Songkhla/Songkhla Old Town/District Projects
TH | EN

The Wall at Songkhla 2022

ศาสตร์แห่งแสงไฟ ที่ไม่ใช่แค่ส่องสว่างแต่ยังแก้ปัญหาเมือง

The Wall at Songkhla 2022
Published Date:

THE WALL AT SONGKHLA 2022

เมื่อ “แสง” ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ส่องสว่างในยามค่ำคืน แต่สามารถทำอะไรให้กับ “เมือง” ได้มากกว่านั้น

The Wall at Songkhla 2022 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม - 4 กันยายน 2565 เพื่อกระตุ้นย่านเมืองเก่าสงขลาให้กลับมามีชีวิตชีวาหลังสถานการณ์โควิด -19 ชวนผู้คนออกมาเดินเที่ยว ค้นหาเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ของย่านในยามค่ำคืน ผ่านผลงานการออกแบบแสงไฟแบบ Architectural Lighting และ Lighting Installation ใน 3 พื้นที่ที่เชื่อมโยงกัน เพื่อช่วยจุดประกายให้คนในและคนนอกมองเห็น Hidden Gems ในพื้นที เพิ่มความปลอดภัยในการเดินสัญจร และผลักดันให้ร้านค้าได้มีเวลาค้าขายมากยิ่งขึ้น เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจยามค่ำคืน ตลอดจนต่อยอดไปสู่การติดตั้งแสงสีอย่างถาวรให้กับพื้นที่

ก่อนจะมาเป็น The Wall at Songkhla 2022 ได้มีการระดมความคิดเห็นของคนในพื้นที่ถึงปัญหาและความต้องการ ทำความเข้าใจบริบทของพื้นที่ โดยสิ่งที่ผู้คนอยากเห็น คือ เมืองสวยงาม เมืองปลอดภัย เดินสะดวก ไม่เงียบเหงาในเวลากลางคืน รวมถึงมีการอนุรักษ์สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม อย่างสถาปัตยกรรมโบราณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์

The Wall at Songkhla จึงไม่ใช่การจัดแสงไฟที่หวือหวา มีเทคนิคจัดจ้าน แต่เน้นไปที่แสงไฟที่ใช้ได้จริง แก้ปัญหาพื้นที่ได้ และที่สำคัญสอดคล้องไปกับเรื่องราว บริบทของเมืองและวิถีชุมชน สามารถเติมเต็มเสน่ห์ให้กับเมืองในยามค่ำคืนได้แบบไม่แปลกแยก

แม้ทีมงานและนักออกแบบจะเป็นคนนอกพื้นที่ แต่หัวใจสำคัญคือความร่วมมือของคนในพื้นที่ และการทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอน จึงทำให้คนในชุมชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และพร้อมจะดูแลและเป็นเจ้าของชิ้นงานแสงไฟอย่างแท้จริง



The Wall 1 : The Prime Light (An-nur อันนูร) 

จัดแสดง ณ มัสยิดอุสาสนอิสลามหรือมัสยิดบ้านบน (Masjid Asasul IsIam) ศาสนสถานทรงคุณค่าที่อยู่คู่ชุมชนชาวมุสลิมในย่านเมืองเก่ามายาวนาน โดยมีแรงบันดาลใจการออกแบบมาจากบทโองการในคัมภีร์อัลกรุอาน ชื่อ อันนูร ซึ่งหมายถึง พระองค์อัลเลาะห์ผู้มีรัศมีเจิดจรัส นอกจากนี้ยังมีตลาดนัดชุมชนมัสยิดบ้านบน ที่รวมของเด็ดของดีจากชุมชนตลอดเส้นถนนมัสยิดบ้านบน ยิ่งไปกว่านั้นผลงานแสงไฟชิ้นนี้ยังได้รับการสนับสนุนให้ติดตั้งถาวรภายใต้การดูแลของชุมชนต่อไป

ออกแบบแสงเผยให้เห็นความงามของหออาซาน ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กของมัสยิด ให้ส่องนำทางชาวมุสลิม เปรียบดั่งอัลลอฮฺ

The Wall 2 : Moonlight Serenade หรือ ‘ลำนำแสงจันทร์’ 

จัดแสดงในซอยดอกพวงคราม ข้างห้างหุ้นส่วนจำกัดกรุงทองภาคใต้ บนถนนนครนอก ซึ่งในยามกลางวันโดดเด่นด้วยร่มไม้สีเขียว แต่งแต้มด้วยดอกพวงครามและวิวทะเลสาบ จัดแสดงดวงจันทร์จำลองส่องแสงเหลืองนวล อยู่ท่ามกลางแสงเงาของแมกไม้ และหิ่งห้อยระยิบระยับ พร้อมดนตรีบรรเลงสดจากวงดนตรีทรีโอของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

ลำนำแห่งแสงจันทร์ ท่ามกลางบรรยากาศชวนฝัน อันเป็นความหวัง จุดเริ่มต้นการพัฒนาแสงสว่างของเมืองสงขลาในอนาคต

The Wall 3 : Tale of the Sea หรือ ‘นิทานแห่งท้องทะเล’

จัดแสดงในตรอกเล็กๆ ที่เดิมอยู่ข้างร้าน The Apothecary of Singora (ตอนนี้ปิดไปแล้ว) เชื่อมระหว่างถนนนครในและนครนอก โดยแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากนิทานพื้นบ้าน เรื่อง เกาะหนูเกาะแมว ที่เล่าขานความพยายามว่ายน้ำกลับฝั่งของหนู หมา แมว ที่แย่งลูกแก้ววิเศษกัน


The Wall at Songkhla โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกับ ทีมนักออกแบบแสงจากกลุ่ม Lighting Designers Thailand (LDT) พร้อมทั้งเทศบาลนครสงขลา และภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม