Knowledge and Research
TH | EN

Bangkok Creative City Dialogue: Experience Sharing

แนวทางการพัฒนาเมือง จาก 10 เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก

Bangkok Creative City Dialogue: Experience Sharing
Published Date:

Bangkok Creative City Dialogue: Experience Sharing Session

การบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ภายใต้ธีม “Becoming and Creating Impact as a Creative City” เปิดบทสนทนาว่าด้วยแนวทางการพัฒนาและผลกระทบเชิงบวกของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ โดยวิทยากรผู้แทนจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกทั้ง 10 เมือง 8 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ TCDC กรุงเทพฯ

เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกที่เข้าร่วมทั้ง 10 เมือง จาก 3 สาขา ได้แก่ การออกแบบ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และอาหาร ประกอบด้วย

  • Asahikawa City of Design (Japan)
  • Bandung City of Design (Indonesia)
  • Bangkok City of Design (Thailand)
  • Kuching City of Gastronomy (Malaysia)
  • Nagoya City of Design (Japan)
  • Perth City of Crafts and Folk Art (Scotland, United Kingdom)
  • Phetchaburi City of Gastronomy (Thailand)
  • Seoul City of Design (South Korea)
  • Singapore City of Design (Singapore)
  • Wuhan City of Design (China)

รับชมการบรรยาย  
 ภาษาไทย|  ภาษาอังกฤษ 

ดาวน์โหลด presentation


สรุปเนื้อหาจากการบรรยาย

Ryoju Hamada, Senior Advisor at Asahikawa Focal Point Asahikawa City of Design

Asahikawa City of Design
“Diverse Ways to Realize Design City: The Challenge from Northern Hokkaido” 

อาซาฮิกาวะพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิด “ป่าไม้แห่งการออกแบบ (Forest of Design)” และขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ (UCCN - Asahikawa City of Design) ในปี 2019 เราใช้การออกแบบเพื่อส่งเสริมศักยภาพของคน ธรรมชาติ และวัฒนธรรม โดยจัดโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวคิดป่าไม้ เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นต้นไม้แห่งความสุขและป่าที่อุดมสมบูรณ์

โครงการแรกคือต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์ (History Tree) ที่แสดงให้เห็นจิตวิญญาณแห่งการบุกเบิก เมืองของเราก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 100 ปีและผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลากหลายรูปแบบ ในส่วนของต้นไม้แห่งอุตสาหกรรม (Industry Tree) อาซาฮิกาวะมีชื่อเสียงด้านป่าไม้ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จึงโดดเด่น มีการจัดการแข่งขันการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นประจำทุกปี ต่อมาคือต้นไม้แห่งธรรมชาติ (Nature Tree) อาซาฮิกาวะเป็นเมืองที่มี 4 ฤดู จึงมีทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดทั้งปี สามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลาย สำหรับต้นไม้แห่งภูมิภาค (Region Tree) เราร่วมเป็นพันธมิตรกับเมืองข้างเคียงและรวมตัวกันเป็นภูมิภาคอาซาฮิกาวะ ที่ทั้งทันสมัย เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสวนที่สวยงามกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เมือง

สุดท้ายคือต้นไม้แห่งการศึกษา (Education Tree) เราจัดพื้นที่เมืองให้เป็นวิทยาเขตแห่งการศึกษา งานออกแบบใจกลางเมือง องค์กร พื้นที่นิทรรศการ และกิจกรรมให้ชาวเมืองและนักเรียนนักศึกษาได้ร่วมเรียนรู้ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมพึงพอใจกับการจัดงานและมีความตระหนักรู้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) การออกแบบ และเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN) มากขึ้น


Dwinita Larasati, Expert Board, Bandung Creative Economy Committee

Bandung City of Design
“From Bottom-Up Initiatives to Community Resilience”

บันดุงตั้งอยู่ในพื้นที่ชวาตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย มีผู้คนอาศัยอยู่ราว 50 ล้านคน เพราะฉะนั้น ในวันที่เราเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ (UCCN - Bandung City of Design) ในปี 2015 เราจึงคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเชิงสร้างสรรค์กับเมืองของเรา และเลือกที่จะมีโครงสร้างการทำงานแบบล่างขึ้นบน จากประชาชนสู่ระดับนโยบาย

บันดุงมีผลงานสำคัญที่สนับสนุนการเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ ที่หลากหลาย เช่น การจัดกิจกรรม Design Thinking for Government หรือการนำหลักคิดเชิงออกแบบมาใช้ทำเวิร์กช็อประหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อค้นหาหนทางแก้ไขปัญหาของเมือง กิจกรรมเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้แสดงผลงานและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของชุมชน เช่น Bandung Design Biennale 2017

สำหรับด้านยุทธศาสตร์ มีการออกแบบระบบนิเวศสร้างสรรค์ วางกรอบการทำงาน กำหนดหลัก 10 ประการในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย พร้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลดัชนีชี้วัดการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ เรายังมีโครงการที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแผนต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2020 - 2030 และการจัดทำแผนดำเนินการพร้อมเผยแพร่ในงาน Bali Creative Economy Roadmap 2022 ฯลฯ ส่วนในปี 2023 นี้ จะมีงานสำคัญ 2 งานด้วยกัน ได้แก่ The Future of Creative Economy และ Bandung Design Biennale 2023 เพื่อต่อยอดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ


Pichit Virankabutra, Deputy Director, Creative Economy Agency

Bangkok City of Design
“Transforming Bangkok with Design and Creativity”

กรุงเทพฯ นับเป็นเมกะซิตี้ที่เต็มไปด้วยความท้าทายในด้านต่าง ๆ และต้องอาศัยการออกแบบเข้ามาช่วย เพื่อนำสินทรัพย์ที่มีมาพัฒนาให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ดึงดูดการลงทุน และน่าท่องเที่ยว ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

การออกแบบแบ่งเป็นหลายประเด็น ประเด็นแรกคือการออกแบบเมือง (Designing the City) กรุงเทพฯ พยายามผลักดันและแก้ปัญหาของเมืองอยู่เสมอผ่านหลาย ๆ โครงการ เช่น การปรับพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ที่นอกจากจะสวยงาม น่าอยู่ขึ้นแล้ว ยังสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่ 2 คือการออกแบบชุมชน (Designing Communities) เราทำการทดลองเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน เช่น พื้นที่สาธารณะและการเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวเข้าด้วยกัน ประเด็นถัดมาคือการออกแบบความมั่งคั่ง (Designing Wealth) ประเทศไทยมีนักออกแบบอยู่ประมาณ 1 ล้านคน และกว่าครึ่งก็อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เราจึงพยายามใช้ความสามารถของกลุ่มคนเหล่านี้ มาช่วยขับเคลื่อนการธุรกิจที่แปลกใหม่และยั่งยืน

ต่อมาคือการออกแบบเมืองสีเขียว (Designing Green City) กรุงเทพฯ ให้ความสนใจและพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง เราได้เห็นสวนสาธารณะและโครงการลดมลพิษจากระบบขนส่งสาธารณะแบบไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ประเด็นสุดท้ายคือการออกแบบภาพจำ (Designing of Branding) ผ่านกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่าง ๆ ที่นำเสนอผลงานออกแบบของไทย อย่างเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) ซึ่งอยู่ใต้ร่มของการออกแบบเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าจดจำ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 และทุก ๆ ปีเราก็มีผลงานจากเทศกาลฯ ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การทดลองออกแบบป้ายรถเมล์ที่มีต้นแบบจัดแสดงในงานและติดตั้งใช้งานจริงไปแล้วกว่า 1,000 จุด หรือการจัดแสดงแสงสีเพื่อเปิดโอกาสให้พื้นที่ที่ขาดโอกาส ดึงดูดให้ผู้คนเดินเข้าไปตามตรอกซอกซอยจนเกิดเป็นจุดหมายใหม่ในการท่องเที่ยว

อีกประเด็นสำคัญคือการทำระบบฐานข้อมูล Creative City Index ที่จัดทำขึ้นเพื่อผู้กำหนดนโยบาย นักสร้างสรรค์ นักท่องเที่ยว และชุมชนเอง โดยเราเริ่มต้นจาก 5 เมืองหลัก จนถึงวันนี้ได้ขยายออกไปกว่า 33 เมือง ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN)


Karen Shepherd, Strategic Director, UCCN Kuching City of Gastronomy

Kuching City of Gastronomy
“Community Building to Create Impact as a Creative City”

เมืองกูชิงเป็นเมืองหลวงและเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1820 โดดเด่นในฐานะเมืองแห่งการค้า การแลกเปลี่ยน ศิลปวัฒนธรรม และความหลากหลายทางเชื้อชาติ การเป็นเมืองการค้าและเมืองที่มีความหลากหลายสูงนี้เอง ทำให้วัฒนธรรมอาหารของเมืองมีความหลากหลาย และเป็นที่มาของการขึ้นทะเบียนในฐานะเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาอาหาร (UCCN - Kuching City of Gastronomy) ในปี 2021

สำหรับความท้าทายในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ สาขาอาหาร มีหลายประเด็นที่เราต้องช่วยเหลือและผลักดันให้ดีขึ้น ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเรื่องวัฒนธรรม แต่ยังหมายรวมถึงงานด้านเกษตรกรรมด้วย ตัวอย่างสำคัญคือการส่งต่อภูมิปัญญาในการเพาะปลูกส่วนผสมให้คงคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไปยังคนรุ่นใหม่ สำหรับการทำงานในอีก 4 ปีข้างหน้า เป้าหมายเบื้องต้นของเราคือการเป็นศูนย์กลางทางความสร้างสรรค์ สาขาอาหาร สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างการรับรู้ให้กับเมือง โดยโครงสร้างการทำงานจะต่างจากเมืองบันดุงตรงที่ของเราเป็นระบบจากบนลงล่าง เราเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และตั้งเป้าที่จะแก้ไขปัญหาของเมือง โดยเริ่มต้นจากกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนและอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก

สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนเข้าใจตรงกัน มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมที่จะทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเครื่องมือด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ โจทย์สำคัญอยู่ที่การเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับโครงสร้างการทำงานแบบบนลงล่าง


Eriko Esaka, Program Director, Nagoya, UNESCO City of Design Organizing Committee

 Nagoya City of Design
“Streaming Heritage | Between the Plateaus and the Sea”

นาโงยะมีประชากร 2 ล้าน 3 แสนคน ถือเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น เราเข้าร่วมเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ (UCCN - Nagoya City of Design) ในปี 2008 ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ การบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมร่วมกับ UCCN ตัวอย่างที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ คือโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการออกแบบของนักศึกษา ชื่อ “Granag Project” ระหว่างเมืองกราซของออสเตรียและเมืองนาโงยะในปี 2012

สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมให้ยั่งยืนในฐานะเมืองสร้างสรรค์นั้น เรามุ่งเน้นการสืบทอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและนำมาพัฒนาต่อยอด นี่คือหลักคิดเบื้องหลังกิจกรรม Streaming Heritage ซึ่งนำเสนอศิลปวัฒนธรรม การผสมผสานประวัติศาสตร์เข้ากับความร่วมสมัยในรูปแบบของศิลปะการจัดวาง กิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนศิลปะการแสดงผสานเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง

การจัดงาน Streaming Heritage มีศูนย์กลางที่แม่น้ำขนาดเล็กที่ไหลผ่านเมืองนาโงยะ ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญด้านการค้าขายและขนส่งในอดีตที่ผู้คนเริ่มจะหลงลืม กิจกรรมนี้จึงช่วยกระตุ้นให้ผู้คนกลับมาเห็นความสำคัญของแม่น้ำสายนี้เช่นกัน ผลงานที่นำเสนอในงานนั้นหลากหลาย ทั้งการแสดงศิลปะโบราณ การแสดงแสงสีเสียง การแสดงภาพแอนิเมชันประกอบดนตรี ฯลฯ สำหรับครั้งล่าสุดในปี 2022 เราได้เพิ่มกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น งานศิลปะร่วมกับประเทศออสเตรเลีย หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง


Anna Day, Cultural Public Programme Manager, Perth & Kinross Council

Perth City of Crafts and Folk Art
“Perspectives from Perth and Dundee, UK”

เพิร์ธเป็นเมืองขนาดเล็กในสกอตแลนด์ ที่มีประชากรเพียง 15,000 คน และมีความเป็นเมืองชนบทสูง เราขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (UCCN - Perth City of Crafts and Folk Art) ในปี 2021

นิยามของคำว่าหัตถกรรมของเพิร์ธไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหัตถกรรมพื้นบ้านหรือการเย็บปักถักร้อยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผลงานทำมือรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมงานศิลปะไปจนถึงเครื่องดื่มพื้นบ้าน

งานคราฟต์ของเราจึงเปี่ยมไปด้วยวิถีชีวิตของผู้คน เพิร์ธเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทั้งยังเป็นเมืองการค้าในอดีต มีจุดเด่นทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 5.5 ล้านคน งานคราฟต์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจึงส่งเสริมและสอดรับกับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

เพิร์ธวางแผนที่จะสร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งใหม่เร็ว ๆ นี้ และจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น Reimagine the High Street ที่มีเป้าหมายในการพลิกพื้นถนนสายการค้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หรือการใช้ศิลปะเพื่อการตกแต่ง อย่างการออกแบบป้ายอักษรไฟ ที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังให้ความส่องสว่าง เพิ่มความปลอดภัยให้กับพื้นที่และกระตุ้นการท่องเที่ยว เรายังส่งเสริมให้ศิลปินทำงานในสตูดิโอที่บ้านและให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมผลงานตามวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ รัฐบาลของสกอตแลนด์ยังร่วมกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในการพัฒนาฐานข้อมูลที่เรียกว่า Scotland’s UNESCO Trail ที่ระบุตำแหน่งสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของสถานที่นั้น ๆ เผยแพร่ให้ทุกคนได้ใช้งานในอนาคต


Wanpen Mungsri, Vice Governor of Phetchaburi Province

Phetchaburi City of Gastronomy
“Knowledge Exchange on Becoming and Creating Impact as a Creative City”

เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่โดดเด่นด้านอาหาร เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาอาหาร (UCCN - Phetchaburi City of Gastronomy) ในปี 2021 เราต้องเตรียมพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการบรรจุแผนขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ทำงานสอดรับกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ การผสานอาหารเข้ากับวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ด้วยการออกแบบเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน และการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการเป็นเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

การที่เพชรบุรีเป็นสมาชิก UCCN ทำให้ผู้คนในจังหวัดเกิดความตื่นตัวและสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเมืองสร้างสรรค์และเกิดความภูมิใจในสินทรัพย์ของจังหวัดมากขึ้น ทั้งยังทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ยินดีและกระตือรือร้นที่จะให้การร่วมมือในโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังต่อยอดให้กับอาหารและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วยการออกแบบและบอกเล่าเรื่องราวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างศักยภาพด้านการแข่งขัน

ทั้งหมดนี้ล้วนส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด สร้างประโยชน์ให้ทั้งระบบ ไม่จำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม การเป็นเมืองสร้างสรรค์ยังมีความท้าทายที่ต้องจัดการ นั่นคือการทำให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืนและอยู่ได้ด้วยตัวเอง และทุกอำเภอต้องสามารถสร้างความโดดเด่นด้านอาหารและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้ในอนาคต


Ayoung UM, Team Leader, Seoul Design Foundation

Seoul City of Design
“For Sustainable Life”

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าโซลเป็นเมืองแห่งการออกแบบก็เช่น ทงแดมุนพลาซ่า (Dongdaemun Design Plaza) ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 เราคิดหาวิธีไม่ให้พื้นที่ถูกปิดและคืนความคึกคักให้กับพื้นที่หลังจากนั้น จึงใช้นวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วยและจัดกิจกรรม Seoul Light Show ขึ้น จนกลายเป็นงานประจำปีสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2019 ทางด้านโซลอัปไซคลิงพลาซ่า (Seoul Upcycling Plaza) มีภารกิจหลักในการคิดหาวิธีในการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ โดยปลูกฝังให้ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาขยะคือปัญหาของทุกคน และการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่หรือสร้างคุณค่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ศูนย์บ่มเพาะการออกแบบแห่งโซล (Seoul Design Incubating Center) จัดตั้งขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักออกแบบรุ่นใหม่เข้ามาพูดคุยและใช้พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนเข้าอบรมในหลักสูตรเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ

ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ (UCCN - Seoul City of Design) เรามีหลักการด้านการออกแบบของโซล 5 ประการ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ได้แก่ การออกแบบด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathetic Design) การออกแบบเพื่อทุกคน (Inclusive Design) การออกแบบเพื่อการส่งเสริม (Contributive Design) การออกแบบเพื่อการปรับตัว (Resilient Design) และการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) ตัวอย่างโครงการที่สอดคล้องกับหลักการทั้ง 5 ประการนี้ คือการจัดประกวดไอเดียด้านความยั่งยืน Seoul Design Award for Sustainable Life เพื่อส่งเสริมแนวคิดเมืองสำหรับทุกคน เราต้องการให้ผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทุกที่ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะที่โซล เพื่อร่วมเผยแพร่แนวคิดการสร้างเมืองที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน


Kelly Tan, Deputy Director, Market Development, Design Singapore Council

​​Singapore City of Design
“Loveable Singapore Project”

สิงคโปร์มีโครงการ Loveable Singapore Project ซึ่งดำเนินงานมาสักพักแล้ว เรามองว่าพลเมืองที่มีความสุข (Happy Citizens) คือพลเมืองที่ปรับตัวได้ดีและอยู่ในเมืองที่ปรับตัวได้ดีเช่นกัน เมื่อพลเมืองปรับตัวได้ดี เมืองก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้

เราส่งต่อความรักให้เมืองผ่าน 4 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือการยินดีต่อความรักที่ได้รับ (Appreciating Love) เช่น กิจกรรมให้ผู้คนร่วมบริจาคสิ่งของแห่งความทรงจำไปจัดแสดงในตึกรามบ้านช่องที่เก่าแก่ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของมรดกเหล่านี้อีกครั้ง ปัจจัยที่ 2 คือการส่งต่อความรัก (Giving Love) เช่น การทำเวิร์กช็อปด้านการออกแบบในชุมชน โดยให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นว่ารักและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร ต่อมาคือการรังสรรค์ความรัก (Creating Love) เช่น กิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 อย่างกลุ่มแรงงานต่างชาติที่อาศัยร่วมกันในชุมชนเล็ก ๆ ที่มารวมตัวและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สุดท้ายคือความรักแบบไม่คาดหวัง (Unexpected Love) คือการสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนทุกวัยได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน

ในอนาคตสิงคโปร์มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เมืองเกิดความสร้างสรรค์ ผ่านโครงการอย่าง School of Community Bootcamp ที่เป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ นักออกแบบ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เข้าร่วมเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมความสร้างสรรค์ในด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานนั้น ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงมากยิ่งขึ้น


Ivy Yao, Communication Officer, Wuhan Design Industry Promotion Centre

Wuhan City of Design
“Urban Renewal: Old City, New Life”

อู่ฮั่นเป็นเมืองขนาดใหญ่ในมณฑลเหอนาน ประเทศจีน ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,500 ปี และขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ (UCCN - Wuhan City of Design) ในปี 2017 ด้วยแนวคิด Old City, New Life มีเป้าหมายในการเปลี่ยนเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบโดยมีพลเมืองเป็นศูนย์กลาง โครงสร้างการดำเนินงานของอู่ฮั่นเป็นแบบบนลงล่าง มีลำดับหน่วยงานทำหน้าที่ที่ชัดเจน

หลังเข้าเป็นสมาชิก UCCN เรามีการกำหนดแผนการและแนวนโยบายที่ชัดเจน โดยหันไปมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการออกแบบแบบองค์รวม ให้คนในแวดวงต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งแฟชั่น อีสปอร์ต แอนิเมชัน ดนตรี และอาหาร โดยมีการออกแบบด้านวิศวกรรมเป็นตัวนำทาง รัฐบาลได้ออกนโยบายกระตุ้นแรงจูงใจต่าง ๆ เพื่อดึงให้บุคคลทั่วไปนำเสนอโครงการและมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการจัดอบรมให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่กว่า 5,000 คนในแต่ละปี ทั้งยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ในรูปแบบการประชุมและเทศกาลที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง เช่น Wuhan Design Biennale ที่ผสมผสานวัฒนธรรมเข้ากับเทคโนโลยี ผสานเมืองเก่าเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศเครือข่ายต่าง ๆ มากมาย

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ ทั้งโครงการแลกเปลี่ยน โครงการอบรม นิทรรศการ การประกวด และเวิร์กช็อปต่าง ๆ ในอนาคตเราจะยังคงดำเนินโครงการที่เคยทำไว้อย่างต่อเนื่อง แต่จะมุ่งเน้นคุณภาพให้มากขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบ รวมถึงการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ของอู่ฮั่นมากยิ่งขึ้น

#BangkokCreativeCityDialogue