Bangkok Creative City Dialogue: Roundtable Discussion
บทสรุปเนื้อหาจากเสวนาโต๊ะกลม (Roundtable Discussion) ภายใต้หัวข้อ “What Goals or Objectives Including Action Plans Will Your City Be Achieving in the Next Four Years?” อีกหนึ่งกิจกรรมน่าสนใจจากงาน Bangkok Creative City Dialogue ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ TCDC กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจาก 8 เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกเข้าร่วมเสวนา เพื่อแบ่งปันแผนหรือเป้าหมายในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ของตนเองในอีก 4 ปีข้างหน้า ร่วมกับแขกพิเศษจากเมืองต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
Bangkok City of Design (Thailand)
หน้าที่หลักของกรุงเทพมหานคร (BMA) คือการจัดการเมืองในด้านต่าง ๆ ทั้งน้ำ ขยะ และการบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนั้น ในการทำงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงต้องอาศัยแรงจากกลุ่มคนสร้างสรรค์เป็นหลัก เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ การทำงานร่วมกับ CEA จึงสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากจะช่วยให้เราได้คิดนอกกรอบแล้ว ยังเป็นภาคีที่เข้าใจนักออกแบบและกลุ่มคนสร้างสรรค์เป็นอย่างดี และความสำเร็จของการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ที่ขยายไปตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมืองก็เป็นผลงานที่เด่นชัดของ CEA
แผนอีก 4 ปีข้างหน้าอาจยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่ควรมุ่งเน้นคือการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่และอยู่ได้อย่างมีความสุข ตอนนี้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับบางคน แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน มีร้านอาหาร สวนสาธารณะ และที่อยู่อาศัยที่ดีมีคุณภาพ แต่ก็ยังมีชุมชนแออัดเล็ก ๆ แทรกอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของเมือง การขนส่งสาธารณะยังไม่สะดวกสบายและครอบคลุม โดยเฉพาะเรื่องน้ำท่วมที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากโครงสร้างในการบริหารจัดการยังไม่สมบูรณ์นัก แม้จะมีเครือข่ายและหน่วยงานช่วยกันดูแลรับผิดชอบ แต่การประสานงานก็ยังไม่ดีพอ เราจึงต้องแก้ไขนโยบายอีกมากพอสมควร และการออกแบบก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะตอบโจทย์นี้
ในมุมของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ ความท้าทายหลักข้อหนึ่งคือพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง กรุงเทพมหานคร (BMA) จึงต้องดูแลทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ กล่าวคือต้องเข้มแข็งทั้งโครงสร้างเมืองและคน ตัวอย่างโครงสร้างเมืองที่กำลังจะดำเนินการคือการย้ายศาลาว่าการฯ ซึ่งไม่ได้ส่งผลเพียงการย้ายสถานที่เท่านั้น แต่หมายรวมถึงการปรับผังเมืองเก่า จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะดูแลชุมชนโดยรอบศาลาว่าการฯ อย่างไร ในส่วนของซอฟต์แวร์ เราพยายามส่งเสริมในระดับเขต ให้ทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯ มีอัตลักษณ์ของตนเอง ซึ่งต้องพูดคุยกับนักออกแบบอย่างละเอียด อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการสร้างแบรนด์ที่เรียกว่ากรุงเทพฯ ให้ชัดเจน โดยค้นหาอัตลักษณ์ที่ทำให้คนเห็นภาพเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายที่ BMA ต้องการจะทำให้สำเร็จภายใน 4 ปีนี้
นับตั้งแต่กรุงเทพฯ เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN) สิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดเจนคือความพยายามในการลองผิดลองถูกของเมือง มีการทดลองใช้ทั้งงานวิจัยและทฤษฎีต่าง ๆ ในการพัฒนาเมืองกับหลายพื้นที่ทดลอง ซึ่งการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งในการทดลองวิธีการใหม่ ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้กับเมือง อย่างโครงการฟื้นฟูพื้นที่และอาคารร้างในชุมชนและให้ชุมชนดูแลจัดการกันเอง ต้องดูว่าผลลัพธ์จะยั่งยืนหรือไม่ เราอยากเห็นทุกเขตพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีการทดลองและสร้างสินทรัพย์ของชุมชนเอง ซึ่งคงไม่ใช่การให้ทุกเขตใช้วิธีการเดียวกันหมด แต่เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากเขตอื่น และทดลองค้นหาวิธีการที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้คนและสินทรัพย์ที่มีอยู่ในการสร้างอัตลักษณ์เขต
เราดำเนินการตามแนวทางนี้มาเป็นปีที่ 4 แล้วและยังคงมองไปข้างหน้า CEA ร่วมหารือกับกรุงเทพมหานคร (BMA) อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่ามีแผนโครงการใหม่ ๆ อีกมาก เช่น การเปิดสวนสาธารณะแห่งใหม่ใจกลางเมืองเมื่อปีที่ผ่านมา นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่ากรุงเทพมหานครเห็นความสำคัญของการมอบพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมือง อีกทั้งความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบสามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้ ผมเชื่อว่าในอีกสองสามปีข้างหน้า จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ อย่างแน่นอน CEA จะสนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบให้โครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นได้จริง แม้จะมีความท้าทายมากมายรออยู่ ทั้งน้ำท่วมหรือรถติดที่เป็นปัญหาใหญ่ของการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ แต่เชื่อว่ายังมีวิธีการในการบริหารจัดการเมืองที่ใหญ่ขนาดนี้ ให้สามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้คนกรุงเทพฯ ได้ เพียงแต่เรายังค้นหาไม่พบ เพราะยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเท่านั้นเอง
Bandung City of Design (Indonesia)
เราอาจยังตอบได้ไม่ชัดเจนนัก เพราะอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า จะมีการเลือกตั้งในเมืองต่าง ๆ จึงต้องมั่นใจว่าหลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่จะมีการดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้ แต่หากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถทำได้ตามกรอบที่วางไว้ เราอาจต้องเป็นฝ่ายปรับกรอบระยะเวลาบางส่วน ทั้งนี้เรามีคู่มือแนวทางการดำเนินงานซึ่งกำหนด KPI ที่รัฐบาลจะต้องทำเอาไว้ ซึ่งจะช่วยในการประสานงานได้ดี อย่างไรก็ตาม บันดุงต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ เลือกทำสิ่งที่เป็นไปได้ก่อนหากมีเหตุการณ์อื่นแทรกเข้ามา ที่สำคัญคือการสื่อสารให้ผู้คนเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเน้นเรื่อง Value Chain ที่ต้องเข้มแข็ง และการใช้ความคิดสร้างสรรค์กระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับการพัฒนาเมืองบันดุง ไม่ว่าเราจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากแค่ไหน แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดให้ชัดเจน โดยเป้าหมายและตัวชี้วัดเหล่านี้ไม่ได้มีเพื่อวัดหรือแข่งขันว่าเมืองไหนมีความสร้างสรรค์มากกว่า แต่เพื่อให้เข้าใจว่าบันดุงพัฒนาไปถึงจุดไหนและต้องแก้ไขอะไรบ้าง กล่าวคือต้องรู้จักใช้ประโยชน์ของข้อมูลเพื่อปรับปรุง เช่น บางเมืองมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก แต่หากไม่รู้ว่าจะใช้อย่างไรให้ดีและเหมาะสมที่สุด ก็จะเป็นการเปล่าประโยชน์
ปัจจุบันมี 2 เรื่องในอาเซียนที่เราต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น หนึ่งคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างกันให้มากขึ้น สองคือการมีสิ่งที่เป็นตัวแทนของอาเซียน ที่ไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่ง อาจเป็นประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนให้ร่วมมือกันได้ เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น โครงการสร้างสรรค์หรือกิจกรรม Co-Create ด้านศิลปะหรือด้านอื่น ๆ เพื่อสื่อสารให้คนในอาเซียนได้รับรู้ร่วมกันและให้คนทั่วโลกเห็นภาพเดียวกัน เราต้องการผลักดันวาระต่างๆ ในระดับของอาเซียน โดยทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศของเราด้วย อย่างในการประชุม ASEAN Summit เรายกประเด็นด้านความสร้างสรรค์และวัฒนธรรมขึ้นมานำเสนอเช่นกัน เราอาจทำทุกเป้าหมายให้สำเร็จไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ควรสร้างวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันให้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน
Singapore City of Design (Singapore)
สำหรับแผนงานในอีก 4 ปีข้างหน้า เราคงไม่อาจตอบให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน เพราะสิงคโปร์จะมีแผนแม่บทระยะ 5 ปี แผนแม่บทของปี 2023 จึงรวมอยู่ในแผนที่วางไว้แล้วถึงปี 2025 ซึ่งยังอยู่ในช่วงดำเนินงานและทบทวนว่าควรจะต้องปรับเปลี่ยนส่วนใดบ้าง แต่ถ้าพูดถึงเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2023 เราหวังที่จะใช้การออกแบบเพื่อทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองน่าอยู่และเป็นที่รัก รวมทั้งขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อให้สิงคโปร์แข่งขันได้ในระดับสากล
เราต้องการสร้างแบรนด์การออกแบบของสิงคโปร์ให้เป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพและความเป็นเลิศ สาเหตุที่ต้องเน้นความสำเร็จระดับนานาชาติมากกว่าระดับท้องถิ่น เพราะนิสัยเฉพาะของคนสิงคโปร์มักจะชื่นชมผลงานของท้องถิ่นก็ต่อเมื่อผลงานนั้นได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว เราจึงต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของคน
ในแง่การทำงานกับภาคเอกชน หลายปีที่ผ่านมา เราประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราต้องยกระดับการทำงานต่อไปให้ได้จริง จึงมองไปถึงปี 2030 แล้วว่าควรจะทำอะไรและคิดให้ไกลว่าการออกแบบต้องมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ มากกว่าแค่การสร้างรายได้ หากต้องส่งเสริมนวัตกรรม มีคุณค่าเชิงสังคม และสะท้อนจุดประสงค์ในการมีอยู่ของตัวมันเองได้ นอกจากนี้ การออกแบบต้องสามารถเสริมศักยภาพของหน่วยงานรัฐ การพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนาด้วยเช่นกัน เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อใครและเพื่ออะไร นวัตกรรมไม่ใช่เรื่องของการสร้างบางสิ่งขึ้นมา แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นเพื่ออะไรและมีผลกระทบอย่างไร
Seoul City of Design (South Korea)
Seoul Design Foundation ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ แต่เป็นองค์กรที่ทำงานให้กับภาครัฐ จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ด้านการออกแบบ และจัดการโครงการมามากพอสมควร ดิฉันรู้สึกทึ่งเมื่อได้รู้ว่าผู้คนของเรานั้นพร้อมมากที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ และอดประหลาดใจไม่ได้ว่าพวกเขามีความคิดก้าวไกลกว่าที่เราคิดในหลายจุด และต้องพยายามตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้ทัน เพื่อให้สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต
เช่นเดียวกับสิงคโปร์ เราพยายามเปิดพื้นที่พูดคุยกันถึงสิ่งที่เรามีและการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เช่น การแสดงแสงสี ซึ่งเป็นโครงการที่เมื่อพิจารณาในเบื้องต้น อาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะจัดแสดงแสงสีบนพื้นผิวที่มีรูปทรงแปลกตาที่ทงแดมุนพลาซ่า แต่เมื่อพูดคุยกันจึงได้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว เรามีเทคโนโลยีที่พร้อมและผู้คนก็พร้อมที่จะเปิดใจรับสิ่งใหม่ เราจึงต้องกล้าพอที่จะนำเสนอโครงการที่แปลกใหม่ให้กับคนของเรา ดังนั้นอาจยังตอบได้ไม่ชัดเจนว่าอีก 4 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เราจะยังคงทดลองสิ่งใหม่อย่างที่ทำมาเสมอต่อไป เพื่อก้าวไปข้างหน้าและสร้างอนาคตที่ดีขึ้น
Kuching City of Gastronomy (Malaysia)
การมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่มีชุมชน เราก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล ดังนั้นไม่ว่าจะวางแผนอะไรก็ตาม เราต้องมองถึงประโยชน์ของประชาชนมาก่อนเสมอ และเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความคิดเห็น แน่นอนว่ามันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน แต่นี่คือหนทางเดียวที่จะทำให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมกับเมืองและมีบทบาทที่ต้องทำ เราจึงมีสภาเมืองที่ทำหน้าที่ติดตามผลการทำงานของโครงการและนโยบายต่าง ๆ และประสานงานร่วมกับอีกสองฝ่าย หนึ่งคือเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN) และสองคือประธานกรรมการสูงสุดที่เป็นตำแหน่งของรัฐมนตรี การทำงานจะควบคู่กันไปในสองระดับเช่นนี้เสมอ
สำหรับแผนการทำงาน 4 ปี เมื่อร่างแผนเรียบร้อยแล้ว เราต้องนำเสนอต่อรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าเราจะเดินไปทางไหน และทุก ๆ ปี เราต้องทบทวนผลลัพธ์ที่ทำไปว่าจะสามารถปรับปรุงหรือแก้ไขจุดใดได้บ้าง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่พลาดไป อีกสิ่งหนึ่งที่ผมต้องการจะเห็นคือการเพิ่มความร่วมมือให้มากขึ้น ด้วยความที่กูชิงเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกได้ไม่นาน จึงมองหาพันธมิตรเพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียและสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เพราะความคิดสร้างสรรค์ต้องมาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพียงแต่เรามองว่าอุตสาหกรรมอาหารมีศักยภาพสูง เพราะอาหารเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือเราจะเชื่อมโยงอาหารกับวัฒนธรรม ชุมชน และประวัติศาสตร์ได้อย่างไร เพื่อให้เกิดเรื่องราวและความน่าสนใจ เพราะความลุ่มลึกของมันมีอยู่มากกว่าแค่การกิน ผมอยากเห็นโครงการแลกเปลี่ยนเชฟเพื่อให้เข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากยิ่งขึ้น เรื่องนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เราได้จัดโครงการอาหารเพื่อสุขภาพและสุขอนามัย เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องอาหารและเดินตลาดมากขึ้น สอนการทำอาหารให้อร่อยและสะอาด และการคัดเลือกวัตถุดิบ ทางด้านเกษตรกร เราจะมุ่งเน้นเรื่องแหล่งที่มาของอาหาร ให้ได้ใช้ประโยชน์จากซาราวักในฐานะถิ่นแห่งวัตถุดิบ และผลักดันเอกลักษณ์ของวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่นให้โดดเด่นด้วยความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเราสามารถถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นรูปเป็นร่าง เชื่อมโยงอาหารเข้ากับชีวิตและความรู้สึกของคน ก็เท่ากับว่าเราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำมาซึ่งนวัตกรรมและทำให้เมืองของเรามีชื่อเสียง
งานสร้างสรรค์เป็นงานของเราโดยตรง แม้จะไม่ได้เป็นคนที่บังคับพวงมาลัยและเหยียบคันเร่งด้วยตัวเอง แต่ก็มีส่วนในการบอกทิศทาง นอกจากเราแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงเช่นกัน งานหลายอย่างเราจึงไม่ได้ทำเอง แต่เป็นจุดเชื่อมโยงและผู้ประสานงานมากกว่า เพราะในการทำโครงการต่าง ๆ ผู้มีส่วนร่วมแต่ละฝ่ายอาจมีความคืบหน้าไม่เท่ากัน ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN) เราจะรับบทบาทในการประสานให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยกันได้
หากพูดถึงประโยชน์ที่เราสร้างในฐานะสมาชิก UCCN ดิฉันคิดว่าคำตอบคือการส่งเสริมความร่วมมือให้ทุกฝ่ายบรรลุเป้าหมายและทำให้รัฐบาลพร้อมที่จะรับฟัง การเป็นตัวแทนของเครือข่ายนี้สำคัญมาก เพราะทุกกิจกรรมที่ทำภายใต้ร่มของยูเนสโกมักจะเกิดความสมดุลระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รัฐบาล และองค์กรเอกชน ซึ่งดิฉันคงพูดไม่ได้ว่านี่คือผลงานของตัวเอง ผลลัพธ์ทั้งหมดเกิดขึ้นตามครรลองของมัน สิ่งที่เมืองเครือข่าย UCCN ทำคือการอำนวยความสะดวกและเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในและต่างประเทศได้พูดคุยกัน
กูชิงยังเป็นเมืองสร้างสรรค์หน้าใหม่ จึงอาจต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ดังนั้นหากเมืองไหนกำลังมองหาพันธมิตร เราก็พร้อมจะพูดคุย เมืองของเรายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ยังต้องการการสนับสนุนและความร่วมมือระดับนานาชาติ และต้องบอกว่าเราประทับใจในการเปิดกว้างของเครือข่ายนี้เป็นอย่างมาก ตลอดจนความพร้อมของเมืองต่าง ๆ ที่จะร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน การเข้าร่วมเครือข่ายนี้ถือว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาอย่างยิ่ง ดังนั้นจากที่ปีแรก (2022) เราจัดงานด้านอาหารเฉพาะเครือข่ายในประเทศ สำหรับปีที่ 2 นี้ ดิฉันคิดว่าคงต้องเชิญผู้ร่วมงานจากต่างประเทศด้วย
Nagoya City of Design (Japan)
หลังจากที่นาโงยะได้ขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN) ตั้งแต่ปี 2008 รวมแล้วกว่า 14 ปี เราได้รับการติดต่อจากเมืองต่าง ๆ มากมาย ซึ่งบางเมืองเราก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน ทำให้ได้สร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ใหม่ ๆ กับหลายเมือง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนาโงยะได้มีโอกาสจัดโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในรูปแบบนิทรรศการและอีเวนต์ต่าง ๆ มากมาย นี่เป็นประโยชน์อันเด่นชัดที่เราได้รับ อย่างไรก็ตาม การทำงานให้ต่อเนื่องควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกของคนนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่ง โดยเฉพาะการทำโครงการกับรัฐบาลท้องถิ่นให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย
สำหรับแผนการทำงานในอีก 4 ปีข้างหน้า เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เราได้มีการเริ่มโครงการที่เน้นการออกแบบและการพัฒนาเมือง แผนของเรายังให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัย การสนับสนุนศิลปะการแสดง การเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนเมือง เพื่อให้ได้ข้อมูลก่อนทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อริเริ่มเป็นโครงการ และสุดท้ายคือเป้าหมายในการทำให้เครือข่าย UCCN แข็งแกร่งขึ้น โดยก่อให้เกิดประโยชน์กับชาวเมืองด้วย การจัดงานอีเวนต์มีประโยชน์ก็จริง แต่ตัวงานไม่ใช่ทั้งหมด เราต้องคิดเสมอว่างานนั้น ๆ จะเอื้อประโยชน์ให้กับชาวเมืองอย่างไร เพื่อให้ชาวเมืองได้เห็นด้วยว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับพวกเขา
ประเด็นต่อมาคือการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีโจทย์ว่าจะผสานเรื่องคนกับวัฒนธรรมเข้าด้วยกันได้อย่างไร นาโงยะเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบ เช่น ดินในการทำเครื่องปั้นดินเผาและไม้ในงานฝีมือ ขณะเดียวกันก็มีท่าเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าไปทั่วโลก เมื่อมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรม ประวัติศาสตร์จึงค่อย ๆ ลดบทบาทลง ทั้งที่นาโงยะเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยเฉพาะงานเครื่องปั้นดินเผาที่ประสบปัญหาขาดผู้สืบทอด การสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มาสืบต่องานเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญและจะดำเนินงานต่อไป กล่าวโดยสรุปคือเราต้องสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ควบคู่ไปกับการรักษาอุตสาหกรรมอันเป็นมรดกของเมือง
Asahikawa City of Design (Japan)
ฮาซาฮิกาวะตั้งอยู่บนเกาะฮอกไกโด ฮอกไกโดเป็นภูมิภาคที่ค่อนข้างใหม่ เพิ่งก่อตั้งในปี 1860 มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศค่อนข้างหนาวและอาจติดลบถึง 20 องศาเซลเซียส เราต้องการคงความอุดมสมบูรณ์และสิ่งแวดล้อมนี้ไว้อย่างยั่งยืน แต่การรักษาสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องพัฒนาคนในเมืองด้วยพลังแห่งการออกแบบควบคู่ไปด้วย เพราะหากขาดทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อมก็คงดำรงอยู่ตามสภาพของมันไป ไม่เกิดประโยชน์เพิ่มเติม แต่หากคนนำไปใช้ให้ถูกทาง ก็ย่อมเกิดประโยชน์
ตัวอย่างเช่นในช่วงโควิด-19 เราได้จัดโครงการกระตุ้นให้คนในประเทศมาพักผ่อนและทำงาน หรือที่เรียกว่า Workation ในฮอกไกโด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติจึงสำคัญ เพียงแต่ต้องคอยจัดการไม่ให้เกิดการทำลายธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องฝากอนาคตไว้กับคนรุ่นใหม่ ปลูกฝังให้พวกเขาเข้าใจสิ่งแวดล้อม อย่างนักเรียนมัธยมที่ควรศึกษาเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องบังคับเป็นวิชาเรียนหรือข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพียงแต่ต้องปลูกฝังให้เกิดการตระหนักรู้ว่าควรจะดูแลโลกและสังคมอย่างไร อาซาฮิกาวะมีศูนย์การเรียนรู้ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ดังกล่าว เราภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN) เพราะมันช่วยเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเมืองเล็ก ๆ ในฮอกไกโดอย่างเรา
Perth City of Crafts and Folk Art (Scotland, United Kingdom)
การเยี่ยมชมและได้พบปะผู้คนที่เป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN) นั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง และส่วนตัวรู้สึกว่างานเครือข่ายจะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อเราได้พบปะกัน การเข้าร่วมงานอาจไม่ได้จำเป็นต่อการทำโครงการที่ทำอยู่ แต่ก็ทำให้เราได้รับไอเดียใหม่ ๆ มากมาย ดิฉันจึงพูดได้อย่างเต็มปากกับผู้ที่เพิ่งเข้าร่วมหรือกำลังคิดที่จะเข้าร่วมเครือข่าย UCCN ว่าคุณจะได้รับประโยชน์ ประสบการณ์ และการสนับสนุนจากเมืองอื่น ๆ อย่างแน่นอน
สำหรับเพิร์ธ การทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในเครือข่าย UCCN หรือกลุ่มคนทำงานคราฟต์ยังเป็นเรื่องท้าทาย ซึ่งอาจเพราะเราเป็นเมืองรอง จึงขาดบุคลากรในการทำงานและไม่มีกำลังคนมากพอที่จะให้ไปเยือนเมืองต่าง ๆ หรือเข้าร่วมงานกับเครือข่าย นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องหาพันธมิตรให้ได้มากที่สุด เพราะการทำงานกับภาครัฐ ท้องถิ่น หรือยูเนสโก ต้องอาศัยการประสานงานค่อนข้างมาก ในส่วนของนโยบาย เพิร์ธเพิ่งออกแนวยุทธศาสตร์ใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมงานคราฟต์ ซึ่งงานคราฟต์ถือเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายสำคัญของเมือง เพื่อให้เราสามารถเพิ่มขีดความสามารถของงานคราฟต์และจัดสรรทรัพยากรมาสนับสนุนได้มากยิ่งขึ้น
สิ่งที่เพิร์ธยังขาดอยู่คืองานด้านการศึกษา เพราะเป็นเมืองที่ไม่มีมหาวิทยาลัย เด็กรุ่นใหม่จึงต้องไปเรียนและทำงานต่างเมือง กลายเป็นปัญหาหลักที่เราต้องการจัดการ จึงพยายามสอดแทรกความรู้เรื่องงานฝีมือเข้าไปในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับประถม เพื่อปลูกฝังเรื่องงานคราฟต์และดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาอาศัยและทำงานในเพิร์ธมากขึ้น ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือแผนงานคร่าว ๆ ในช่วง 4 ปีข้างหน้า
#BangkokCreativeCityDialogue