Year 2019 สาขา Textile and Fabric Design

นำแนวคิดการประกอบขึ้นวัสดุ (composite) มาเปลี่ยนคุณสมบัติของผ้าไหมให้กลายเป็นวัสดุใหม่ ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่

Silk x Technology

นำเสนอเทคโนโลยีที่สามารถนํามาต่อยอดองค์ความรู้และกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมผ้าไหม

เทคโนโลยีแสงซิงโครตรอน นำมาใช้พัฒนาผ้าไหมให้กลายเป็นหน้ากากป้องกันฝุ่นและโควิด-19 ด้วยการวิเคราะห์โครงสร้างสามมิติ สมบัติทางเคมี สมบัติทางวัสดุศาสตร์ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการกรองฝุ่นและเชื้อโรค
หน้ากากผ้าไหมในงานวิจัยนี้ สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า 75% และฝุ่นขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอน ได้ถึง 70% และป้องกันละอองจากการไอจามได้ดีกว่าหน้ากากทางการแพทย์ สามารถนำไปซักเพื่อใช้ซ้ำได้มากถึง 20 ครั้ง

Learning from The Master and Technology

ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมผ้าทอ ผ่านชุดเครื่องมือการเรียนรู้ที่พัฒนาโดยนักสร้างสรรค์และผู้ผลิตในชุมชนปักธงชัย แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่

1. ด้านกระบวนการมัดลาย ขึ้นลาย
2. ด้านเครื่องมือในกระบวนการผลิตผ้าทอ
3. ด้านการต่อยอดผลิตภัณฑ์


Workshop "สอนร่าง สร้างลาย" 
ถอดรหัสการสร้างลายผ้าไหมเชิงเทคนิค สู่การต่อยอดงานออกแบบร่วมสมัย โดย คุณยายรำไพ มาทวีตัวแทนชุมชนปักธงชัย

คุณยายรำไพมาทวี นักออกแบบลายผ้าแบบดั้งเดิม ที่เหลือเพียงหนึ่งเดียวของชุมชนปักธงชัย

Workshop "เล่นผ่านไหม 3D Printing on Silk" 
สร้างชิ้นงานโครงสามมิติ 3D Print ลงบนผ้าไหม โดย ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

การพิมพ์ 3 มิติ (3D printing) เทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานที่กำลังเป็นที่นิยมในวงการอุตสาหกรรมผ้าทอ
การพิมพ์เส้นพลาสติกหรือเส้นน้ำยาเรซิ่นลงบนผ้าไหม ให้วัสดุที่พิมพ์จับเข้ากับเนื้อผ้าไหม เกิดผลลัพธ์เป็นโครงสร้าง รูปทรงแบบใหม่
3D printing x ผ้าไหม สามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์และยกระดับคุณสมบัติของผืนผ้า เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมได้

Silk Playground

กิจกรรมทำของที่ระลึกจากเศษผ้าไหม เพื่อดึงดูดให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ให้เห็นคุณค่าและความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของผ้าไหม


Korat Crafting Lab เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และกลุ่มภาคีเครือข่ายในจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี Class Cafe’ กลุ่มผู้ประกอบการในอำเภอปักธงชัย และกลุ่มนักออกแบบจากบริษัท Cloud-Floor