Sukhothai/Sukhothai Old Town/District Projects
TH | EN
STRN Citizen Lab

Sukhothai Trooper: นักพัฒนามรดกสร้างสรรค์

หยิบ ‘มรดก’ ของเมืองมาจับคู่กับการ ‘พัฒนา’

Sukhothai Trooper: นักพัฒนามรดกสร้างสรรค์
Published Date:

City Trooper คนสรรสร้าง เมืองสร้างสรรค์

กิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อเฟ้นหา ‘นักพัฒนาเมือง’ ที่อยากทำ ‘เมืองสุโขทัย’ ให้ดีขึ้น ต้องการจะทดลองพัฒนาเมืองในรูปแบบใหม่ ผ่านกระบวนการออกแบบที่ยึดถือความต้องการของประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen - Centered Design) เพื่อพลิกเสน่ห์ของสุโขทัย ให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่ถูกจำกัดไว้ในกรอบที่คุ้นเคย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนเมืองให้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการนิยามของประชาชนอย่างแท้จริง โดยกิจกรรมจัดขึ้น 3 วัน 2 คืน ที่จังหวัดสุโขทัย ระหว่างวันที่ 13 - 15 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 20 คน จากหลากหลายวัย อาชีพและภูมิลำเนา

ค้นหา 'วัตถุดิบเมือง' มาสร้าง 'วลีเมือง'

กิจกรรมแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อลงสำรวจ 3 พื้นที่ ได้แก่ ทางทิศเหนือของสุโขทัย (ศรีสัชนาลัย และ สวรรคโลก) ทางทิศตะวันตกของสุโขทัย (ทุ่งเสลี่ยม และ บ้านด่านลานหอย)  และทางทิศใต้ของสุโขทัย (อ.เมือง, กงไกรลาศ และ คีรีมาศ) เพื่อค้นหา ‘วัตถุดิบเมือง’ ที่มีศักยภาพ อาทิ เครื่องสังคโลก เครื่องปั้นดินเผา อาหารพื้นเมือง ผ้าย้อมดิน และสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อหยิบคุณค่าและเรื่องราวของเมืองสุโขทัยที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้สินทรัพย์เหล่านั้น ออกมาวิเคราะห์ หาจุดร่วม และเรียบเรียงให้กลายเป็น ‘วลีเมือง (City Statement)’ ที่เหล่า Sukhothai Trooper จะใช้ยึดถือในการทำงานพัฒนาต่อไปในอนาคต

ทีมที่ 1 สำรวจทางทิศเหนือของสุโขทัย (ศรีสัชนาลัย และ สวรรคโลก)
ทีมที่ 2 สำรวจทิศตะวันตกของสุโขทัย (ทุ่งเสลี่ยม และ บ้านด่านลานหอย)
ทีมที่ 3 สำรวจทางทิศใต้ของสุโขทัย (อ.เมือง, กงไกรลาศ และ คีรีมาศ)

'มรดก' + 'การพัฒนา' = 'เมืองสุโขทัยสร้างสรรค์'

วลีเมืองที่ได้จากการระดมความคิดเห็นของทุกคน คือ “การพัฒนามรดกอย่างสร้างสรรค์” ซึ่งสื่อถึง ‘การอนุรักษ์’ ควบคู่กับ ‘การต่อยอด’ และพัฒนาอย่างสมดุล แบบไม่ทิ้งรากเหง้าเดิม แต่ยังสามารถนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ไม่มีขีดจำกัด ภายใต้วิธีการทำงานที่สร้างสรรค์ เพื่อให้เมืองเกิดการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นเมืองอย่างสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ทำ 'วลีเมือง' ให้จับต้องได้จริง

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนา 'ชิ้นงานต้นแบบ (prototype)' หรือตัวอย่างที่จะสามารถสื่อสาร 'วลีเมือง' ให้สามารถจับต้องได้จริง โดยเลือกหนึ่งแนวคิดที่ตอบโจทย์ทุกคนมากที่สุดมาทดลองทำจริงร่วมกันในพื้นที่ ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้คนในเมือง รวมไปถึงรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย

ปั้น 'ดินเมือง' เป็น 'มรดกเมือง'

ชิ้นงานต้นแบบ (Prototype) ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในครั้งนี้ คือ ประติมากรรม “น้องดิน ‘Khothai Trooper เมาะ” เพื่อสื่อสารความเชื่อในการ ‘พัฒนามรดก’ ผ่านแนวทางการ ‘พัฒนาดิน’ หรือมรดกที่ซ่อนอยู่ในทุกส่วนของสุโขทัย และเป็นจุดเริ่มต้นของภูมิปัญญาต่าง ๆ ของสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสังคโลก เครื่องปั้นดินเผา ผ้าหมักโคลน ผ้าย้อมดิน และศิลาแลง

โดย ‘น้องดิน’ แต่ละตัว จะถูกสร้างขึ้นจากดินในพื้นที่ต่าง ๆ ของสุโขทัยที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ด้วยฝีมือและกรรมวิธีของศิลปินท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคของจังหวัด เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์และวิธีการสร้างสรรค์และพัฒนามรดกจากคนในท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป

หลังจากการพัฒนาต้นแบบระหว่างกลุ่ม Sukhothai Trooper และช่างฝีมือชุมชน กว่า 2 อาทิตย์ ก็ได้ผลงานน้องดินหลากหลายชิ้น เพื่อนำไปจัดแสดงในงาน ‘Sukhothai Art Craft & Beyond’ ในวันที่ 4-7 ธันวาคม 2563 ณ สวนน้ำเปรมสุข สุโขทัย

ด้วยความหมาย คุณสมบัติและคุณค่าที่หลากหลายของ 'ดิน' ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ทำให้ “น้องดิน ‘Khothai Trooper เมาะ” มีศักยภาพในการต่อยอดให้กลายเป็นสัญลักษณ์ หรือ ตัวแทนของเมือง เพื่อสร้างเรื่องราวและบอกเล่าความเป็นสุโขทัย ในแง่เมืองที่เติบโตขึ้นมาจากดิน มีการสั่งสมอารยธรรมมายาวนาน และสามารถปรับตัวข้ามผ่านกาลเวลา โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ภูมิปัญญาและทักษะของ 'ผู้คน' ที่จะสร้างสรรค์และต่อยอด ‘ดิน’ นี้ในรูปแบบต่างๆ ที่ตอบรับกับยุคสมัยได้ไม่รู้จบ และสามารถทำให้สุโขทัยเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการนิยามของประชาชนได้อย่างแท้จริง


“City Trooper คนสรรสร้าง เมืองสร้างสรรค์” โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ STRN Citizen Lab ห้องปฏิบัติการประชาชน และเครือข่ายท้องถิ่น อบจ.สุโขทัย อพท.4 บริษัท สุโขทัยพัฒนาเมือง จำกัด สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองด้ง

ข้อมูลและภาพถ่าย: STRN Citizen Lab