Songkhla/Songkhla Old Town/District Projects
TH | EN

Portrait of Songkhla

เรื่องเล่าย่านเมืองเก่าสงขลาผ่านภาพถ่ายชาวสงขลา

Portrait of Songkhla
Published Date:

Portrait of Songkhla: ครอบครัวเมืองเก่าสงขลา 2563

โครงการที่ใช้ประโยชน์จากศาสตร์การถ่ายภาพ เพื่อบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนชาวย่านเมืองเก่าสงขลา ในปี 2563 กว่า 70 เรื่องราว  ออกมาเป็นนิทรรศการศิลปะรูปแบบต่าง ๆ เพื่อฟื้นคืนชีวิตให้กับย่านเมืองเก่าสงขลา พร้อมสร้างความภาคภูมิใจ และสานสัมพันธ์ระหว่างคนในย่านด้วยกันเอง ไปจนถึงคนในย่านและผู้มาเยือน นำไปสู่การร่วมรักษาและต่อยอดเสน่ห์ ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับเมืองเก่าสงขลาสืบต่อไป

หัวใจสำคัญของโครงการนี้ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของชาวเมืองเก่าสงขลาในทุกขั้นตอน  ตั้งแต่การเก็บข้อมูล พูดคุยทำความรู้จักกับครอบครัวและเจ้าของกิจการร้านค้าต่างๆ ในย่าน และการถ่ายภาพโดยฝีมือของช่างภาพท้องถิ่นหลากหลายวัย ไปจนถึงการนำเอาภาพถ่ายมาจัดแสดงเป็นผลงานศิลปะ โดยศิลปินชาวสงขลาเช่นเดียวกัน ทำให้ได้ผลงานที่มาจากความต้องการของคนในจริงๆ โดยตลอดกระบวนการจะมีการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกับเครือข่ายช่างภาพจากกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการยกระดับ ขยายเครือข่ายวงการสร้างสรรค์ ให้เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นต่อไป


รากเหง้าคนสงขลา
สงขลาบ่อยางเป็นเมืองสำคัญอย่างมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางความเจริญของภาคใต้ แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินยังเสด็จฯ มาที่นี่หลายพระองค์ มีผู้คนทั่วทุกสารทิศ ทั้งไทย จีน มุสลิม แวะเวียนเข้ามาไม่ขาดสาย จนเกิดเป็นสังคมย่อยๆ หลอมรวมกลายเป็นสังคมใหญ่แม้จะผ่านมานับร้อยปี แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ก็ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับผู้คนที่แม้จะหลากเชื้อชาติ วัฒนธรรม หลายความเชื่อ แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ส่งผลให้สงขลาเป็นดินแดนแห่งความสุขดังเช่นในวันวาน

หับ โห้ หิ้น
จากโรงสีข้าวสู่ภาคีสงขลา

ในอดีตเมื่อเรือสินค้าแล่นเข้ามาเทียบท่าที่สงขลา สิ่งแรกที่เห็นเด่นเป็นสง่าคือปล่องไฟของโรงสีแดง โรงสีข้าวแห่งนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2457 โดยขุนราชกิจการีย์ ชื่อ ‘หับ โห้ หิ้น’ เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน หมายถึง สมานฉันท์อันเจริญรุ่งเรือง แต่ผู้คนมักเรียก ‘โรงสีแดง’

ยุคการค้าทางทะเลรุ่งเรือง สงขลาเคยมีถึง 7 โรงสี ส่งออกข้าวจากพื้นที่รอบทะเลสาบไปทั้งในและต่างประเทศ โดยโรงสีแดงมีกำลังสีสูงสุด ทำงานทั้งวันทั้งคืน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงสีถูกยึดเป็นคลังเก็บเวชภัณฑ์ของกองทัพญี่ปุ่น ต่อมากิจการสีข้าวซบเซาลงจึงใช้เป็นโกดังเก็บยางพารา ก่อนปรับเปลี่ยนเป็นท่าเทียบเรือประมงขนาดเล็ก

เมื่อถึงรุ่นของรังษี รัตนปราการ ได้เห็นความสามัคคีของกลุ่มคนที่ช่วยกันพัฒนาเมือง จึงยกพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นที่ตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม ทำงานขับเคลื่อนสงขลาสู่เมืองมรดกโลก รวมทั้งจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ ทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจจนถึงปัจจุบัน


300 ปีวัดกลาง
ศรัทธาที่ไม่เคยจางของคนบ่อยาง

วัดที่สำคัญสุดของชาวพุทธจังหวัดสงขลา คงไม่พ้นวัดมัชฌิมาวาส หรือวัดกลาง เพราะที่นี่เคยเป็นสถานที่รับเสด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายผู้ใหญ่หลายพระองค์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา โดยกรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นผู้ประทานนาม ‘มัชฌิมาวาส’

วัดกลางสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อวัดยายศรีจันทน์ ตั้งตามนามของคหบดีที่อุทิศเงินสร้างให้ แต่ที่เรียกกันว่าวัดกลาง เพราะตั้งอยู่ระหว่างวัดเลียบกับวัดโพธิ์ วัดแห่งนี้เป็นเคารพสักการะของบรรดาเจ้าเมือง ต่างพากันปฏิสังขรณ์จนวัดสวยงาม โดยเฉพาะอุโบสถ ซึ่งใช้ช่างหลวงจากกรมช่างสิบหมู่ร่วมบูรณะกับช่างพื้นถิ่น โดยมีต้นแบบจากอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าพุทธประวัติ และเรื่องราวของเมือง ตั้งแต่ยุคหัวเขาแดง

ปัจจุบันที่นี่มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส รวบรวมข้าวของในเมืองสงขลาเกือบ 5,000 ชิ้น โดยมีพระราชศีลสังวร (ผ่อง จิรธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส


สันติสุข บ้านบน
ศูนย์รวมใจมุสลิมชาวสงขลา

ชาวมุสลิม นับเป็นอีกกลุ่มวัฒนธรรมที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเมืองสงขลา ตั้งแต่ยุคหัวเขาแดงจนมาถึงแหลมสน เมื่อมีการย้ายเมืองมาที่บ่อยาง คนกลุ่มนี้จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณชุมชนบ้านบน และมีการก่อสร้างมัสยิดขึ้นเมื่อปี 2390

ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทย คล้ายกับวิหารของวัดพุทธ เพราะใช้ช่างชุดเดียวกันจากกรุงเทพฯ ที่บูรณะวัดกลาง นำโดยโต๊ะหมัด และโต๊ะมะ เล่ากันว่าสร้างมัสยิดแล้วทั้งคู่ได้แต่งงานกับคนในชุมชน ในอดีตที่นี่เคยเป็นมัสยิดประจำจังหวัดสงขลา รัชกาลที่ 5 พระราชทานทรัพย์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์ ต่อมารัชกาล 6 พระราชทานโคมไฟเครื่องสังเค็ดงานพระเมรุรัชกาลที่ 5 ให้แก่มัสยิด เช่นเดียวกับมัสยิดสำคัญในกรุงเทพฯ

ศาสนสถานแห่งนี้เปิดกว้างให้คนทุกศาสนาใช้ประโยชน์ เช่นบ้านไหนน้ำไม่ไหล ก็ขอเข้ามาตักน้ำที่บ่อด้านในได้ โดยปัจจุบันมี ฮัจยีสมศักดิ์ หวันหล๊ะเบ๊ะ เป็นอิหม่าม ซึ่งเลือกจากบุคคลที่มีประสบการณ์ทางศาสนา และเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน


คารวะ เซ่ง ห๋อง เหล่า เอี้ย
เทพเจ้าแห่งศาลเจ้าพ่อหลักเมือง

ชาวจีนไปที่ใดก็จะสร้างศาลเจ้าไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองแห่งใหม่ที่ฝั่งบ่อยางเมื่อปี 2385 ลักษณะเป็นเก๋งจีน โดยรัชกาลที่ 3 พระราชทานไม้ชัยพฤกษ์ และเทียนชัยเพื่อสร้างศาลหลักเมือง โดยครั้งนั้นเจ้าเมืองสงขลาได้จัดขบวนแห่ และงานมหรสพต่างๆ อาทิโขนร้อง งิ้ว โนรา เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่

ต่อมาได้อัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมือง หรือ ‘เซ่งห๋องเหล่าเอี๋ย’ เป็นเทพคุ้มครองเมือง คอยดูแลประชาชนให้มีความสุข ทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จะมีงานสมโภชประจำทุกปี

ปัจจุบันศาลเจ้าพ่ออยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมฮกเกี้ยนสงขลา มีการบูรณะสม่ำเสมอ อย่างเมื่อปี 2540 ได้ซ่อมแซมครั้งใหญ่ โดยมี สมบัติ เหาตะวาณิชย์ เข้ามาเป็นกำลังหลัก ดูแลเรื่องระบบไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด โดยไม่คิดมูลค่าใดๆ เพราะผูกพันและศรัทธาในที่แห่งนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์


เมืองการค้าสองทะเล
สงขลาได้ชื่อว่า ‘เมืองสองทะเล’ เพราะขนาบด้วยอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลามีเรือสินค้าเข้ามาเทียบท่าอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคมีความทันสมัยอู้ฟู่ในช่วงร้อยปีที่แล้ว เกิดกิจการใหม่ๆ ขึ้นมากมาย สอดรับกับความเจริญของเมือง แม้ช่วงหลังการค้าทางทะเลซบเซาลง เพราะทิศทางการคมนาคมเปลี่ยนจากทางน้ำไปสู่ถนนและทางรถไฟแต่ก็มีธุรกิจใหม่อย่างประมงเจริญเข้ามาแทนที่ เช่นเดียวกับสถานที่สำคัญทางราชการก็ยังคงอยู่ที่นี่ไม่น้อย นำไปสู่การผสมผสานระหว่างอาชีพยุคเก่าและยุคใหม่ สะท้อนภาพของเมืองแห่งนี้ในแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี

เปิดลิ้นชัก งี่เทียนถ่อง
ร้านยาจีนยุคบุกเบิก

กว่าร้อยปีแล้วที่ร้านยาจีนแห่งนี้ เป็นที่พึ่งของคนสงขลายามเจ็บไข้ ยิ่งคนมีบุตรยาก มาที่นี่รับรองว่าได้ผล

รุ่นทวดเป็นหมอยาชาวจีนแคะ เมื่อเปิดร้านใช้ชื่อว่า ‘ตั้นยี่เทียนต๋อง’ เป็นภาษาฮกเกี้ยน เพราะยุคนั้นในสงขลามีคนฮกเกี้ยนเยอะ โดยสั่งยามาจากเยาวราช มีหมอแมะคอยตรวจอาการ กิจการรุ่งเรืองถึงขั้นต้องตามบุตรชายจากเมืองจีนให้มาช่วย ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘งี่เทียนถ่อง’ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ชาวจีนแคะ

เมื่อเข้ามาในร้านเหมือนย้อนเวลากลับไปในอดีต ข้าวของต่างๆ เช่น ตาชั่งหรือลิ้นชักยาล้วนตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นทวด ที่สำคัญเป็นร้านยาจีนแห่งเดียวที่เหลือในย่านเมืองเก่า

ตี๋-เตชธร ตันรัตนพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 บอกว่า ร้านอยู่ได้ด้วยศรัทธาของลูกค้าที่นำยาจีนไปรักษาแล้วได้ผล ในอนาคตมีแผนจัดทำตำรายาเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงง่ายขึ้น โดยหวังให้ร้านอยู่คู่กับเมืองสงขลาไปอีกนาน


สิน อดุลยพันธ์
ข้าวเกรียบอันดับ 1 ที่คุณต้องลอง

ก่อนกลับจากสงขลา อย่าลืมแวะสิน อดุลยพันธ์ เพราะที่นี่คือร้านของฝากขึ้นชื่อที่อยู่คู่เมืองเก่ามานานเกือบร้อยปี

เดิมทีร้านแห่งนี้ขายผ้า รองเท้า และของชำ พอมาถึงรุ่นยายจึงเปลี่ยนมาขายอาหาร เมื่อปี 2466 โดยชื่อสิน อดุลยพันธ์มาจากชื่อนามสกุลบิดาของป้าแอ๊ด-ฉววรนา อดุลยพันธ์ ทายาทรุ่นที่ 3

สินค้าเด่นมีทั้งลูกหยี น้ำบูดู น้ำพริกเผา น้ำจิ้ม น้ำซีอิ๊ว กุ้งแก้ว มังคุดกวน สมัยก่อนทางร้านจะใส่กล่องโลหะคล้ายปี๊บ นำมาวางเรียงบนชั้นสวยงาม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ขวด กระปุก ถุง ซึ่งสะอาดสะดวก และทันสมัยขึ้น

แต่ของที่พลาดไม่ได้ คือ ‘ข้าวเกรียบ’ ที่เคยคว้ารางวัลของฝากอันดับ 1 ของประเทศในยุคนั้น โดยจุดเด่นอยู่ที่วัตถุดิบ เช่น ข้าวเกรียบปลาใช้ปลากะพงเท่านั้น ส่วนข้าวเกรียบกุ้งใช้กุ้งหางแดงหรือกุ้งแชบ๊วย นำมาผลิตอย่างประณีต เน้นคุณภาพ และใช้คนทำเป็นหลัก เพราะเคยทดลองใช้เครื่องจักรแล้วแต่ไม่อร่อยเหมือนเดิม


สามล้อคู่เมืองเก่า
แท็กซี่ยุคบุกเบิกของคนสงขลา

ภาพรถสามล้อที่ยังคงวิ่งกันเต็มถนนนครใน-นครนอกยังคงเป็นที่จดจำของผู้คนในย่านเมืองเก่าสงขลาไม่เปลี่ยนแปลง แม้วันนี้จะหลงเหลือรถสามล้อเพียงไม่กี่คันก็ตาม

รถสามล้อที่นี่เป็นการผสมผสานรถลากกับรถจักรยานเข้าไว้ด้วยกัน เป็นเสมือนแท็กซี่ของคนยุคก่อน เดิมทีจะมีคิวรถอยู่ตามตลาดสด โรงเรียนต่างๆ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน สามล้อก็เริ่มเสื่อมความนิยม หากยังมีบางคนที่ยืนหยัดทำอาชีพนี้ เช่นลุงแจ้ว ชูสวัสดิ์ ขี่มานานกว่า 30 ปี แกบอกว่าสามล้อเป็นยานพาหนะสำหรับเมือง ปั่นช้าๆ ไม่เดือดร้อนใคร แถมผู้โดยสารยังได้ชมเมืองแบบใกล้ชิดอีกด้วย ปัจจุบันมีลูกค้าประจำบ้าง โดยค่าบริการนั้น ‘แล้วแต่จะให้’ แต่ปัญหาคืออาจหาตัวลุงยากหน่อย เพราะลุงไม่ใช้โทรศัพท์ ปกติจะมาจอดนั่งเล่นหรือรอลูกค้าบริเวณหน้าร้านน้ำชาฟุเจา

ลุงบอกว่า งานนี้ทำให้ชีวิตสนุกขึ้น ได้พบปะผู้คนหลากหลาย บางคนเข้ามาขอถ่ายรูป ถือเป็นอาชีพที่มีคุณค่าอย่างมาก


‘เกิดกับเรือ ตายกับเรือ’
ปณิธานของทรายนาวี

หลังทางรถไฟไปหาดใหญ่สร้างเสร็จเมื่อปี 2521 การค้าในเมืองสงขลาจึงซบเซาลง เป็นโอกาสให้ธุรกิจใหม่ๆ อย่างประมงเข้ามาแทนที่ ว่ากันว่ายุคเฟื่องฟูเคยมีเรือมาเทียบท่าถึง 500 ลำเลยทีเดียว

ท่าเรือทรายนาวี เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกิจการนี้ ดำเนินงานมาแล้ว 40 ปี ตั้งแต่รุ่นพ่อมาจนถึงบุตรสาว ปุ๋ย-ช่อผกา แซ่เห้ง เดิมทีคุณพ่อเป็นชาวสุราษฎร์ธานี ทำประมงพื้นบ้านเล็กๆ ก่อนย้ายมาอยู่สงขลา และค่อยๆ ขยายกิจการจนมีเรือลากอวนหลายลำ

ปุ๋ยเติบโตมาพร้อมกับเรือ เรือลำแรกพ่อซื้อตอนที่แม่กำลังท้องพอดี เมื่อเรียนจบก็มารับช่วงต่อ ที่ผ่านมาแม้มีอุปสรรค แต่ไม่เคยคิดทิ้งอาชีพนี้ เพราะคิดเสมอว่า “เกิดกับเรือ ก็ต้องตายกับเรือ”

หลังเมืองเก่าเริ่มฟื้น ปุ๋ยจึงคิดต่อยอดธุรกิจ เปิดร้าน Café Der See นำสัตว์น้ำที่จับได้มาทำอาหาร จึงมั่นใจได้เรื่องความสด สะอาด ปราศจากสารเคมี และอนาคตก็อยากทำอาหารแปรรูปเพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสกับอาหารทะเลสงขลามากขึ้น


โชคทวี
ร้านนาฬิกาที่อยู่เหนือกาลเวลา

นาฬิกาเรือนเล็กใหญ่ เรียงรายอยู่เต็มร้าน แต่ใครจะเชื่อว่าเดิมทีร้านนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการขายเครื่องเขียน และของจิปาถะ

เรื่องเริ่มต้นเมื่อบรรดาเด็กนักเรียน ลูกค้าประจำมาไหว้วานให้ลุงประเสริฐ เรี่ยวธรรมรัฐ ซ่อมนาฬิกาให้ แรกๆ ซ่อมไม่เป็น ลุงก็เลยไปยืนดูช่างนาฬิกาว่าเขาทำอย่างไร ใช้วิธีครูพักลักจำ กระทั่งซ่อมเป็น ตอนหลังมีคนขอให้ช่วยบ่อยๆ ก็เลยนำสายหนัง ตัวเรือน เข้ามาขายด้วย พอทำไปเรื่อยๆ จึงเปลี่ยนเป็นร้านนาฬิกาเต็มตัว

แม้วันนี้ยุคสมัยเปลี่ยน คนใช้สมาร์ทวอทช์มากขึ้น แต่จิ๋ว-สาธิมน ลูกสาวลุงประเสริฐ บอกว่า ร้านก็พอประคองตัวไปได้ เพราะยังมีคนชอบนาฬิกาคลาสสิกอยู่ไม่น้อย มีลูกค้านำนาฬิกามาเปลี่ยนสาย ให้ช่วยดูแลอยู่เรื่อยๆ ส่วนสำคัญมาจากความผูกพันและความเชื่อใจที่มีให้กันมาอย่างยาวนาน


เสน่ห์อาหารถิ่น
ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหนของเมืองเก่า คุณจะพบเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ในจานอาหารเรื่องราวความอร่อยที่หลากหลาย อันเกิดจากผู้คนหลากวัฒนธรรม นำอาหารของตนมาเผยแพร่ มีทั้งสูตรไทยพื้นบ้านปักษ์ใต้ สูตรจีน สูตรมุสลิม ไปจนถึงจานใหม่ๆ ที่เกิดจากการผสมผสานกันจนเป็นอาหารเฉพาะถิ่นของสงขลาเรื่องราวของการต่อสู้ พลิกแพลง ปรับปรุง ก่อนจะกลายเป็นสูตรเด็ดเคล็ดลับที่สืบทอดกันมาในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น และปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยเรื่องราวของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งทะเล ภูเขา ป่า ที่กลายมาเป็นวัตถุดิบ และทำให้อาหารของสงขลาพิเศษกว่าที่ไหนๆ และทั้งหมดคือเรื่องราวของจานเด็ดที่มีดีมากกว่าความอร่อย

เกียดฟั่ง
ข้าวสตูหลอมรวมใจ มาช้าอด!

ข้าวสตูเลื่องชื่อ อยู่คู่ถนนนางงามมากว่า 80 ปี ต้นตำรับมาจาก โกลัก ญาติรุ่นก๋งที่เคยเป็นพ่อครัวในเรือฝรั่งช่วงสงครามโลก เมื่อมาที่สงขลาจึงนำสตูมาปรับสูตร ใช้กะทิแทนเนย ใช้เครื่องสมุนไพรจีนเพิ่มความหอม กลายเป็นข้าวสตูที่ผสมผสานวัฒนธรรม อังกฤษ-จีน-ไทย อย่างลงตัว

ว่ากันว่าใครอยากกินต้องรีบมา เพราะไม่ถึงบ่ายก็หมดเกลี้ยงแล้ว จุดเด่นคือน้ำซุปที่เข้มข้นหอมมันรสกลมกล่อม ใส่เนื้อหมู เครื่องใน กุนเชียง และหมูกรอบ กินกับข้าวสวยร้อนๆ ตัดรสด้วยน้ำจิ้มน้ำส้มโตนด อร่อยจนยากจะลืมเลือน นอกจากนี้ยังมีซาลาเปาลูกโต ซึ่งเกิดจากยุคสงครามผู้คนลำบาก ทางร้านจึงทำให้แบ่งกินกันได้ทั้งครอบครัว

ปัจจุบัน หล่าน-ธนธร ศิริคติธรรม รับช่วงดูแลต่อ หล่านช่วยงานมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนจบเคยอยากไปทำงานบริษัท แต่คุณพ่อขอให้กลับมาโดยให้ค่าจ้างมากกว่า ท่านอธิบายว่าหากในอนาคตยังมีร้านอยู่ เวลารวมญาติทุกคนจะมาที่นี่ ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริงๆ


แต้เฮียงอิ้ว
จากหาบพะโล้ สู่อาหารไทยสไตล์จีนแต้จิ๋ว

จีนแต้จิ๋ว เป็นคนอีกกลุ่มที่เข้ามาตั้งรกรากในสงขลา และนำวัฒนธรรมอาหารมาเผยแพร่  ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ‘ร้านแต้’ ซึ่งเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองมานาน

เตี่ยของน้าเอียด - ชไมพร พงษ์สุขเจริญกุล หนีความแร้นแค้นจากเมืองจีนมาหาบพะโล้ขาย เก็บเงินจนเปิดร้านอาหารเล็กๆ เมื่อราว 80 ปีที่แล้ว ขายอาหารจีนหลากหลาย โดยมีสมาชิกครอบครัวคอยช่วยกันทำ ต่อมาในรุ่นพี่สาวคนโตได้ตั้งชื่อร้านว่า ‘แต้เฮียงอิ้ว’ ตามชื่อแซ่ โดยลดเมนูเหลือแค่เป็ดพะโล้ และหันมาเน้นอาหารไทยและจีนมากขึ้น

รสชาติของร้านนี้ไม่จัดจ้านแบบอาหารใต้แท้ แต่ก็ไม่จืดแบบจีน เมนูประเภทปลาและอาหารทะเลจะโดดเด่นเป็นพิเศษ ตามความเชี่ยวชาญของคนแต้จิ๋ว เน้นใช้วัตถุดิบสดใหม่จากทะเลสาบสงขลา อาหารจานเด็ดคือพะโล้เป็ด พะโล้หมูแดง ผัดผักบุ้ง ยำเต้าหู้ยี้ ยำมะม่วง ปลากระบอกทอด ปลากระพงทอด ต้มยำแห้ง ใครมาชิมก็ล้วนติดใจทุกราย จึงเป็นร้านที่ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองอยู่เสมอ


ไอศกรีมถั่วเขียว 90 ปี
บันหลีเฮง

ไอศกรีมที่บ่งบอกถึงความช่างคิด เดิมบันหลีเฮงขายน้ำชา กาแฟ ขนมจีบ ซาลาเปา และไอศกรีมกะทิ ในรุ่นที่ 2 จิ้งเลี้ยน แซ่โฮ่ พ่อของนกเขา-ไชยวัฒน์ อัครวิเนค นำถั่วเขียวต้มมาราดลงในไอศกรีมจนลูกค้าติดใจ กลายเป็นของขึ้นชื่อ

รุ่นปู่เป็นชาวฮกเกี้ยน อพยพมาขายน้ำชาและรับซื้อยาที่หาดใหญ่ ก่อนเปิดร้านที่สงขลาเมื่อปี 2473 โดยใช้ชื่อว่า ‘บันหลีเฮง’ หมายถึง มีโชคมีลาภเป็นหมื่นๆ

วัตถุดิบใช้ของท้องถิ่น เมล็ดถั่วเขียวคัดสรรอย่างดี ถั่วลิสงนำมาตากแห้งและคั่วเอง เครื่องเคียงเลือกของที่มีคุณภาพ ทำไอศกรีมวันต่อวัน รสชาติหวานหอม กินแล้วสดชื่นแถมราคาไม่แพง เดิมมีไอศกรีมถั่วเขียวและไข่แข็ง พอมาถึงรุ่นนกเขาจึงทำรสวานิลลา และหวานเย็นลิ้นจี่ ให้เลือกเพิ่ม

ทุกวันนี้มีลูกค้าอุดหนุนสม่ำเสมอ แต่ตอบไม่ได้ว่าจะขายอีกนานเท่าไร เพราะลูกๆ เติบโตมีหน้าที่การงานดีแล้ว นกเขาบอกว่าจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าไม่ไหว


ฮับเซ่ง
สโมสรยามเช้าของชาวเมืองเก่า

สภากาแฟยามเช้าที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา พ่อแม่ของป้าบ่วย-ยุพิน เกียรติโชติชัย เป็นชาวจีนไหหลำ ย้ายถิ่นฐานมาที่สงขลา ตั้งร้านขายชา กาแฟ ขนมปังสังขยา มาตั้งแต่ 90 ปีที่แล้ว ชื่อร้านแปลว่า ‘รวมกันก่อให้เกิดความสำเร็จ’ ในอดีตเป็นร้านเดียวที่ขายอาหารเช้า จึงขายดีมาก เปิดตั้งแต่เช้าจนดึก กลางคืนขายเหล้าด้วย แต่ปัจจุบันเหลือช่วงเช้าเพียงอย่างเดียว

จุดเด่นคือขนมปังสังขยาสูตรไหหลำ สืบทอดตั้งแต่รุ่นพ่อ ใช้ไข่ น้ำตาล กะทิ ผสมกันและเคี่ยวจนงวด จะได้สังขยารสหวานมันสีน้ำตาล ทาบนขนมปังแผ่นเล็กสูตรโฮมเมดสั่งจากร้านเจ้าประจำ หรือจะสั่งมาจิ้มกับขนมปังชุบไข่ก็อร่อย กินกับชากาแฟรสเข้มกลิ่นหอม เข้ากันอย่างลงตัว

เสน่ห์อีกอย่างคือบรรยากาศในร้าน ที่คนสงขลามานั่งจับกลุ่มสนทนากัน แต่หลังจากรุ่นป้าบ่วยอาจไม่เห็นอีกแล้ว เพราะไม่มีทายาทมาสืบทอดต่อ

ปกติแล้วบ้านหลังที่เปิดร้านอยู่ตอนนี้ ไม่ปล่อยให้ใครเช่า แต่เพราะเจ้าของชอบเต้าคั่วป้าเอียดมาก จึงยอมให้หมีเช่าและสืบทอดกิจการทำเต้าคั่วต่อไป


ขนมไทย จงดี
ทองเอก สัมปันนี สไตล์สงขลา

ทองเอก สัมปันนี ไม่ใช่ขนมพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่คนสงขลานำมาพัฒนาสูตรจนกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อ เดิมมักจะกวนขนมชนิดนี้ให้ลูกหลานกินในบ้าน สิ่งที่แตกต่างจากทองเอกกรุงเทพฯ คือใช้แป้งข้าวเหนียวแทนแป้งสาลี เนื้อจึงเหนียวนุ่ม แต่คลายตัวง่ายเมื่ออากาศร้อน ทำให้ต้องห่อด้วยกระดาษ

ร้านจงดี เริ่มต้นจากป้าจงดี อ่องไพบูลย์ ได้สูตรมาจากเจ้าของร้านพืชผลที่เคยรับประทานขนมชนิดนี้จากเมืองหลวง จึงมาสอนให้ป้าฝึกทำ ปรับปรุงจนหอมอร่อยและตัดสินใจเปิดร้าน

ขนมทองเอกของจงดีจะเหนียว นุ่ม ไม่หวานเลี่ยน หอมกลิ่นไข่แดง ส่วนขนมสัมปันนีจะกรอบนอกนุ่มใน หวานอร่อย ไม่ใส่สีและกลิ่น กวนจนได้ที่แล้วตากแดดจนแห้ง นอกจากนี้ยังมีขนมขี้มอดรสหวานมันที่เด็กๆ ชอบ ความอร่อยเกิดจากการคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพดีและทำอย่างใส่ใจ

ปัจจุบันป้าส่งต่อกิจการให้ลูกสาวดูแล ร้านนี้ไม่เคยหวงความรู้ มักการถ่ายทอดเรื่องราวขนมท้องถิ่นให้กับคนรุ่นใหม่เป็นประจำ


โรตีอาม่า-น้ำชาอาก๋ง
ลูกมืออาหมวย

สิ่งที่สะดุดตามากที่สุด คือภาพคนไทยเชื้อสายจีนทำโรตี เพราะส่วนใหญ่อาชีพนี้มักเป็นชาวไทยมุสลิม แถมยังมีหลานสาวตัวน้อยนวดโรตีแคล่วคล่อง เพราะอาม่าให้มาช่วยตั้งแต่เด็ก

สมัยสาวๆ อาลี ธรานุสนธิ์ เคยทำไร่ทำนา พอมาพบรักกับอาก๋ง ชาวฮกเกี้ยน จึงช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัว ในปี 2500 เริ่มขายข้าวแกง น้ำชาและขนมปังอบไอน้ำ กระทั่ง 30 ปีก่อน ลูกสาวไปเรียนทำโรตี จึงกลับมาฝึกกับอาม่าเพื่อขายหน้าบ้าน ทุกวันอาก๋งจะชงน้ำชา อาม่าผัดโรตี ลูกชายจึงตั้งชื่อร้านว่า ‘โรตีอาม่า-น้ำชาอาก๋ง’

ร้านนี้ขายตอนเย็น ตั้งโต๊ะริมถนน กินไปคุยไปได้สบายใจ โรตีมีทั้งแบบนุ่ม กรอบ ใส่ไข่ ไปจนถึงไส้กล้วย ลูกเกด ข้าวโพด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ฝอยทอง ความอร่อยมาจากคุณภาพวัตถุดิบ เพราะทำแป้งโรตีเองวันต่อวัน ใบชาเลือกที่ไม่ใส่สี คัดสรรแต่ของดีเท่านั้น


ภารกิจรื้อฟื้น บูตู
ขนมโบราณที่หายไป

ขนมท้องถิ่นของชาวมุสลิมภาคใต้ เนื้อสีขาว ทรงกลมแบน มีไส้น้ำตาลโตนดกับน้ำตาลทราย เสิร์ฟมาพร้อมมะพร้าวขูด เวลาเคี้ยวจะสัมผัสได้ถึงเนื้อแป้งที่นุ่มละมุน รสหอมหวานมัน

ช่วงหนึ่งขนมบูตูหายไปจากสงขลาเพราะไม่มีคนทำอีกแล้ว กระทั่งช่วงปิดเทอมสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ชยุต ตะทวี มีโอกาสนั่งคุยกับคุณย่าอายุ 90 ปี ถึงเรื่องอาหารมุสลิมรุ่นโบราณ เขารู้สึกสะดุดใจกับขนมบูตู จึงขอให้คุณย่าช่วยเล่าวิธีการทำ ก่อนจะมาฝึกและให้ญาติๆ ชิมจนมั่นใจว่า นี่คือรสชาติดั้งเดิมที่เคยกินกันมาในอดีต

ชายหนุ่มตัดสินใจเปิดร้านขายขนมบูตูที่หน้าบ้านคือ ร้านพรพานิช ซึ่งในอดีตเป็นร้านขายของชำที่ทุกคนรู้จักดี แต่จะขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะปกติเขารับราชการอยู่ที่ปัตตานี

การฟื้นคืนกลับมาของขนมบูตู ทำให้คนเมืองเก่ามีความสุข ที่ได้กลับมาพบกับรสชาติในวันวานอีกครั้ง


ศิลปินแห่งซิงกอรา
แม้โดยรากฐานจะเป็นเมืองแห่งการค้าขาย แต่คนสงขลาก็มีศิลปะในหัวใจไม่แพ้เมืองอื่นๆที่นี่มีทั้งนักพากย์ จิตรกร ช่างภาพ ผู้เชี่ยวชาญศิลปะแขนงต่างๆ และยังมีพื้นที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นหลายแห่งเพื่อรับรองศิลปินรุ่นใหม่ที่ต้องการนำเสนอผลงานหรือแลกเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติร่วมกันตลอดหลายปี ศิลปินในเมืองเก่าเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ช่วยนำเสนอภาพสงขลามุมใหม่ จากเมืองที่ไม่ถูกเหลียวแลให้กลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ เปี่ยมด้วยสีสัน และดึงดูดให้คนในพื้นที่ รวมทั้งผู้คนภายนอกอยากเข้าใจและรู้จักมากยิ่งขึ้น

เหินฟ้า
ราชานักพากย์หนังจีนแห่งแดนใต้

ยุคที่ภาพยนตร์ยังไม่มีระบบเสียงในฟิล์ม ต้องอาศัยการพากย์สด ‘นักพากย์’ ถือเป็นอาชีพสำคัญ นักพากย์เก่งๆ มักหยิบเหตุการณ์ขณะนั้นมาสร้างอรรถรส จะพากย์ให้ผู้ชมตื่นเต้นหรือหัวเราะกรามค้างก็ทำได้

นักดูหนังรุ่นเก๋าชาวสงขลา คงไม่มีใครไม่รู้จัก จักรกฤษณ์ ภัทรนิตย์ ที่รู้จักกันดีในชื่อ เหินฟ้า นักพากย์ระดับตำนาน ยุคหนึ่งเขาเดินสายไปโรงภาพยนตร์กว่า 500 แห่งในภาคใต้ พากย์สดวันละ 3 รอบ รับเหมาคนเดียวแทบจะทุกเรื่อง โดยหนังที่สร้างชื่อคือ หนังจีน พากย์เมื่อใดคนเต็มทุกรอบ

จักรกฤษณ์เคยทำงานวาดโปสเตอร์โรงหนัง พอเห็นนักพากย์หนังแล้วประทับใจ จึงใช้วิธีครูพักลักจำ แอบซ้อม และขอเขาพากย์หนังตัวอย่าง สั่งสมประสบการณ์จนกลายเป็นนักพากย์เต็มตัว

เหินฟ้าหยัดยืนอยู่ในวงการเกือบ 20 ปี กระทั่งการพากย์สดลดความนิยมลง จึงวางไมค์หันไปเป็นไกด์ทัวร์ ปัจจุบันเปิดร้านชื่อ อินทรา ขายโปสการ์ดภาพเมืองสงขลาในอดีต ตั้งใจอยากให้คนรุ่นหลังรู้จักประวัติศาสตร์ของเมือง หรือถ้าใครรู้จักโลกของนักพากย์ เขาก็พร้อมเล่าให้ฟังด้วยความยินดี


แรงบันดาลใจจากแสตมป์
สู่ ‘เสนีย์’ ศิลปินภาพเหมือน

ใครเดินผ่านไปแถบถนนปัตตานี คงจะคุ้นภาพอาจารย์เสนีย์ เกื้อหนุน นั่งแต้มสีน้ำมันบนเฟรมผ้าใบหน้าบ้าน ผลงานส่วนใหญ่เป็นภาพเหมือนบุคคล สไตล์คลาสสิก สวยงามมีชีวิตชีวา

เสนีย์หลงใหลการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพลายเส้น รัชกาลที่ 9 บนแสตมป์ จึงฝึกวาดทุกวัน ระหว่างเรียนก็รับวาดภาพไปด้วย หลังจบจากโรงเรียนเพาะช่าง เคยทำงานวาดโฆษณาภาพยนตร์ ก่อนกลับบ้านมารับราชการครู สอนศิลปะที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ

ปี 2547 พ่อกับแม่ไม่สบายพร้อมกัน จึงลาออกมาดูแล และเปิดบ้านรับวาดภาพเหมือน ด้วยเป็นคนทำงานอย่างพิถีพิถัน ก่อนวาดต้องหาข้อมูลและศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ภาพออกมาเหมือนจริงที่สุด ใช้อุปกรณ์และสีคุณภาพดีให้ภาพอยู่คงทน ไม่แปลกเลยที่มีลูกค้านำภาพมาให้เขียนอยู่เสมอ บ้างก็ติดต่อให้ไปถ่ายทอดความรู้

สำหรับอาจารย์แล้ว ไม่มีวันไหนที่ไม่อยากจับพู่กัน เพราะนี่คืองานแห่งความสุขที่อยากทำจนถึงวันสุดท้าย


a.e.y.space
พื้นที่สร้างสรรค์ในอาคารเก่า

a.e.y.space คือ พื้นส่งเสริมงานศิลปะแห่งสำคัญของเมืองเก่า ทั้งจัดแสดงดนตรีสด ฉายภาพยนตร์ จัดนิทรรศการ และกิจกรรมสร้างสรรรค์หลายรูปแบบ ดูแลโดย เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล

เอ๋เรียนจบด้านการออกแบบที่นิวยอร์ก กลับมาทำธุรกิจประมงของครอบครัวประมาณ 5 ปี ก่อนออกมาเปิดกิจการรับออกแบบกราฟิก-สื่อโฆษณา ชื่อ Print up

วันหนึ่งเขาซื้ออาคารเก่าจากแนะนำของ นพดล ขาวสำอางค์ ช่างภาพชื่อดัง เป็นตึกแถวจีนผสมยุโรป สร้างในยุคที่ถนนนางงามอู้ฟู่ทางการค้าที่สุด คูหาหนึ่งคือร้านหน่ำเด่า ภัตตาคารจีนที่ใช้จัดเลี้ยงแต่งงานหรืองานสังสรรค์ในยุคอดีต อีกคูหาเคยเป็นที่ตั้งร้านน้ำชาฮับเซ่ง ความตั้งใจแรก เอ๋อยากเก็บอาคารเก่าไว้ โดยไม่แน่ใจว่าจะใช้ทำอะไร แต่นพดลชวนให้เปิดเป็น Artspace พร้อมตั้งชื่อที่นี่ว่า a.e.y.space

กิจการแห่งนี้ไม่ได้แสวงหาผลกำไร เอ๋ทำเพราะความสุข ด้วยทุนส่วนตัว มีศิลปินในพื้นที่และต่างถิ่นแวะเวียนมาสร้างสรรค์งานต่อเนื่อง จากนั้นเริ่มขยายมาทำงานร่วมกับเมืองและชุมชน

ความโดดเด่นอีกอย่างคือ เป็นตัวอย่างให้เจ้าของอาคารเก่าหลายๆ หลังเห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ และปรับใช้ให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Titan Project Space
ความทรงจำจากยายถึงหลาน ผ่านศิลปะสมัยใหม่

Titan Project Space เกิดจากความตั้งใจของป๊อก-กอบลาภ ไทยทัน ที่ต้องการเล่าความทรงจำของเขาและครอบครัวที่มีกับเมืองสงขลาผ่านสถานที่แห่งนี้

2-3 ปีก่อน ป๊อกซื้อบ้านเก่าที่ถนนนครนอก เพื่อปรับปรุงเป็นพื้นที่เก็บงานศิลปะ แต่บ้านกลับถล่มลงมา ทำให้เกิดความคิดที่จะสร้าง Memory Museum หรือ พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ เล่าเรื่องราวของครอบครัว ตั้งแต่สมัยคุณยายอพยพจากเมืองจีนมาตั้งรกรากเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยมีเอกสารชิ้นสำคัญคือไดอารีของคุณยายที่เขียนเป็นภาษาจีนผสมไทย

เนื้อหาหลักจะพูดถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม อาชีพของคนสงขลา เล่าผ่านภาพวาด และสื่อศิลปะสมัยใหม่ เน้นให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์ จับต้องได้ ซึ่งจะจดจำมากกว่าแค่ดูกับฟังอย่างเดียว ตามความถนัดของเขาที่เป็นนักออกแบบประสบการณ์อยู่แล้ว

แม้จะเปิดให้เข้าชมแล้ว แต่ยังปรับปรุงเพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2563 มีทั้งคาเฟ่ ที่พักและท่าเรือ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำกิจกรรมด้วย


ร้านศิลป์
ความทรงจำบนแผ่นฟิล์มที่ไม่เคยลางเลือน

กว่าร้อยปีที่ธุรกิจถ่ายภาพเติบโตขึ้นในสงขลา มีร้านเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่ยุคฟิล์มกระจกจนถึงดิจิทัล หนึ่งในนั้นคือ ศิลป์ โดยสองสามีภรรยา ศิลป์-นวลอำไพ เชิญสวัสดิ์

ลุงศิลป์ฝึกถ่ายรูปจากพี่ชาย และทำงานเป็นช่างภาพให้กับร้าน ‘ไทยศิลป์’ ของพี่ชาย กระทั่งปี 2523 กลับมาเปิดกิจการที่บ้านบนถนนนางงาม ร่วมกับร้านเสริมสวยของภรรยา ใช้ชื่อว่า ‘เสริมสวยอำไพ’ ต่อมาป้านวลปิดร้านเพราะมีปัญหาสุขภาพ จึงหันมาช่วยงานร้านถ่ายรูปของสามี เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ศิลป์’ รับงานถ่ายภาพในสตูดิโอและนอกสถานที่ เช่น งานถ่ายภาพรับปริญญาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ตลอด 40 กว่าปี ลุงศิลป์ได้รับความไว้วางใจให้ถ่ายภาพบุคคลในพื้นที่มากมาย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ใครรับตำแหน่งใหม่มักมาที่นี่ คุณลุงคุณป้าก็จะขอภาพมาติดผนังร้านจนเต็ม

ในยุคดิจิทัล ร้านศิลป์ก็ปรับตัวฝึกใช้คอมพิวเตอร์แต่งภาพ แต่ด้วยอายุที่ก้าวสู่เลข 8 ของทั้งคู่ ลุงศิลป์เองก็มีปัญหาการได้ยิน ในปี 2560 จึงตัดสินใจปิดกิจการ และทยอยส่งรูปที่ประดับในร้านคืนสู่เจ้าของ


นักสร้างพื้นที่ศิลปะ
ธีรพจน์ จรูญศรี

ความชื่นชอบศิลปะ ทำให้ ธีรพจน์ จรูญศรี สร้างพื้นที่งานศิลป์ให้กับเมืองเก่า มุ่งหวังให้คนสงขลาได้สัมผัสผลงานศิลปินระดับชาติ ส่งเสริมเยาวชนในด้านศิลปะ ดึงดูดคนภายนอกเข้ามา

ตามอาชีพแล้วเขาเป็นนักธุรกิจ แต่มักหาโอกาสทำงานเพื่อสังคมอยู่เสมอ เคยช่วยดูแลโครงการสวนประวัติศาสตร์ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่เริ่มจนแล้วเสร็จ วันหนึ่งเพื่อนเสนอให้ใช้พื้นที่โรงไม้เก่า ธีรพจน์จึงทำ Art Mill Songkhla ชวนเครือข่ายศิลปินมาแสดงงาน นับเป็นหอศิลป์แห่งแรกในเมืองที่เป็นของเอกชน

จากนั้นมีโอกาสฟื้นฟูอาคารเก่าติดริมทะเลสาบใจกลางเมืองให้เป็น บ้านนครนอก โดยอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ ช่วยสร้างความน่าสนใจ จนกลายเป็นย่านถ่ายรูปของคนที่มาเที่ยว

ในอนาคตเขามีโครงการทำพิพิธภัณฑ์สำหรับเรียนรู้สถาปัตยกรรมเก่าของเมือง ชื่อว่าบ้าน 168 รวมถึงผลักดันศิลปินสงขลาให้ไปแสดงงานในต่างประเทศ เพราะเพียงชื่อ ‘สงขลา’ ซึ่งเป็นบ้านเกิดได้ไปปรากฏในเวทีระดับโลก ธีรพจน์ก็ภูมิใจมากๆ แล้ว


รุ่งเรืองด้วยรุ่นใหม่
จากเมืองที่เคยเงียบเหงา ตึกเก่าถูกปล่อยทิ้งร้างเพราะผู้คนโยกย้ายไปอยู่อาศัยที่อื่น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเมืองสงขลาค่อยๆ ฟื้นกลับมามีสีสัน เป็นที่พูดถึงในหมู่นักท่องเที่ยวอีกครั้ง ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากการเข้ามาพัฒนาเมืองของคนรุ่นใหม่ชาวสงขลาคนกลุ่มนี้ได้ออกไปพบเห็นโลกกว้าง และนำไอเดียที่น่าสนใจกลับบ้าน มาปรับปรุงต่อยอดจากพื้นฐานประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของสงขลา โดยพยายามอนุรักษ์คุณค่าที่มีอยู่ดั้งเดิมไม่ให้สูญหาย กลายเป็นกิจการรูปแบบใหม่ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ดึงดูดใจให้ผู้คนอยากมาสัมผัสเมืองเก่าแห่งนี้มากขึ้น

นครในใจ
ร้านกาแฟในตึกเก่า

ร้านกาแฟเล็กๆ บรรยากาศแสนอบอุ่น บนถนนนครใน หากใครแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนอาจต้องตกหลุมรัก

Nakorn Nai Jai by Sasatorn Coffee เกิดขึ้นจากหุ้นส่วน 3 คน คือ แจง-ศศธร ศรีทองกุล, พล-วรรณวิโรจน์ อุทัยกาล และ ดิว-วาสิน กิจอิทธิโชติ ซึ่งตัดสินใจมาเปิดร้านที่นี่ เพราะสามีของแจงมีความหลังกับอาคารเก่าหลังนี้ เคยเดินผ่านทุกวันช่วงเป็นนักเรียน แถมโครงสร้างอาคารก็น่าสนใจ เนื่องจากผสมผสานหลากวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน เช่นหลังคาทรงจีน อาคารแบบยุโรป สะท้อนความเป็นพหุวัฒนธรรมของเมืองสงขลา จึงนำจุดเด่นนี้มาสร้างเป็นคอนเซ็ปต์ตกแต่งร้าน โดยเฉพาะภาพเขียนผนังชื่อ A Beauty of Blend ซึ่งเป็นภาพหญิงสาว 2 คน 2 วัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงกันด้วยกาแฟเป็นจุดขาย

ส่วนกาแฟ ที่นี่ได้รวบรวมกาแฟท้องถิ่นจากนครต่างๆ ทั่วโลกมาไว้ให้ลิ้มลอง และยังมีกาแฟไทยแบรนด์ Sasatorn Coffee ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะแจงมีความฝันอันยิ่งใหญ่อยากสร้างกาแฟคุณภาพฝีมือคนไทย ที่คนทั่วโลกยอมรับ


อ่อง อาร์ท คาเฟ่
ศิลปะกับความเก่า ความลงตัวที่ไม่เหมือนใคร

หากถามหาร้านกาแฟบรรยากาศสุดคลาสสิกในตัวเมืองสงขลา อ่อง อาร์ท คาเฟ่ น่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะรายล้อมด้วยข้าวของจากยุคคุณทวด ทั้งขวดหมึกอายุ 100 ปี ขวดเหล้าโบราณ ผสมผสานกับงานศิลปะของคนรุ่นใหม่

คาเฟ่แห่งนี้เป็นไอเดียของ เอ๋-สุประดิษฐ์ สังข์สุวรรณ อดีตนายธนาคารที่ผันตัวมาเปิดร้านที่บ้านเก่าของครอบครัว เดิมชื่อร้านอ่อง เฮียบ ฮวด นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งจีนและสิงคโปร์ จึงมีข้าวของโบราณอย่าง โอ่ง ถ้วยชาม เหรียญโบราณ ตะเกียงเจ้าพายุ เก็บไว้จำนวนมาก บวกกับเอ๋เป็นนักสะสม จึงอยากนำข้าวของเหล่านี้มาจัดแสดง ให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงพัฒนาการของเมือง

แต่กว่าจะออกมาอย่างที่เห็นนั้นไม่ง่าย เพราะเมื่อ 20 ปีก่อน ที่นี่เคยโดนพายุกระหน่ำจนเสียหาย เอ๋จึงต้องค่อยๆ รีโนเวตจนกลับมาดังเดิม เช่นเดียวกับเมนูอาหาร ซึ่งเขาพยายามเลือกของดีมีคุณภาพมาบริการ รวมทั้งมีนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจจัดแสดงอยู่เรื่อยๆ


Secret Garden
ค้นความลับในสวนมะม่วง

สวนมะม่วงบนถนนรามัญแห่งนี้ มีคาเฟ่ดีๆ ซ่อนตัวอยู่

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อน ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ กลับมาบ้านที่สงขลา แล้วถือโอกาสตระเวนหาบ้านเช่าจนมาพบตึกเก่าที่นี่ แม้ทำเลไม่ดี แต่เขากลับหลงเสน่ห์บางอย่าง เลยเปลี่ยนใจหันมาทำร้านกาแฟและเค้กแทน

หลังชวน Kabir Orlowst หุ้นส่วนชาวต่างชาติมาดูก็เห็นว่าน่าสนใจ แต่ติดปัญหาคือ มีกำแพงสูงใหญ่ปิดที่ดินไว้ ต๊อกไม่อยากรื้อออกเพราะเป็นกำแพงโบราณ พอดีช่วงที่คิดชื่อร้าน พวกเขาไปเห็นหนังสือ The Secret Garden ซึ่งมีภาพจำคือ เด็กผู้หญิงเปิดประตูมาเจอสวนมหัศจรรย์ ที่นี่เองก็มีบรรยากาศคล้ายๆ กัน คือผ่านกำแพงสูงเข้ามาแล้วถึงจะพบคาเฟ่ในสวน จึงนำมาเป็นคอนเซ็ปต์ของร้าน

ช่วงเปิดใหม่ๆ มีลูกค้าน้อย เพราะตรงนี้ไม่ค่อยมีรถผ่าน แต่พวกเขาพยายามสร้างจุดเด่นขึ้นมาด้วยการปรับสูตร Homemade Cake นำวัตถุท้องถิ่นมานำเสนอรูปแบบใหม่ กระทั่งลงตัวจนเป็นเอกลักษณ์ ดึงดูดให้ใครๆ อยากแวะมา


ร้านหนังสือเล็กๆ
แต่ความฝันนั้นยิ่งใหญ่

หลายคนคงรู้จักสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน ซึ่งพิมพ์หนังสือดีสำหรับเด็กๆ ทั้งบ้านเล็กในป่าใหญ่ หรือมูมิน บุคคลหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังผลงานเหล่านี้ คือ เอ๋-อริยา ไพฑูรย์

เดิมทีอดีตบรรณาธิการผู้นี้มีร้านหนังสืออยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ ชื่อร้านหนังสือเล็กๆ กระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อน ตัดสินใจย้ายมาที่นี่ ด้วยความคิดที่ว่า สงขลาเป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีโรงเรียนเยอะมาก แต่กลับแทบไม่มีร้านหนังสือเลย จึงอยากสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้คนรุ่นใหม่ มีโอกาสได้สัมผัสกับหนังสือดีๆ เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้มากขึ้น

ที่ผ่านมามีนักอ่านแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย เสมือนเป็นห้องสมุดชุมชนขนาดย่อมๆ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ศิลปะ และงานเสวนาต่างๆ แม้จะทำงานเพียงลำพัง แต่เอ๋ก็สุขใจที่สร้างชุมชนหนังสือเล็กๆ ให้เกิดขึ้นได้ และหวังว่าต่อไปสงขลาจะกลายเป็นดินแดนแห่งการอ่านอย่างแท้จริง


SONGKHLA STATIŌN
สถานีนี้เพื่อคนสงขลา

หากถามถึงพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ปล่อยของ ปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ ชื่อแรกที่ทุกคนนึกถึงคงไม่พ้น SONGKHLA STATIŌN คาเฟ่เล็กๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือของเพื่อน 3 คน คือ เขียว-จุฑาพร จำนง, หนิง-ปาริชาด สอนสุภาพ และอิ๊ง-พิชชาณี เตชะพิมานวงศ์

เดิมทีอาคารหลังนี้เป็นคลินิกคุณหมออัมพร สถานพยาบาลเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองสงขลา แต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากชุบชีวิตตึกเก่าแห่งนี้ ด้วยการซ่อมแซมพื้นอาคาร เสริมด้วยโครงเหล็ก โดยคงโครงสร้าง และวัสดุของเก่าให้มากที่สุด

เมื่อฟื้นฟูอาคารเสร็จ ก็ได้จัดวางพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ โดยทำชั้น 2-3 เป็น Working Space มีกิจกรรมให้ศิลปินมานั่งวาดรูป สอนศิลปะ มีเกมให้เล่น กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของทุกคน ไม่เพียงแค่นั้น ยังร่วมอนุรักษ์พื้นที่ชายฝังทะเลสาบสงขลากับชุมชน จัดให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และนำผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่นมาจำหน่ายในร้านอีกด้วย


ภูมิปัญญาเมือง
สงขลาในวันนี้กับสงขลาเมื่อสิบปีก่อน แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย เพราะวันนั้นบรรยากาศของเมืองเต็มไปด้วยความเงียบเหงา อาคารบ้านเรือนทรุดโทรมไร้การเหลียวแล แต่ด้วยพลังของผู้คนในเมืองที่ช่วยรื้อฟื้นความทรงจำนี้ให้คืนกลับมา นำองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม เกร็ดน้อยเกร็ดน้อย ที่สั่งสมมานานตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้เมืองเก่าที่กำลังถูกกลืนหายไปกับกาลเวลา พลิกฟื้นกลับมาคึกคักอีกครั้งภูมิปัญญาเหล่านี้ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันสานต่อและสร้างเมืองสงขลาในฝัน ให้เป็นดินแดนแห่งความภาคภูมิใจสืบไป

ภาคีคนรักเมืองสงขลาฯ
ภารกิจใหญ่พาเมืองเก่าสู่มรดกโลก

สงขลาคือเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานถึง 670 ปี เป็นหนึ่งในเมืองสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจ เคยเป็นศูนย์กลางของมณฑลนครศรีธรรมราช เคยมีเรือสำเภาเข้ามาเทียบท่าหลายร้อยลำ แต่น่าเสียดายที่หลายคนกลับไม่ค่อยรู้มากนัก

ในปี 2552 นักวิชาการและบรรดาเจ้าของบ้านเก่าในเมืองสงขลา จึงก่อตั้งกลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม เพื่อถ่ายทอดจิตวิญญาณดั้งเดิมสู่คนรุ่นใหม่ พร้อมกับมีความฝันอันยิ่งใหญ่จะผลักดันสงขลาไปสู่เมืองมรดกโลก เทียบเท่าเมืองมะละกา และปีนัง โดยอาศัยข้อมูลที่ ดร.จเร สุวรรณชาต เคยวิจัยไว้มาใช้เป็นแผนพัฒนาเมือง ตลอดระดมกำลังผู้คนในพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยมีอาคารโรงสีแดง เป็นศูนย์กลาง

ภาคีฯ ทำงานด้วยความทุ่มเท ทุกคนมาด้วยใจอาสา ไม่เพียงก่อให้เกิดกระแสการอนุรักษ์เมืองเก่า แต่ยังเชื่อมร้อยจิตวิญญาณของคนในพื้นที่ไว้ด้วยกัน ภาคีฯ เชื่อว่าหากทุกคนยังรวมพลังกันอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ โอกาสที่สงขลาจะเป็นเมืองมรดกโลก คงไม่ใช่ฝันที่ไกลเกินเอื้อม


อาจารย์จรัส
สารานุกรมเคลื่อนที่แห่งเมืองสงขลา

บนชั้น 2 ของตึก 1 โรงเรียนมหาวชิราวุธ มีห้องอยู่สามห้องที่อัดแน่นไปด้วยเอกสาร รูปภาพ หนังสือเก่าจนถึงนิตยสาร 30-40 ปีก่อน นี่คือขุมทรัพย์และคลังข้อมูล ที่ฉายให้เห็นภาพเมืองสงขลากว่าร้อยปีที่แล้ว ทั้งสถานที่ ร้านรวง บุคคลต่างๆ โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ อ.จรัส จันทร์พรหมรัตน์

เพราะเกิดและเติบโตในย่านเมืองเก่ามาตลอด อาจารย์มองว่าเอกสารเหล่านี้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่มีค่าอย่างยิ่ง จึงรวบรวมและสร้างเครือข่ายกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติและหอจดหมายเหตุฯ หาดใหญ่ เสนอไปยังผู้บริหารของโรงเรียนให้ตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557

ตลอด 6 ปี ที่นี่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมของเมืองเก่า รูปภาพและข้อมูลต่างๆ ถูกนำไปต่อยอดเป็นนิทรรศการ หนังสือ เรื่องราว ให้คนรุ่นใหม่สืบค้นและใช้ประโยชน์ ที่สำคัญอาจารย์ยังเริ่มจัดเตรียมบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาช่วยสานต่อ โดยมีหน่วยงานต่างๆ สนับสนุน เพื่อให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาเมืองมากที่สุด


พิพิธภัณฑ์ผ้า
ภูมิปัญญาที่กลับคืนมาของชาวปักษ์ใต้

จากวิศวกรของบริษัทน้ำมัน กลายมาเป็นกูรูประวัติศาสตร์ด้านผ้าโบราณของสงขลา เดิมที ปัญญา พูลศิลป์ เป็นคนสมุทรปราการ แต่เมื่อหลายปีก่อนเขาได้รับมอบหมายให้มาดูแลการขุดเจาะน้ำมัน จึงย้ายมาอยู่ที่ปักษ์ใต้

ด้วยความเป็นนักสะสม ทุกวันหยุดจึงแวะเวียนหาซื้อของเก่า สิ่งที่ปัญญาสนใจเป็นพิเศษคือ ผ้า เพราะมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลัง ทั้งประวัติศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ และสังคม ผ้าหลายผืนเชื่อมโยงกับชุมชนมุสลิมโบราณที่หัวเขาแดง และประวัติศาสตร์ของเมืองยุคที่เรียกว่า ซิงกอรา

เมื่อสะสมมาเรื่อยๆ จึงอยากนำภูมิปัญญานี้มาเผยแพร่สู่คนรุ่นหลัง กระทั่งมาได้บ้านหลังหนึ่งบนถนนใน จึงดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ 238 Inspiration House จัดแสดงผ้าโบราณหลายสิบผืน

แม้ตลอด 5 ปีนี้อาจมีผู้แวะเวียนมาไม่มาก แต่ปัญญาก็มีความสุขที่ได้ส่งต่อและแลกเปลี่ยนความรู้ เขาอยากให้พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่รวมตัวของผู้คนที่รักและสนใจศิลปะ สร้างแรงบันดาลใจให้คนหันมาสนใจภูมิปัญญาเหล่านี้


อาจารย์อรทัย
นักวิจัยเรื่องอาหารแห่งย่านเมืองเก่า

ใครๆ ก็รู้ว่าเมืองเก่าสงขลาโดดเด่นเรื่องอาหาร เช่น ข้าวสตู เต้าคั่ว ก๋วยเตี๋ยว ขนมค้างคาว บางอย่างมีเฉพาะที่นี่เท่านั้น แต่นับวันองค์ความรู้เรื่องนี้กำลังจะหายไป เพราะร้านอาหารในเมืองจำนวนไม่น้อยปราศจากผู้สืบทอด

เพื่อรักษาภูมิปัญญานี้ อ.อรทัย สัตยสัณห์สกุล จึงได้รวบรวมเกร็ดความรู้ต่างๆ ถ่ายทอดให้กับเยาวชนรุ่นหลัง นำไปใช้ต่อยอดเพื่ออนุรักษ์อาหารถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

อาจารย์สนใจเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก เพราะสมัยก่อนเวลามีงานบวช งานศพ คุณแม่จะทำอาหารเลี้ยง ทั้งสลัด สเต็ก ทำกันเป็นหม้อๆ แจกจ่ายตามบ้าน ช่วงแรกยังไม่ได้มีการบันทึกสูตรชัดเจน กระทั่งคุณแม่เริ่มป่วยจึงเริ่มหันมาสนใจเรียนรู้จริงจัง และเมื่อมาสอนที่ มทร.ศรีวิชัย ก็เริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับอาหารไทยและภูมิปัญญาไทยอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อเริ่มมีโครงการอนุรักษ์เมือง อาจารย์ก็เข้ามาช่วย โดยวางแผนว่าข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมไว้จะจัดเก็บในเว็บไซต์หรือรูปแบบออนไลน์ที่ทุกคนเข้าถึงได้


ทีมช่างสงขลา
กองหนุนผู้ช่วยพัฒนาเมือง

จากพื้นที่ที่เคยถูกละเลย พลิกฟื้นกลับมาเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์อีกครั้ง แรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้เมืองเก่าสงขลากลับมายืนจุดนี้ คือ สำนักการช่างเทศบาลนครสงขลา เพราะเพียงกำลังของภาคประชาชน คงไม่ได้มีเครื่องมือมากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ที่ผ่านมา กองช่างได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดวางผังเมือง รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย ชายแดน เสถียร และ วีรศักดิ์ เพ็ชรแสง สถาปนิกชำนาญการ เล่าว่า เดิมทีอาคารในเขตเมืองเก่าถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นจำนวนมาก กระทั่งภาคีคนรักเมืองสงขลาฯ รวมตัว และอดีตนายกฯ พีระ ตันติเสรณี ประกาศเขตฟื้นฟูพื้นที่เมืองเก่า ส่งผลให้อาคารเดิมถูกนำกลับมาใช้ใหม่ โดยกองช่างเองก็พยายามสนับสนุนทั้งงบประมาณ และช่วยเหลือเรื่องกฎหมาย เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้กลับมางดงาม

ในอนาคต กองช่างมีแผนจะฟื้นฟูพื้นที่ทรุดโทรม พัฒนาพื้นที่จอดรถภายในเมืองเก่า พัฒนาตรอกซอกซอยให้ปลอดภัย รวมถึงพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทั้งรถและเรือ


อาจารย์จเร
หมุดตัวแรกๆ ของการฟื้นฟูเมืองเก่า

ใครจะเชื่อว่า งานวิจัยที่ ดร.จเร สุวรรณชาต จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ทำขึ้นเมื่อสิบปีก่อน จะกลายมาเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเขตเมืองเก่าสงขลาอย่างทุกวันนี้

ช่วงนั้นอาจารย์เรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความที่เติบโตในเมืองเก่า จึงอยากทำวิจัยเรื่องนี้ หลังพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ต่างฝ่ายต่างมองว่าสงขลามีศักยภาพเป็นเมืองมรดกโลกได้ จึงขอทุนจากการเคหะแห่งชาติเพื่อทำวิจัยที่นำไปสู่การฟื้นฟูเมือง ตลอดจนรวบรวมผู้นำชุมชน นักวิชาการ ตัวแทนทางภาครัฐ จนเกิดเป็น Songkhla Heritage Trust ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม

สำหรับอาจารย์แล้ว งานวิจัยช่วยตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ยิ่งเกิดการรวมตัวเป็นภาคประชาสังคม ก็ย่อมทำให้งานต่างๆ ขับเคลื่อนไปดียิ่งขึ้น


โครงการ Portrait of Songkhla จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกับ  a.e.y.space พื้นที่สร้างสรรค์ผู้เป็นตัวแทนของชาวสงขลาที่เชื่อมโยงเครือข่ายท้องถิ่นสงขลา และโรงเรียนสังเคราะห์แสง (School of photographic arts) จากกรุงเทพมหานคร ตลอดจนเป็นการรวมตัวกันของช่างภาพท้องถิ่น และนักสร้างสรรค์ชาวสงขลาอีกกว่า 30 คน ผ่านความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่กว่า 70 ครอบครัว