Bangkok/Charoenkrung/District Projects
TH | EN

Streetscape

พัฒนาคุณภาพการเดินเท้า ย่านเจริญกรุง

Streetscape
Published Date:

GOOD WALK = GOOD CITY

กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การเดินทางต้องพึ่งพารถยนต์และรถขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น และทำให้แนวทางการพัฒนาเมืองในช่วงที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ถนนมากขึ้น และทำให้พื้นที่สาธารณะรวมถึงทางเท้าไม่ได้รับการพัฒนาให้เติบโตไปกับเมืองเท่าที่ควร

แนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน ได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนและการเดินทางทางเลือก เช่น การเดินและปั่นจักรยาน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดมลพิษ ทำให้แนวคิดของการพัฒนาเมืองที่เหมาะกับการเดิน (Walkable City) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่หลายเมืองทั่วโลกนำมาใช้ในการสร้างความยั่งยืน

ทางเดินเท้าจึงถูกมองในมิติของการพัฒนาที่ครอบคุลมเรื่องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่สวยงามและใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมของเมือง นอกเหนือจากการเดินทางเพียงอย่างเดียว ซึ่งในหลายเมืองพบว่าคนเดินเท้ามีพฤติกรรมการเดินที่ช้าลง มีการหยุดสังเกตกิจกรรมข้างทาง มีการนั่งพักริมทางที่เป็นร้านกาแฟและร้านอาหาร ช่วยสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับเมือง ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

สำหรับกรุงเทพมหานคร ทางเท้าที่เคยเป็นเพียงเส้นทางสัญจรสายรอง เริ่มมีการให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดและการซ่อมแซมเพื่อให้เดินสะดวกมากขึ้น แต่การพัฒนาทางเท้าให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงการเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมและชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ทางเท้าไม่ใช่แค่เส้นทางสัญจร แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ

Streetscape จึงเป็นโครงการเริ่มต้นเพื่อการพัฒนาคุณภาพของการเดินทางเท้า โดยใช้ย่านเจริญกรุงเป็นพื้นที่ในการศึกษา ตั้งแต่การสังเกตพฤติกรรม การสัมภาษณ์ การประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันของผู้สัญจร ในฐานะผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวในย่านเจริญกรุงนักออกแบบ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนา การจัดทำต้นแบบ และการทดลองใช้จริงในพื้นที่ ในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2562 (26 มกราคม -3 กุมภาพันธ์ 2562) เพื่อเก็บข้อมูลการทดลองใช้งาน ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงเพื่อนำไปใช้จริงต่อไป


GOOD RESEARCH = GOOD START

สำรวจเจริญกรุง

เมื่อประสบการณ์ที่ดีในการเดินเท้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน Streetscape จึงเริ่มต้นจากการศึกษาสภาพการสัญจรในปัจจุบัน โดยเลือกย่านเจริญกรุง ที่กำลังถูกพัฒนาให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District) มาเป็นพื้นที่สำหรับการสำรวจลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมการใช้ทางเท้า จากการนับจำนวนผู้ใช้งานช่วงวันธรรมดาและวันสุดสัปดาห์ การสังเกตพฤติกรรมการใช้งานและการเลือกเส้นทาง จนถึงการระดมความคิดเห็นจากตัวแทนกลุ่มคนที่เดินในย่านเจริญกรุง ทั้งคนในชุมชน นักเรียน ผู้ประกอบการร้านค้าในย่าน ตัวแทนจากภาครัฐ ที่สำคัญคือ หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักงานเขตบางรัก สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว รวมถึงสำนักการโยธา มาร่วมรับฟังข้อมูล เพื่อร่วมกันตั้งเป็นโจทย์ในการปรับปรุงและแก้ปัญหาการเดินในย่านให้ดียิ่งขึ้น 5 ประเด็น คือ

  1. การออกแบบเพื่อสร้างความปลอดภัยในการข้ามถนน (Street Crossing)
  2. การออกแบบเพื่อส่งเสริมกิจกรรมระหว่างเดินสัญจรในย่านสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม (Street Activities)
  3. การจัดการพื้นที่และภูมิทัศน์บนทางเท้า (Street Elements) 
  4. การออกแบบระบบนำทางเดินเท้า (Wayfinding)
  5. การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการเดินเท้าช่วงเวลากลางคืน (Safety Environment)

งานวิจัยพฤติกรรมการเดินสู่โจทย์การพัฒนาทางเท้า : โครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ทางเท้า และป้ายสัญลักษณ์ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง

งานวิจัยพฤติกรรมการเดินสู่โจทย์การพัฒนาทางเท้า : โครงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ทางเท้า และป้ายสัญลักษณ์ย่านสร้างสรรค์เจริญกรุง
48.24 MBs

ผู้จัดทำวิจัย

  1. นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และดลพร ชนะชัย Cloud-floor
  2. ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

GOOD DESIGN = GOOD QUALITY

เส้นทางเดินต้นแบบ

จาก 5 ประเด็นในการปรับปรุงทางเท้าที่เกิดจากการวิจัยและระดมความคิดเห็น มาสู่โจทย์ที่มอบหมายให้ 5 สตูดิโอออกแบบจากหลายสาขา ประกอบด้วย Cloud-floor, P.library Design Studio, Studio Dialogue, Shma Soen และJellyfish Mission มาร่วมพัฒนาเป็นแนวคิดในการออกแบบ 5 แนวทาง เพื่อนำเสนอให้ตัวแทนจากคนในย่าน ภาครัฐและเอกชน ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ ในแต่ละผลงาน เพื่อให้นักออกแบบได้นำข้อมูลไปพัฒนาแบบอีกครั้ง ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการผลิตต้นแบบเพื่อติดตั้งบนพื้นที่สาธารณะในย่านเจริญกรุง และทดลองใช้งานจริงในระหว่างการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2562 (Bangkok Design Week 2019) วันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมี ดร. พีรียา บุญชัยพฤกษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบและวางผังชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินการสรุปผลการใช้งานเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาโครงการอื่นๆ ต่อไป


1. การออกแบบเพื่อสร้างความปลอดภัยในการข้ามถนน (Street Crossing)
โดย Cloud-floor 

ทางม้าลายแบบใหม่ที่มีการเตือนให้ผู้ขับรถยนต์รับทราบว่าใกล้ทางข้าม และป้ายสัญญาณข้ามถนนที่มีแสงไฟกระพริบติดบริเวณเสาโครงสร้างเดิมที่กดเพื่อกระตุ้นให้คนขับรถมองเห็นสัญลักษณ์จากระยะไกล เพื่อเตรียมชะลอรถ บริเวณเจริญกรุงระหว่างซอย 32 - 40

ผลการสำรวจความคิดเห็น

  • วินัยในการขับรถและการข้ามถนนดีขึ้น
  • คนขับรถชะลอให้คนข้ามมากขึ้น ทำให้คนใช้เวลาในการรอข้ามถนนน้อยลง 7 %
  • คนข้ามถนนง่ายขึ้นและรู้สึกปลอดภัยในการข้ามมากขึ้น 20 %

2. การออกแบบระบบนำทางเดินเท้า (Wayfinding)
โดย P.library Design Studio 

ป้ายข้อมูลรวมของพื้นที่ ป้ายนำทาง และป้ายข้อมูลสถานที่สำคัญ บริเวณถนนเจริญกรุง เพื่อลดความซ้ำซ้อนของป้ายที่มีอยู่เดิม ทำไให้สื่อสารได้อย่างชัดเจน และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเท้า และยังมีการเพิ่มข้อมูลสถานที่สำคัญของย่านด้วยการสื่อสารรูปแบบใหม่

ผลการสำรวจความคิดเห็น

  • คนเดินหลงทางน้อยลง 56 %

จากผลตอบรับที่ดี จึงได้มีการพัฒนาและต่อยอดต้นแบบป้ายบอกทางบนพื้น และกล้องบอกทางรุ่นใหม่ เพื่อทดลองใช้ ในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) ระหว่างวันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563

กล้องบอกทางเป็นเครื่องมือช่วยนำทางและให้ข้อมูลที่น่าสนใจที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เหมาะสำหรับการใช้งานในช่วงที่พื้นที่มีกิจกรรมหรือเทศกาลฯ โดยต้นแบบกล้องบอกทางรุ่นใหม่นี้ ได้ปรับการแสดงผลข้อมูลให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ได้แก่ แสดงวิดิโอและภาพพร้อมข้อมูลของสถานที่ที่อยู่ในซอย รวมถึงข้อมูลกิจกรรมประจำวันของเทศกาลฯ และคุณภาพอากาศประจำวัน พร้อมทั้งปรับรูปทรง และตำแหน่งการติดตั้ง เพื่อป้องกันการเดินชน

ส่วนป้ายบอกทางที่พื้นมีความเหมาะสมในแง่การใช้พื้นที่ เพราะไม่เกะกะ กีดขวางทางเดิน จึงได้ปรับรูปแบบและวัสดุในการผลิตเป็นแผ่นเหล็กฉลุ ให้มีความคงทนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เห็นแนวทางการนำไปใช้จริง


3. การออกแบบเพื่อส่งเสริมกิจกรรมระหว่างเดินสัญจรในย่านสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม (Street Activities)
โดย Studio Dialogue 

ภาพศิลปะที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของย่านเจริญกรุง ที่กระจายอยู่บนผนัง 12 แห่ง ที่กระจายอยู่ในย่านตลาดน้อย ชุมชนฮารูน และบางรัก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินตามเส้นทาง เข้าถึงตรอกซอกซอย และสถานที่สำคัญต่างๆ ในย่าน เพื่อให้คนนอกพื้นที่เกิดมุมมองใหม่ต่อย่านเจริญกรุงว่าเป็นหนึ่งย่านที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม กลายเป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยว

ผลการสำรวจความคิดเห็น

  • คนรู้สึกพอใจที่มีกิจกรรมระหว่างการเดินเพิ่มขึ้น 50%
  • คนเข้าถึงสถานที่ที่น่าสนใจในย่าน เพิ่มขึ้น 10%

4. การจัดการพื้นที่และภูมิทัศน์บนทางเท้า (Street Elements)
โดย Shma Soen 

การปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างความร่มรื่น สวยงาม และจัดสรรพื้นที่ทางเดินให้เป็นสัดส่วน แยกระหว่างพื้นที่ทางเดิน นั่งพัก และกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงสร้างการรับรู้ความเป็นย่านสร้างสรรค์ บริเวณด้านหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง

ผลการสำรวจความคิดเห็น

  • กิจกรรมบนทางเท้าแยกเป็นสัดส่วน ทำให้คนเดินสะดวกมากขึ้น 80%

5. การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการเดินเท้าช่วงเวลากลางคืน (Safety Environment)
โดย Jellyfish Mission

ระบบไฟให้แสงสว่างทางเดินแบบอินเทอร์แอคทีฟ บริเวณถนนมหาพฤฒาราม เพื่อให้ความปลอดภัย และสามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อเวลาเดินผ่านเพื่อสร้างความน่าสนใจ

ผลการสำรวจความคิดเห็น

  • คนในย่านเห็นว่าการออกแบบสามารถเพิ่มความปลอดภัยให้กับทางเดินในเวลากลางคืนได้มากขึ้น

ภาพรวมสรุปผลโครงการ Streetscape

https://drive.google.com/file/d/1e3AjJba-r-gHSC2uBCr9CCLaRcIWVRrt/view?usp=sharing