Bangkok/Charoenkrung/District Stories
TH | EN

Good Friday: งานแห่รูปพระตาย

พิธีแห่รูปพระตายในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ความรักและความศรัทธาที่เบ่งบานขึ้นในชุมชนตลาดน้อย

Good Friday: งานแห่รูปพระตาย
Published Date:

พิธีแห่รูปพระตายในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ความรักและความศรัทธาที่เบ่งบานขึ้นในชุมชนตลาดน้อย

เมื่อพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า พระจันทร์ขึ้นเต็มดวงในคืนวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2562 เหล่าคริสตชนทั้งชาวไทยและจีนในพื้นที่ชุมชนตลาดน้อยและระแวกใกล้เคียงต่างมุ่งหน้าไปยังโบสถ์พระแม่ลูกประคำ (กาลหว่าร์) โบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเก่าแก่อายุร่วม 120 ปี เพื่อประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบหนึ่งปี นั่นคือ “พิธีแห่รูปพระตาย” ที่หากไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ได้มีความรู้เรื่องราวของคริสตศาสนา เราคงจะไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับพิธีกรรมในวันสำคัญนี้มาก่อน

เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีไปจนถึงวันอาทิตย์ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นตามลำดับ กล่าวคือ วันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ หรือวันที่พระเยซูเจ้าทรงรับประทานอาหารครั้งสุดท้ายกับพระอัครสาวก (The Last Supper) ก่อนที่พระองค์จะถูกจับกุมและโดนประหาร วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันที่พระองค์ถูกตรึงและสิ้นประชนม์บนไม้กางเขน และอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์ (สามวันนับจากวันที่พระองค์สิ้นพระชนม์) หรือที่รู้จักกันว่าเป็น วันอีสเตอร์ (Easter) ก็เปรียบเสมือนวันที่พระองค์ทรงฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้งโดยสมบูรณ์ เรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์จะถูกระลึกถึงทุกๆ ปี พร้อมกับการปรากฎตัวของ "รูปพระตาย" หรือรูปพระศพของพระเยซูเจ้าที่ทำจากไม้แกะสลักและทาสีเฉพาะในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นเพียงหนึ่งครั้งในรอบหนึ่งปี ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายและความสำคัญเป็นอย่างมาก เรามีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับคุณพ่ออดิศักดิ์ กิจบุญชู เจ้าอาวาสประจำวัดพระแม่ลูกประคำ และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพิธีแห่พระตายในคืนวันศุกร์ที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา

การได้คุยกับคุณพ่ออดิศักดิ์ทำให้ความสงสัยของเราเริ่มคลี่คลายในหลายประเด็น เริ่มต้นด้วยความสงสัยที่ว่า วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือในภาษาอังกฤษเรียกวันนี้ว่า Good Friday นั้นคือวันที่พระเยซูถูกทรมาน และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน แล้วทำไมถึงเป็นวันที่ดี? คุณพ่ออดิศักดิ์ได้อธิบายว่า วันศุกร์ที่ดีในที่นี้หมายถึงวันที่พระเยซูเจ้าได้ไถ่บาปแทนมนุษย์ หรือการยอมสละชีวิตเพื่อมวลมนุษย์ การที่คริสตชนมารวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ใช่แค่การมาร่วมระลึกถึงความทรมานของพระเยซูเจ้า แต่เป็นการระลึกถึงความรักที่พระองค์มีต่อพวกเขา หรืออาจเรียกว่าเป็นการมาร่วมกันระลึกถึงเหตุการณ์พร้อมกับเฉลิมฉลองความรักของพระเยซูเจ้า

จุดเริ่มต้นของพิธีแห่รูปพระตาย

เมื่อถามถึงความเป็นมาของพิธีแห่พระตายและรูปพระตาย คุณพ่ออดิศักดิ์เล่าว่าจุดเริ่มต้นของการแห่พระตาย เกิดขึ้นที่ประเทศสเปน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการทำพิธีเคารพรูปพระตาย ซึ่งเป็นการนำประติมากรรมรูปพระเยซูเจ้าแขวนไว้กับไม้กางเขน ในลักษณะที่ดูเหมือนว่าพระองค์กำลังถูกตรึงอยู่ เมื่อพิธีดำเนินมาถึงช่วงที่พระองค์สิ้นพระชนม์จะทำการปลดรูปพระตายลงมา แล้วนำมาแห่ในเมืองหรือรอบวัด หลังจากนั้นพิธีกรรมนี้ก็ได้แพร่มายังโปรตุเกสและแถบอเมริกาใต้ รวมไปถึงบรรดาประเทศอาณานิคมของสเปนอย่างฟิลิปปินส์ก็ได้รับอิทธิพลเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันที่ฟิลิปปินส์ยังคงมีการทำพิธีแห่พระตายในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองซานเปรโด โดยเปิดรับอาสาสมัครเพื่อมาแสดงบทบาทเป็นพระเยซูจริงๆ ซึ่งในช่วงพิธีกรรมอาสาสมัครจะถูกจัดร่างกายให้ยืนอยู่กลางไม้กางเขน พร้อมกับตอกตะปูลงบนฝ่ามือทั้งสองข้าง

สำหรับจุดเริ่มต้นของพิธีแห่พระตายในประเทศไทย คุณพ่ออดิศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า มาจากชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยา ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก พวกเขามีความเชื่อและความศรัทธาในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เมื่ออพยพย้ายถิ่นฐานจากอยุธยาขึ้นมายังบางกอก ล่องเรือมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวโปรตุเกสกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับอำนาจการปกครองของประมุขมิสซังสยามชาวฝรั่งเศส จึงแยกตัวออกมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณวัดพระแม่รูปประคำ และได้นำรูปพระศพไม้แกะสลักและรูปปั้นพระแม่ลูกประคำติดตัวมาด้วยเมื่อ 230 กว่าปีที่แล้ว แต่ไม่ได้มีหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีการทำพิธีแห่พระตายหรือการเคารพพระตายครั้งแรกเมื่อใด จากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในระแวกชุมชนตลาดน้อย ก็พบว่ามีการทำพิธีแห่พระตายมาตั้งแต่จำความได้ สามารถสันนิษฐานได้ว่าพิธีกรรมนี้เกิดขึ้นมานานกว่า 50 ปี ปัจจุบันในประเทศไทยมีแค่สามวัดที่มีการจัดพิธีแห่พระตายอยู่ คือ วัดพระแม่ลูกประคำ (กาลหว่าร์) วัดซางตาครู้ส และวัดคอนเซ็ปชัญ ซึ่ง 3 วัดนี้ได้รับการสืบทอดพิธีกรรมมาจากชาวโปรตุเกส

ค่ำคืนแห่งพิธีกรรม

พิธีกรรมในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่พระอาทิตย์ตกดิน เวลา 18.00 น. คริสตชนมารวมตัวกันที่โบสถ์กาลหว่าร์ เพื่อร่วมรับฟังเรื่องราวที่บอกเล่าโดยคุณพ่อและเหล่าศิษยานุศิษย์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพระเยซูเจ้าตามพระคัมภีร์ไบเบิล ช่วงที่พระองค์ถูกจับ โดนทรมาน และสิ้นพระชนม์ตามลำดับ เหมือนกับเป็นการทำให้ผู้ที่มาร่วมพิธีกรรมได้เห็นภาพความเจ็บปวดและความทรมานของพระเจ้า และรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์การสูญเสียนั้น เสมือนว่าเราได้สูญเสียบุคคลผู้เป็นที่รักไป ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความเศร้าเสียใจ ก่อนที่จะคลี่คลายไปสู่การยอมรับและระลึกถึงพระคุณของพระเยซูเจ้าในขั้นต่อมา นั่นคือการทำพิธีมิสซาและรับศีลมหาสนิท พิธีมิสซาถือเป็นการขอบคุณพระเจ้าที่ทรงสละเลือดเนื้อไถ่บาปแทนมนุษย์ นัยสำคัญของพิธีกรรมช่วงนี้คือการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน และเชื่อว่าพระองค์ยังอยู่กับคริสตชนทุกคนในรูปแบบของศีลมหาสนิทหรือแผ่นปังที่เปรียบเสมือนร่างกายของพระเยซูเจ้า โดยผู้ที่จะสามารถรับศีลมหาสนิทได้จะต้องรับเชื่อในศาสนาคริสต์แล้วเท่านั้น

เมื่อพิธีกรรมดำเนินมาถึงช่วงสุดท้ายในเวลา 20.30 น. คริสตชนจะทยอยเข้ามาในโบสถ์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาวางพวงดอกมะลิและทำความเคารพรูปพระศพที่ถูกจัดให้นอนอยู่ในบุษบก ซึ่งดูราวกับว่าเป็นพระกายของพระเยซูเจ้าจริงๆ หลังจากนั้นเหล่าศิษยานุศิษย์นับสิบคนจะทำการยกบุษบกขึ้น และแห่ออกจากโบสถ์ไปยังบริเวณรอบนอกของโบสถ์ เวียนด้านซ้าย 1 รอบ การแห่รูปพระตายเป็นสิ่งที่สะท้อนความรัก ความเชื่อ และความศรัทธาของคริสตชนนับร้อยที่มาร่วมเดินแห่และยืนเคารพพระศพได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน รูปพระตายคือสัญลักษณ์ของความรักของพระเจ้าที่มีต่อมนุษย์ ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจคริสตชน พิธีเสร็จสิ้นด้วยการนมัสการรูปพระศพ คุณพ่ออดิศักดิ์อธิบายว่า การจูบรูปพระตายก็เป็นเหมือนกับการนมัสการหรือแสดงความเคารพตามแบบวัฒนธรรมตะวันตก ทั้งนี้ การแสดงความเคารพต่อพระเยซูเจ้าก็ไม่ได้จำกัดแค่การเข้าไปจูบรูปพระ บางคนอาจจะยกมือไหว้หรือเอามือสัมผัส ถือเป็นรูปแบบการแสดงความเคารพเฉพาะบุคคล แล้วแต่ความเชื่อ ไม่ได้มีรูปแบบกำหนดตายตัว

ความสัมพันธ์ของโบสถ์และคนในชุมชนที่เป็นมากกว่าเรื่องพิธีกรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นในคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์นอกจากจะเป็นเรื่องของการประกอบพิธีกรรม คือการมารวมตัวกันของคริสตชนจำนวนมาก สะท้อนภาพของความสัมพันธ์ระหว่างโบสถ์กาลหว่าร์กับชาวคริสต์ในชุมชนตลาดน้อย คุณพ่ออดิศักดิ์บอกกับเราว่า โบสถ์หลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ในต่างจังหวัดหรือในเมือง สิ่งที่เป็นเหมือนกันคือการเป็นศูนย์รวมของชุมชน ฉะนั้น คนที่อยู่ในชุมชนรอบโบสถ์หรือแม้กระทั่งคนที่นับถือศาสนาคริสต์ในพื้นที่อื่นๆ ก็สามารถเข้ามาทำกิจกรรม หรือประกอบพิธีกรรมร่วมกันได้เสมอ และโบสถ์ยังมีหน้าที่ให้การศึกษากับเด็กและเยาวชนในชุมชนอีกด้วย โบสถ์เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่งที่เปิดรับคนทุกสถานะและทุกชนชั้น

เมื่อพิธีกรรมเสร็จสิ้นลง คริสตชนจำนวนหนึ่งเริ่มทยอยกลับ แต่บางคนก็ยังอยู่รอเพื่อนมัสการรูปพระตาย ระหว่างนั้นเราได้มีโอกาสนั่งคุยกับคุณป้าเสริมศิริ วัย 75 ปี และได้ทราบว่าครอบครัวของคุณป้าเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่นับถือศาสนาคริสต์มาตั้งแต่ต้นตระกูลที่เมืองจีน ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนตลาดน้อย ความสัมพันธ์ของครอบครัวคุณป้าเสริมศิริกับโบสถ์กาลหว่าร์จึงเกิดขึ้นเรื่อยมาอย่างเหนียวแน่น คุณป้าบอกกับเราด้วยสีหน้าและแววตาที่อิ่มเอมใจว่า ลูกๆ ทั้ง 5 คนนับถือศาสนาคริสต์หมด พามาที่โบสถ์กาลหว่าร์ตั้งแต่ยังเล็ก ผ่านพิธีกรรมล้างบาป ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกุหลาบวิทยา จนกระทั่งมีครอบครัว ลูกๆ ก็มาแต่งงานที่โบสถ์นี้ ส่วนตนนั้นก็จะมาที่โบสถ์ทุกคืนอยู่แล้วเพื่อมาสวดนมัสการและทำมิสซา และมาร่วมพิธีแห่พระตายทุกปีตลอด 50 ปีที่ผ่านมา

"มันก็ดีนะ เป็นความอบอุ่น โบสถ์นี้สำหรับเรา มาแล้วมีความสุข พระองค์คอยนำทางให้เราทำสิ่งที่ดีๆ เห็นคนมาโบสถ์เยอะๆ เราก็ดีใจ" คุณป้าเสริมศิริกล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เพราะนอกจากคืนวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์จะเป็นคืนที่มีผู้คนจากทุกสารทิศแวะเวียนเข้ามาที่โบสถ์กันอย่างคึกคัก ต่างจากในวันปกติที่ค่อนข้างเงียบในช่วงพลบค่ำเมื่อไม่มีพิธีกรรมใดๆ ยังเป็นช่วงเวลาที่คุณป้าได้เจอลูกหลานพร้อมหน้าพร้อมตากัน จากที่ไม่ได้เจอกันนานนับเดือนเพราะอยู่กันคนละที่ วันศุกร์ที่ดีหรือ Good Friday สำหรับคริสตชนบางคนนั้นจึงอาจเป็นได้มากกว่าเรื่องของพิธีกรรม การติดสนิทกับความเชื่อและศรัทธา แต่คือการได้กลับมาพบปะกับสมาชิกในครอบครัว ทั้งพี่น้องและเพื่อนๆ อีกครั้ง