Bangkok/Charoenkrung/District Projects
TH | EN

Shop & Space Makeover: แปลงโฉมร้านค้าและพื้นที่ของชุมชน

การแปลงโฉมร้านค้าและพื้นที่ชุมชนในย่าน ด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างบรรยากาศให้น่าอยู่ และตอบโจทย์ผู้ใช้งานพื้นที่

Shop & Space Makeover: แปลงโฉมร้านค้าและพื้นที่ของชุมชน
Published Date:

Shop & Space Makeover: แปลงโฉมร้านค้าและพื้นที่ของชุมชน

การแปลงโฉมร้านค้าและพื้นที่ชุมชนในย่าน ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างบรรยากาศของร้านและพื้นที่ชุมชนให้น่าอยู่ และตอบโจทย์ผู้ใช้งานพื้นที่ รวมถึงออกแบบเครื่องมือใหม่ๆ ในการพัฒนาธุรกิจให้กับร้านค้าดั้งเดิมในย่าน พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในย่านในการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ และงานออกแบบมาพัฒนาธุรกิจ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน

ฮาลาลดีไซน์ สไตล์ฮารูณ

โดย Trawell

โครงการต่อเติม ตกแต่ง แก้ปัญหาพื้นที่ในชุมชนฮารูณและร้านค้าริมทางบริเวณย่าน เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการในชุมชน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชาวชุมชนและนักออกแบบทั้งมืออาชีพและนักออกแบบอาสาสมัคร

ชุมชนฮารูณ เป็นชุมชนเล็กๆ ที่รุ่มรวยของดีแต่ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ Trawell จึงร่วมมือกับ TCDC และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในย่านเจริญกรุง พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลางที่อาศัยอยู่ในชุมชนผ่านโครงการ Charoenkrung Shop & Space Makeover โดยนํากระบวนการและวิธีคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาทํางานอย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในย่านฯ และผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพและอาสาสมัครจากสาขาออกแบบ เพื่อนํามาซึ่งผลลัพธ์ในการ ปรับเปลี่ยน รูปลักษณ์ทางกายภาพของชุมชนฮารูณอย่างมีความคิดสร้างสรรค์


เฟอร์นิเจอร์ข้างถนน

โดย 56thStudio

ความหลงใหลในวัตถุข้างทาง ที่ถูกปะติดปะต่อ หรือ ด้นสดขึ้นมาใหม่เพื่อประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่คือเสน่ห์ของ “เฟอร์นิเจอร์ข้างถนน” ที่ ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบและผู้ก่อตั้ง 56thStudio หยิบเอามาใช้ในงานออกแบบเสมอๆ และการด้นสดนี่เอง ที่เป็นภาพสะท้อนของความเป็นไทยที่วุ่นวายอย่างมีแบบแผน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับคำว่า ข้างถนน ซึ่งในบริบทของภาษาไทยเองนั้น มีนัยยะของชนชั้นที่ถูกดูแคลน หรือสื่อถึงความด้อยค่าที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทยมาช้านานความเป็นคนประชดประชัน จึงนำพาให้ ศรัณย์ หยิบเอานัยยะของวัฒนธรรมข้างถนนในแบบไทยๆ หยิบยกขึ้นมาตีความใหม่ให้เป็นสิ่งสูงค่าตั้งแต่รูปร่าง รูปทรงของเก้าอี้พลาสติกสีสันสดใส เก้าอี้สแตนเลสสีเงินมันวาว โต๊ะเหล็กพับสีแปร๋น หรือแม้กระทั่งผ้าปูโต๊ะเคลือบพลาสติกลายผลหมากรากไม้ ที่ตัดกันกับเครื่องพวงหรือถ้วยชามเมลามีนราคาถูกสีพาสเทล จนไปถึง ผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอก โต๊ะม้าหิน น้ำแดงไหว้เจ้า

สำหรับ ศรัณย์แล้ว สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสุดยอดความทื่อๆ แบบไทยๆ ที่มีเสน่ห์ ศรัณย์ จึงได้สำรวจความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนเอา Visual Culture แบบข้างถนนให้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสาร ด้วยการบิดเบือน ตัดทอน ซ้อนทับหุ้มห่อ ลักษณะทางกายภาพของมันใหม่ ด้วยวิธีการ Hack หรือ ฉกฉวย องค์ประกอบบางอย่าง ที่มีอยู่แล้วในท้องถนน ดังนั้นแทนที่จะพยายาม สร้างรูปทรงหรือรูปร่างขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น แนวทางการออกแบบ จึงใช้วิธีหยิบโครงสร้างหรือวัตถุและวัสดุคุ้นตา มาปู้ยี่ปู้ยำ ยกเครื่อง รื้อและประกอบกลับเข้าไปใหม่ เพื่อคงไว้ซึ่งนัยยะของความซื่อตรงแบบข้างถนน

ผลคือเฟอร์นิเจอร์ที่ผนวกเอาฝีมือการผลิตของช่างในชุมชนตลาดน้อย ไม่ว่าจะเป็นช่างเหล็ก ร้านยี่ปั๊วซาป๊ว อาม่าเย็บหมอนไหว้เจ้า และวัตถุดิบที่หาได้ในละแวกย่าน เข้ากับ วิธีการสื่อสารที่ถูก Redesign ใหม่ กลับเข้าไปวางในชุมชน ซึ่งไม่ใช่การนำเสนอนิทรรศการงานออกแบบชั่วคราว แต่เป็นการสร้าง Platform ถาวร ที่ขับเคลื่อนด้วยเรื่องราว องค์ความรู้ ภูมิปัญญาในชุมชน กล่าวง่ายๆคือ การสร้าง โชว์รูม ให้กับคุณลุงคุณป้า และช่างฝีมือในย่านตลาดน้อย ให้มีพื้นที่สร้างสรรค์และต่อยอดธุรกิจสำหรับอนาคต โดยที่ไม่เป็นการบุกรุก หรือ ล้มล้าง วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน นั่นหมายความว่า ผุ้เฒ่าผู้แก่ ก็ยังสามารถเข้าไปนั่งเล่นหมากรุกใต้ต้นไม้ได้ เช่นเดียวกับ หนุ่มสาวออฟฟิศ หรือพนักงาน ข้าราชการที่ออกมาทานก๋วยเตี๋ยวข้างถนนราคาไม่แพงช่วงพักเที่ยงได้เหมือนเดิมเพียงแต่นั่งลงบนเรื่องราวที่ถูกนำเสนอใหม่เท่านั้นเอง


All you need is love

โดย Juli Baker and Summer

งานศิลปะที่เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานของพื้นที่สาธารณะในชุมชนให้มีชีวิตชีวาและตอบโจทย์การใช้งานมากยิ่งขึ้น สำหรับเด็กๆ ในชุมชน ด้วยอาร์ตเวิร์กที่เพ้นท์ลงบนพื้นให้ดูเป็นลู่วิ่งรอบๆ และเป็นลานเกมตรงกลาง ขณะเดียวกันก็ยังดูเป็น art piece โดยที่ขอบลู่วิ่งด้านนอกจะเขียนเป็นเนื้อเพลง All you need is love ที่มาพร้อมความหมายให้มองโลกในแง่ดี ที่เข้ากันกับโปรเจกต์ street piano ในสวน ที่จะนำเปียโนเก่ามาเพ้นท์ใหม่ตั้งไว้ให้เด็กๆ มาเล่น ทำให้พื้นที่นี้เป็นทั้งที่วิ่งเล่น เล่นดนตรีเสริมสร้างจินตนาการ ไปจนถึงการเป็นลานกิจกรรมของชุมชน