Khon Kaen/Sri Chan/District Stories
TH | EN

Sri Chan Old but Cool

ย่านเก่าแต่เก๋า

Sri Chan Old but Cool
Published Date:

ขอนแก่น เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี เติบโตอย่างรวดเร็วจากความเจริญทางเศรษฐกิจ หลายย่านเงียบเหงาซบเซาไปตามวัฏจักรของกาลเวลา แต่มีย่านหนึ่งที่ไม่เคยหลับใหล แต่ยังคงเติบโตไปพร้อมกับความเป็นเมืองขอนแก่น นั่นคือ “ย่านศรีจันทร์”

หลายคนอาจจะเข้าใจว่าย่านศรีจันทร์นั้นมีเพียงถนนศรีจันทร์เท่านั้น แต่ความจริงย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองแห่งนี้ ครอบคลุมพื้นที่ถนนถึง 5 สาย ด้วยกันคือ ศรี (จันทร์) ดรุณ (สำราญ) รื่น (รมย์) กลาง (เมือง) (รื่น) จิตร เตรียมใจถึงๆ แล้วไปค้นคว้าประวัติศาสตร์ ตะลุยย่านเก่าศรีจันทร์ด้วยกัน

ศรี (จันทร์): ถนนแห่งความมั่งคั่ง

โซนศรีจันทร์เริ่มต้นจากบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลาสุขใจ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมถึงมีธนาคารสาขาต่างๆ เรียงรายตลอดถนน เพราะขอนแก่นถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอีสาน และสิ้นสุดโซนศรีจันทร์ที่วัดศรีจันทร์ ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตเก่าแก่ของเมือง

โดยในปี 2498 รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎรขอนแก่นเป็นครั้งแรก ณ ถนนแห่งนี้ จึงมีการตั้งชื่อถนนสายที่ตัดเข้าซอยบริเวณถนนหน้าเมือง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติว่า “ถนน 5 พฤศจิกา”

“ถนนศรีจันทร์ เป็นถนนสายแรกในขอนแก่นที่ราดยางมะตอยเลยนะ ตอนนั้นราดเพื่อเตรียมรับเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะเสด็จมาเยี่ยมประชาชนขอนแก่นนี่ละ ทุกคนก็ตื่นเต้นกันมาก พวกลูกเสือชาวบ้านก็ซ้อมเดินสวนสนามกันเพื่อต้อนรับท่าน” - คุณชาตรี โล่วณิชเกียรติกุล อายุ 79 ปี เจ้าของบ้านเก่าสไตล์จิ้มแจ้บริเวณตลาดน้อย เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น

สถานที่สำคัญในโซนศรีจันทร์: ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง | ศาลาสุขใจ | อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย | โรงเรียนสอนภาษาจีนฮั่วเคี้ยววิทยาลัย | พิพิธภัณฑ์กรมธนารักษ์ (เดิมศาลจังหวัด) โรงเรียนขอนแก่นวิทยาคม | วัดศรีจันทร์

คลังเงินของเมือง

ในปี 2500 ช่วงที่เศรษฐกิจของเมืองเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนมีชื่อเรียกว่า “ยุคจรวด” ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ต่างเรียงรายกันเข้ามาเปิดกิจการในถนนศรีจันทร์ โดยในยุคเริ่มแรกมีเพียง 5 ธนาคาร คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หลังจากนั้นจึงมีสถาบันทางการเงินต่างๆ เข้ามาเปิดกิจการเพิ่มขึ้นร่วมกว่า 10 แห่ง รวมถึงการจัดตั้งสาขาธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ที่วางแผนให้จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคอีสาน เดิมที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น และภายหลังได้ย้ายไปที่บริเวณบึงแก่นนคร จนถึงปัจจุบัน

ดรุณ (สำราญ และ ประชาสำราญ) : ถนนแห่งการเติบโตเปลี่ยนแปลง

โซนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นบริเวณที่ประกอบด้วยถนน 2 สาย คือ “ถนนดรุณสำราญ” และ “ถนนประชาสำราญ” เป็นสถานที่สำคัญที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจของเมืองขอนแก่น ที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาทุกยุคทุกสมัย

สถานที่สำคัญในโซนดรุณสำราญ: ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง | ศาลาสุขใจ | อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย | เทศบาลนครขอนแก่น | สถานีรถไฟ

การมาถึงของรถไฟ

การมาถึงของรถไฟที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2476 ได้นำพาเอาความเจริญและการเปลี่ยนแปลงมาด้วย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของผู้คน เกิดธุรกิจการค้าและอาชีพใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงฝิ่น หรือแม้แต่ซ่องโสเภณี

หลังจากนั้นในปี 2559 ได้เกิดโครงการสถานีรถไฟลอยฟ้าในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ – ขอนแก่น ขึ้น มีระยะทางรวมทั้งหมด 187 กิโลเมตร รวม 18 สถานี ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องการเดินทาง ขนส่งสินค้า และส่งเสริมท่องเที่ยวของเมืองเป็นอย่างมาก

การมาถึงของสถานีรถไฟขอนแก่น ที่ถนนดรุณสำราญ มาพร้อมกับบ้านพักพนักงานการรถไฟ เป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ผสมผสานระหว่างบ้านฝรั่งกับความเป็นอยู่แบบไทย ที่เป็นเมืองแดดจัดและมีฝนตกชุก จึงมีระเบียงบ้านกว้าง มีเสารองรับชายคาเรียงตัวกันอย่างเป็นจังหวะอย่างลงตัว

ตลาดน้อย จุดกำเนิดชุมชน

“ที่จริงแล้วแถวตลาดน้อยน่ะ เจริญมาก่อนที่อื่นๆ เลยนะ” รุ่นเก๋าระดับอายุ 70 ปีขึ้นไป ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองอีกยุคหนึ่งของเมืองขอนแก่น และเริ่มมีการเข้ามาอยู่อาศัยของชุมชนตลาดน้อย มีโรงสี 2 แห่ง คือ “โรงสีทวีแสงไทย” (ด้านหลังสถานีรถไฟ) และ “โรงสีกลาง” (ตรงเซ็นทรัลพลาซ่า) ซึ่งชาวบ้านได้นำข้าวเปลือกมาขายโรงสี เมื่อขายเสร็จก็เอาเงินมาจับจ่ายใช้สอย และในช่วงเช้าจะมีชาวบ้านเอาข้าว ปลา อาหารมาขายริมถนน ระยะทางประมาณ 200 เมตร ทำให้ตลาดน้อยในช่วงเวลานั้นคึกคักมาก

จิ่มแจ้ พื้นที่ชีวิต จิตวิญญาณ

บริเวณตลาดน้อย จะเห็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ ยุค 2490-2510 ที่มาจากวัฒนธรรมการสร้างบ้านของชาวจีน ที่มักจะสร้าง “จิ่มแจ้” หรือ ลานเปิดโล่งกลางบ้าน เพื่อเปิดให้แสงธรรมชาติและอากาศได้ถ่ายเท หมุนเวียนเข้ามาในตัวบ้าน สอดคล้องตามหลักฮวงจุ้ยด้านการถ่ายเทพลังงาน รวมถึงการสร้างบ่อน้ำอยู่กลางบ้าน เปรียบเสมือนการมีขุมทรัพย์ ทำให้บ้านนั้นอุดมสมบูรณ์ นำมาซึ่งความจริญรุ่งเรือง ถือเป็นความชาญฉลาดทางสถาปัตยกรรมของคนรุ่นก่อน

ปัจจุบันบ้านเก่าสไตล์นี้ยังคงมีให้เห็นอยู่หลายหลัง บางหลังได้ซ่อมแซมร่วมกับสถาปนิก ในการปรับปรุงเชิงอนุรักษ์เป็นร้านกาแฟเก๋ไก๋ เช่น “ร้านรักอัน คอฟฟี่” และ “ร้าน Wooden House Crepe and Beverage” โดยบริเวณจิ่มแจ้ได้กลายเป็นมุมศึกษาประวัติศาสตร์ที่ทางร้านจัดแสดงนิทรรศการถาวรไว้ และให้ผู้มาใช้บริการสามารถมาถ่ายรูปได้

หลักเมือง รวมใจ สุขใจ

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวขอนแก่นมาช้านาน นอกจากนี้ยังมีศาลาใต้ถุนสูงเปิดโล่ง เรียกว่า “ศาลาสุขใจ” เพื่อให้ผู้ที่เดินทางผ่านไปมา สามารถนั่งพักเหนื่อย เติมพลังด้วยขนมหวานน้ำแข็งไส ที่ขายอยู่บริเวณนั้น เป็นที่โปรดปรานของเด็กๆ มาก ในปัจจุบันศาลาสุขใจถูกรื้อถอนไปแล้ว

เมื่อประชาธิปไตยมาถึงขอนแก่น

ถัดจากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองมี “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ที่สร้างขึ้นในปี 2486 จากแนวคิดที่อยากจะให้จังหวัดต่างๆ ได้มีรัฐธรรมนูญจำลอง ไว้ให้ประชาชนยึดเหนี่ยว

โรงมวย โรงเรียน โรงหนัง โรงเหล้า

ส่วน “ถนนประชาสำราญ” บริเวณที่ตั้งของสถานีดับเพลิงในปัจจุบัน เคยเป็น “สนามมวยบดินทร์เดชา” ถัดมาเป็น “โรงเรียนบำรุงไทย” แวดล้อมด้วยทุ่งนาและบ้านเรือน จนมาถึงสามแยกตัดกับถนนรื่นรมย์ จะมี“โรงภาพยนตร์เย็นวัฒนา” ซึ่งตั้งชื่อว่า “เย็นวัฒนา” เพราะตัวอาคารสร้างด้วยคอนกรีต ทำให้ภายในโรงหนังเย็น แม้จะไม่มีแอร์ ปัจจุบันโครงสร้างเดิมของโรงหนังยังคงอยู่ แต่ได้เปลี่ยนเป็นร้านกินดื่มสำหรับนักเที่ยวราตรีแล้ว

รื่น (รมย์) : ยังคงรื่นอารมณ์

ถนนรื่นรมย์ ด้านหนึ่งเริ่มจากสามแยกตลาดสดเทศบาล 1  สุดทางอีกด้านหนึ่งตัดกับถนนดรุณสำราญ ถนนรื่นรมย์ในยุคสมัย 2500 ยังคงเป็นทุ่งนา ป่าตาลเงียบวังเวงที่เด็กๆ ไม่กล้าผ่าน ใกล้กับตลาดยังมีโรงแรมไม้ 2 ชั้น ชื่อว่า “โรงแรมเขากระดึง” ฝั่งตรงข้ามของโรงแรม มีโรงเรียนเอกชนชื่อว่า “ศิริศาสตร์”

สถานที่สำคัญในโซนรื่นรมย์: The Wall Family Space (เดิมพระธรรมขันต์โอสถ) | ตลาดสดเทศบาล 1

โรงพิมพ์พระธรรมขันต์ สู่พื้นที่สร้างสรรค์ใหม่

“พระธรรมขันต์โอสถ” กิจการที่อยู่คู่ถนนรื่นรมย์มากว่า 50 ปีแล้ว พื้นที่เคยเป็นทั้งโรงงานผลิตยาแผนโบราณ แล้วขยายเป็นโรงพิมพ์ และนาทีนี้คือพื้นที่สร้างสรรค์ ที่ชื่อ “The Wall Family Space” ซึ่งมีนิทรรศการเล่าเรื่องราวของพระธรรมขันต์โอสถ ถือเป็นตัวอย่างของการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยจากรุ่นสู่รุ่น

บ้านพักทัมใจ หมอยาสู่หมอลำ

เมื่อ “บริษัทโอสถสภาเต็กเฮงหยู จำกัด” เข้ามาเปิดสำนักงานในซอยรื่นรมย์ 1 ได้ใช้หมอลำมาเป็นเครื่องมือในการขายยาอย่างปวดหาย ทัมใจ ลิโพวิตันดี ทำให้บริเวณถนนรื่นรมย์กลายเป็นชุมทางหมอลำ และเกิดบ้านพักทัมใจ ทำหน้าที่เป็นเอเจนซี่ให้กับบริษัทโอสถสภาฯ

กลาง (เมือง) : เรื่องปากท้อง

เริ่มต้นที่สี่แยกถนนกลางเมืองตัดกับถนนนิกรสำราญ ไปจนถึงแยกถนนศรีจันทร์ จากคำบอกเล่าถึงอดีตอันสวยงามของเมืองจากผู้อาวุโส ย้อนกลับไปในช่วงปี 2500 โซนถนนกลางเมืองถือเป็นถนนสายราชการ ที่มีถนนหนทางสวยงาม ร่มรื่นมาก ใกล้กับศาลากลางจะเป็นสวน มีน้ำพุ มีหอนาฬิกา ผู้คนจะไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจกันที่สวนนี้ เด็กๆ มักจะไปเล่นว่าวกัน หลังจากนั้นได้เกิดการปรับเปลี่ยนผังเมืองให้เป็นย่านเศรษฐกิจ กลายเป็นอาณาจักรอาหาร ตั้งแต่สตรีทฟู้ดยันอาหารเหลา จนถึงทุกวันนี้

กระยาทิพย์

ร้านข้าวราดแกงเก่าแก่กว่า 70 ปี ตั้งอยู่หัวมุมตลาดสดเทศบาล 1 ที่ชาวขอนแก่นฝากท้องกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่นหลาน ทั้งผัดกะเพรารสจัดจ้าน พะแนงรสชาติเข้มข้น หมูทอดที่หมักหอมๆ แกงจืดร้อนๆ ซดคล่องคอ ไปจนถึงกับข้าวเอาใจคนท้องถิ่นอย่าง “ป่น” ก็ยังมี 

เจ้อิม

ร้านขายของฝากเก่าแก่ อยู่คู่ถนนกลางเมืองมากว่า 40 ปี ขายของฝากประเภท ไส้กรอกอีสาน กุนเชียง หมูหยอง ที่ทางร้านผลิตเองทุกขั้นตอน การันตีคุณภาพไม่เปลี่ยนแปลง

ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ๊เสี่ยง

ร้านเกี๋ยวเตี๋ยวเป็ดเก่าแก่ อยู่ถัดจากร้านเจ๊อิม ในตรอกข้างร้านคลังนานาธรรม ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดเจ๊เสี่ยง เปิดขายมากว่า 50 ปีแล้ว โดยตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ “อาแปะฉอนซุ่น” จุดเด่นอยู่ที่น้ำซุปหอมกรุ่น และเป็ดเนื้อนุ่ม เลาะกระดูกแล้ว ละลายในปาก กินคู่กับน้ำเก๊กฮวย หอม หวานชื่นใจ เจ้าข้างๆ เป็นลูกเล่นลับที่ชาวตลาดเทศบาล 1 รู้กัน

ภัตตาคารสามหงวน

ปัจจุบันภัตตาคารสามหงวนปิดกิจการไปแล้ว และเปลี่ยนรูปแบบกิจการมาหลายรอบ เคยเป็นทั้งโรงเรียนกวดวิชา อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ และได้วนกลับมาเปิดร้านอาหารจีนสไตล์วัยรุ่นในชื่อ “ชางหลง” ซึ่งมาจากสไตล์การสั่งอาหารแบบ “ชั่งโล” (คิดราคาตามน้ำหนักวัตถุดิบที่ชั่งได้) และยังแปลว่า “โชคดี” โดยยังคงหลงเหลือกลิ่นอาย ของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ในปี 2500 ของภัตตาคารสามหงวนเอาไว้

ภัตตาคารคาเธย์

“ภัตตาคารคาเธย์” ยังคงดำเนินกิจการอยู่ภายใต้รุ่นที่ 2 คือ “แปะตี๋” ที่รับช่วงต่อมากว่า 40 ปีแล้ว สมัยก่อนนิยมเป็นสถานที่จัดเลี้ยงงานแต่งงาน เมนูเด็ดมีมากมาย ทั้งราดหน้า อันธพาลครองเมือง มะม่วงดองเกี๊ยวปลา ขนมจีบ ถั่วยัดไส้หมู ขาหมูเปรี้ยวหวาน ข้าวเหนียวยัดไส้หมู ขนมเปี๊ยะฟักทอง ซาลาเปาฝอยทอง เผือกทอด โอนีแปะก๊วย แต่ที่พิเศษที่สุด คือ “อันธพาลครองเมือง” เป็นเมนูที่เกิดขึ้นมาในช่วงปี 2499 นิยมมากแถววังหลัง วังบูรพา

โรงแรมแสนสำราญ

โรงแรมไม้แห่งสุดท้ายของเมืองขอนแก่น ตั้งอยู่สุดสายของถนนกลางเมือง บรรยากาศพื้นไม้กระดาน ฝาผนังช่องลูกฟักมีโปสเตอร์สัตว์น้ำในประเทศไทยและสุนัขพันธุ์ต่างๆ ติดอยู่ ให้ความรู้สึกเหมือนกลับไปยังบ้านเก่าในชนบท

หากพูดถึงโซนเศรษฐกิจกลางเมือง ถนนอีกเส้นที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย คือ “ถนนหน้าเมือง” เพราะมีการเจริญเติบโตในฐานะย่านเศรษฐกิจควบคู่ไปพร้อมกันกับถนนกลางเมือง มีทั้งศาลากลางเก่า สโมสรข้าราชการ สนามเทนนิส และห้องสมุดประชาชน ธนาคารต่างๆ ตึกเตียวฮง (ตึกที่สูงที่สุดในขอนแก่นสมัยนั้น) ไปจนถึงร้านรวง โดยเฉพาะร้านอาหารเช่นเดียวกันกับโซนกลางเมือง

ร้านก๋วยเตี๋ยวเฮียหอย

ร้านเปิดกิจการมากว่า 60 ปี จนมีหลายหลายสาขาทั่วเมือง แต่สาขาถนนหน้าเมืองคือที่แรก บุกเบิกกิจการตั้งแต่รุ่นอากง “เฮียหอย แซ่เซียว” โดดเด่นที่น้ำซุปรสเข้ม เนื้อสดหวาน ลูกชิ้นกรอบเด้ง

ก๋วยเตี๋ยวไฮ้บริการ

เดิมเป็นร้านขายผ้า แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา เมื่อปี 2527 โดย “คุณวิทยา แซ่ฮื้อ” หรือ “นายไฮ้” จุดเด่นอยู่ที่ลูกชิ้นที่ทำจากเนื้อปลาอินทรีแท้

(ร่วม) จิตร: ชื่นบานย่านวัยรุ่น

บนถนนศรีจันทร์ยังมีซอยเล็กๆ ที่กินบริเวณ 2 ฟากฝั่งถนน เป็นถนนสายแฟชั่น ซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวของวัยรุ่น ตั้งแต่ในอดีต เพราะมีทั้งตู้เพลง มีโรงภาพยนตร์ 3 แห่ง คือ บันเทิงจิตร ขอนแก่นซีเนม่า และเจ้าพระยา ไปจนถึงโรงฝิ่นเก่า  และมีตลาดโต้รุ่งร่วมจิตรเกิดขึ้นตามมา ซึ่งคึกคักตลอดคืนยันเช้า มีรถวิ่งรับส่งนักศึกษาง ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับเที่ยวตลาดโต้รุ่งโดยเฉพาะ ปัจจุบันโรงหนังทยอยปิดกิจการไปหมดแล้ว เหลือเพียงตลาดโต้รุ่งที่ยังคงคึกคักจนถึงทุกวันนี้

ถนนสายแฟชั่น

ซอยร่วมจิตรไม่ได้มีแค่เพียงตลาดโต้รุ่งหรือโรงหนังเท่านั้น แต่ถนนเล็กๆ สายนี้ยังแหล่งรวมร้านตัดเสื้อผ้าหลายร้าน

“ร้านทรงประดิษฐ์” คือห้องเสื้อแห่งแรกในยุคบุกเบิก ที่มีการขายแบบขายตรงและให้เครดิต โดย ตัดเสื้อผ้าแล้วมีการวางเงินดาวน์แล้วหักเงินทีหลังตอนเงินเดือนออก ทำให้ข้าราชการและคนรุ่นเก่าตั้งแต่อายุ 70-80 ปี จะรู้จักร้านทรงประดิษฐ์เป็นอย่างดี มีชื่อเสียงโด่งดังด้านการตัดสูท ที่เก็บเนี๊ยบทุกรายละเอียด ตั้งแต่การทำแพทเทิร์นที่ เข้ากับรูปร่างของแต่ละคน และเป็น hand finish ทั้งหมด เช่น ที่ชายกางเกงจะใช้มือสอยแบบดำน้ำ ทำให้ไม่เห็นรอย และรังดุมถักเป็นตัวหนอน ถือเป็นห้องเสื้อประจำขอนแก่นเลยก็ว่าได้ จนมีคำพูดว่า “ผู้ว่าคนใหม่ถ้ายังไม่มาร้านทรงประดิษฐ์ถือว่ายังมาไม่ถึงขอนแก่น”

“ร้านศรีจันทรา” ร้านตัดเสื้อสุภาพสตรีซึ่งจะเอาของจากกรุงเทพฯ มาขายด้วย เช่น รองเท้าหรือกระเป๋าที่ใช้แล้วไม่เหมือนใคร ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาร้านทรงประดิษฐ์ คุณนายผู้ว่าฯ ก็จะไปร้านศรีจันทรา ทั้งสอง ร้านจะมีแฟชั่นที่นำสมัย

“ที่ถนนเส้นนี้มีแต่ร้านตัดเสื้อ ก็เป็นเพราะ 2 ร้านนี้แหละ เพราะว่าเริ่มต้นขึ้นมา ถนนเส้นนี้ก็จะมีร้านหนึ่งคือร้านทรงประดิษฐ์ ร้านหนึ่งคือร้านศรีจันทรา จากนั้นลูกน้องก็ออกไปตั้งร้านต่างๆ ก็ตั้งใกล้นี่ละ พวกที่ตัดเสื้อผ้าก็จะบอกว่า ผมเป็นลูกน้องร้านทรงประดิษฐ์ พวกผู้หญิงก็จะบอกว่าเคยเป็นนักเรียนศรีจันทรา” - เชฟอู๊ด ลูกชายร้านทรงประดิษฐ์ ที่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนกิจการเป็นร้านอาหาร Chez Nous เล่าถึงความทรงจำในร้านตัดผ้าพลางลูบคลำสูทตัวสุดท้ายไปด้วย


ความรุ่งเรืองของย่านศรีจันทร์ในยุค 2500 สิ้นสุดลงที่ซอยร่วมจิตรนี่เอง ประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น ไม่ได้เป็นเพียงขี้เถ้ามอดแล้วกองหนึ่ง ในส่วนลึกของมันยังมีไออุ่น รอให้เราเอื้อมมือลงไปสัมผัสความรู้สึกมีชีวิตชีวาและความงดงามของความเก่าทว่ายังเก๋านั้นอยู่