โครงการที่ใช้ประโยชน์จากศาสตร์แห่งการถ่ายภาพเพื่อบันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวของย่านเจริญกรุงในปี 2563 ผ่านภาพถ่ายครอบครัวในย่าน ออกมาเป็นนิทรรศการศิลปะรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์และคุณค่าของย่าน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตำนาน ประวัติศาสตร์ สังคม ครอบครัว วิถีชีวิต อาชีพ ธุรกิจ และวัฒนธรรมในแง่มุมที่มีคุณค่าแต่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน ช่วยสร้างความภาคภูมิใจและสานสัมพันธ์ระหว่างผู้มาเยือนและคนในย่าน ไปจนถึงคนในย่านด้วยกันเอง
https://drive.google.com/file/d/1krRVLwpGMVDq7ySpaMFcFOKVuc5H52Sc/view?usp=sharing
หมดแล้ว หมดเลย!
ร้านตีเหล็กแห่งสุดท้ายของตลาดน้อย
งานตีเหล็ก เป็นหนึ่งในอาชีพเก่าแก่ของคนตลาดน้อย เพราะที่นี่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือมาจอดเทียบท่าทำการซ่อมและหาอะไหล่ ทำให้มีคนประกอบอาชีพตีเหล็ก รับตีสมอเรือ ทำสายโซ่และอะไหล่เรือชนิดต่างๆ
งานตีเหล็กเป็นงานฝีมือ ต้องฟาดค้อนเหล็กอันหนักอึ้ง และต้องอยู่หน้าเตาไฟตลอดเวลา แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน งานหลายชิ้นก็สามารถผลิตได้จากโรงงาน อาชีพนี้จึงลดน้อยลงไปเรื่อยๆ อย่างตลาดน้อย หลักๆ มีเพียงร้านของเกรียงศักดิ์ เกิดผลเจริญยิ่ง ซึ่งสืบทอดงานมาจากบิดา รับจ้างตีทั้งสมอเรือ ตะขอยก โซ่ อวนลากปลา
ในวัย 71 ปี เขายังรับงานเบาๆ อยู่บ้าง เช่นคีมสำหรับหล่อพระ กระบวยตักทอง เครื่องมือทำทอง เขาบอกว่า งานตีเหล็กก็เหมือนเกมกีฬา ดีกว่าอยู่เฉยๆ จะเลิกก็ต่อเมื่อทำไม่ไหว ถึงวันนี้ยังมีลูกค้าอยู่ก็ด้วยความเชื่อมั่นที่สะสมมายาวนาน เพราะเกรียงศักดิ์ลงมือตีเองและควบคุมคุณภาพงานทุกชิ้น
หมอนแฮนด์เมด หมอนเฮงเสง
หมอนดีที่คุณวางใจ
สมัยก่อนไม่มีเครื่องนอนสำเร็จรูป หมอน ฟูก มุ้ง หรือเบาะรองนั่ง ต้องใช้แรงงานคนเย็บ พ่อกับแม่ของเมี่ยวลั้ง แซ่อิ๊ว ก็เลยมาเปิดร้านเฮงเสงอยู่ที่ตลาดน้อย ช่วงนั้นร้านเป็นที่นิยมมากโดยเฉพาะคู่แต่งงาน จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนแปลง คนหันไปใช้ของสำเร็จรูปมากขึ้น พวกเขาก็เลยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ เบาะรองนั่งสำหรับเก้าอี้หวายรับแขก รวมถึงหมอนทรงกลมสำหรับรองคุกเข่าไหว้เจ้าตามศาลเจ้าต่างๆ ซึ่งอย่างหลังนี้เองที่ทำมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสินค้าหายาก ต้องอาศัยความประณีตอย่างมาก นอกจากนี้ยังเปิดตลาดใหม่ๆ ด้วยการรับทำหมอนลวดลายทันสมัยขึ้น โดยใช้เทคนิคดั้งเดิมเพื่อเจาะกลุ่มคนรักงานศิลปะ รับจัดสอนเย็บหมอนสำหรับผู้ที่สนใจ รวมทั้งมีดีไซเนอร์รุ่นใหม่หลายรายเข้ามาจ้างทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย
จากซีแอตเทิลสู่เจริญกรุง
Hēijīi ร้านกาแฟเจือกลิ่นจีน
Hēijīi Bangkok เกิดจากแรงบันดาลใจของ มิก-ประภาส ระสินานนท์ ซึ่งเคยอยู่ที่ซีแอตเทิล แล้วเห็นร้านกาแฟเล็กๆ ซึ่งนำของดีในพื้นที่มาผสมผสาน จึงอยากทำบ้าง โดยเขาหยิบเอาวิถีชีวิตแบบชาวจีนที่คุ้นเคย มาต่อยอดเป็นธุรกิจเล็กๆ ในซอยเจริญกรุง 43 โดยคำว่า ‘เฮยจี’ แปลว่าไก่ดำ เพราะเมื่อก่อนแม่ชอบทำไก่ดำตุ๋นยาจีนให้กิน ส่วนอาหารทั้งหมดในร้านเน้นโฮมเมด เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนอยู่บ้าน รวมถึงการออกแบบที่ยึดความเป็นจีน ตั้งแต่สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่ที่ปูโต๊ะซึ่งใช้หนังสือพิมพ์จีนมาดัดแปลง
สูตรอร่อย ‘ก๋วยเตี๋ยวรู’ลูกชิ้นเด้ง หมูนุ่ม เกี๊ยวกรอบ
ด้วยความที่หน้าร้านเป็นซอยเล็กๆ ในตรอก นักเรียนโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามที่มากินจึงเรียกกันว่า ‘ก๋วยเตี๋ยวรู’ จนกลายเป็นชื่อติดปากมาจนถึงทุกวันนี้
เส้นทางของร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งนี้ยาวนานเกือบร้อยปี ผู้ก่อตั้งร้านเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว อพยพจากแผ่นดินใหญ่มาหาบก๋วยเตี๋ยวขายแถววงเวียนโอเดียน เก็บหอมรอมริบเงินมาตั้งร้านของตัวเอง โดยมีจุดขายสำคัญตรงที่ทำเองทุกอย่างตั้งแต่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นปลา หื่อก้วย เกี๊ยว และทุกอย่างสดใหม่ แถมยังใส่เครื่องจนแน่น คุ้มค่าคุ้มราคา จนลูกค้าเต็มร้านทุกวัน
ราว 60 ปีก่อน ลูกชายคนหนึ่งขอแยกตัวมาทำร้านของตัวเองที่ตลาดน้อย ใช้ชื่อว่า ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาตลาดน้อย และด้วยความที่ภรรยาของเขาชอบทำอาหาร จึงลองเพิ่มเนื้อหมูลงในก๋วยเตี๋ยว โดยนำหมูมาเคี่ยวกับซอสที่ผสมเครื่องเทศให้เข้าเนื้อ จนได้หมูที่หอมนุ่ม นำมาใส่ก๋วยเตี๋ยวสูตรเดิมแล้วยิ่งเพิ่มความอร่อย ส่วนน้ำซอสที่ได้ก็นำมาทำน้ำจิ้มเกี๊ยวกรอบ เป็นซอสรสหวานที่มีกลิ่นหมูย่างแบบหาไม่ได้จากที่ไหน
หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เคยมาชิมแล้วนำไปเขียนแนะนำในคอลัมน์เชลล์ชวนชิม จนได้ฉายาว่า ก๋วยเตี๋ยวเชลล์ชวนชิม ด้วย
8 ทศวรรษ ฮานาย่า
ร้านอาหารญี่ปุ่นก่อนสงครามโลก
เมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้ว ฮิโรยาสุ โมริโซโนะ หนีความยากจนจากบ้านเกิดมาอาศัยอยู่กับพี่ชาย และช่วยกันเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นขึ้นที่ย่านสี่พระยา สมัยนั้นถนนเจริญกรุงบริเวณไปรษณีย์กลางจนถึงสี่พระยา มีบริษัทญี่ปุ่นตั้งอยู่หลายแห่งเพราะสะดวกในการติดต่อไปยังต่างประเทศ และยังมีชาวญี่ปุ่นเดินทางมาส่งจดหมายและติดต่อธุระที่ไปรษณีย์เป็นประจำ คนเหล่านี้จึงเป็นลูกค้าหลัก เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีทหารญี่ปุ่นแวะมาใช้บริการแต่หลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ร้านปิดตัวลงไปพักใหญ่ กระทั่งสถานการณ์สงบจึงกลับมาเปิดอีกครั้งในปี 2509
สมัยก่อนพนักงานเป็นชาวญี่ปุ่นทั้งหมด ขณะที่วัตถุดิบเกือบทั้งหมด ยกเว้นมิโซ สาเก ซีอิ๊ว ก็ใช้ของท้องถิ่น เช่น ข้าวสวยใช้ข้าวหอมมะลิ ปลาก็เป็นปลาไทย เช่น ปลากะพงแดง ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ปลาโอ กุ้ง ปลาหมึก โดยซื้อวัตถุดิบที่ตลาดบางรัก และเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ กระทั่งสามารถสั่งวัตถุดิบจากญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้ว
ปัจจุบันคนที่รับช่วงดูแลร้านคือทายาทรุ่นที่ 3 โดยยึดมั่นในปรัชญาที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นคุณตา คือต้องทำอาหารที่ดีที่สุดเพื่อให้ลูกค้าทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจ นับเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ
อาหารมุสลิมเชื้อสายอินเดีย
ความอร่อยแบบโฮมเมด
ร้านอาหารมุสลิมบรรยาศสุดคลาสสิกแห่งนี้เปิดให้บริการมากว่า 90 ปีแล้ว ฮัจญีดิน ผู้ก่อตั้งร้าน สืบเชื้อสายมาจากบิดาที่เป็นชาวอินเดีย เขาเคยเป็นคนเลี้ยงแพะ ทำเนื้อแพะส่งร้านอาหาร นานวันเข้าจึงลองนำมาทำอาหารเองดูบ้าง โดยเป็นอาหารมุสลิมเชื้อสายอินเดียที่สืบทอดสูตรกันในครอบครัว สุดท้ายกลายเป็นร้านแห่งนี้ขึ้นมา
จานเด็ดที่ขึ้นชื่อมีทั้งข้าวหมกแพะ ข้าวหมกไก่ ข้าวบุหรี่ แกงแพะ ฯลฯ ด้วยรสชาติที่ค่อนข้างละมุน กลิ่นเครื่องเทศไม่แรงเกินไป จึงเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้าย่านเจริญกรุง ทั้งคนไทย จีน ฝรั่ง อินเดีย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ใครๆ ก็มาร้านเจ๊เนี้ยว
สมาคมแม่บ้านตลาดน้อย
ร้านทำผมสตรีอายุครึ่งศตวรรษ ในซอยเจริญกรุง 20 มีบรรยากาศครึกครื้นอยู่เสมอ ลูกค้าตั้งแต่รุ่นเด็ก รุ่นแม่บ้านไปจนถึงรุ่นเก๋ามาใช้บริการกันเนืองแน่นทั้งวัน ส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว หรือเป็นลูกค้าประจำจากต่างถิ่นที่ใช้บริการกันมายาวนาน จึงทำผมกันไปคุยกันไปเหมือนกับเป็นสมาคมแม่บ้านแห่งย่านตลาดน้อย
เจ้าของร้านคือเจ๊เนี้ยว-วิไล จิรสวัดิพันธุ์ ชอบการทำผมมาตั้งแต่เด็ก จึงไปเรียนทำผมแล้วกลับมาเปิดร้าน แม้อายุ 73 ปี แล้วเจ๊เนี้ยวแต่ก็ยังมีความสุขกับการทำผมให้ลูกค้า
ร้านทำผมที่มีบรรยากาศเหมือนสมาคมแม่บ้านแห่งตลาดน้อย ลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักกันดีและใช้บริการมายาวนาน เจ้าของร้านอายุ 73 ปี แต่ก็ยังมีความสุขกับการทำผมให้ลูกค้า
นิยายรักในร้านขนม
‘เฮียบเตียง’
ร้านขนมเก่าแก่แห่งนี้ มีนิยายรักซ่อนอยู่...บิดาของอาม่า ขาง้อ แซ่อึง เป็นคนทำขนมจากเมืองจีน ได้เปิดร้านเฮียบเตียงขึ้นที่ตลาดน้อยประมาณ 90 ปีมาแล้ว อาม่าซึ่งเกิดที่เมืองไทยจึงต้องช่วยงานทำขนมในร้านมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งวันหนึ่ง อากงเอี่ยม แซ่ตั้ง ที่เดินทางมาจากเมืองจีนพร้อมกับอา มาสมัครทำงานเป็นลูกมือในร้านขนม ทั้งคู่จึงได้พบรักกัน
อากงเป็นคนทำขนมฝีมือดีและขยันหมั่นเพียร ทำให้บิดาของอาม่ายอมให้ลูกสาวแต่งงานด้วย และยกร้านให้ช่วยกันดูแลต่อไป
ร้านเฮียบเตียงขายขนมหลายชนิด ทั้งขนมเปี๊ยะ ขนมถั่วตัด ฟักเชื่อม ขนมมงคลที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ ของชาวจีน รวมไปถึงสิงโตจากถั่วและน้ำตาลสำหรับไหว้เทพเจ้า โดยมีขนมขึ้นชื่อคือ ‘โซวเกี้ยว’ ลักษณะคล้ายกะหรี่ปั๊ปไส้ถั่วและไส้เผือก ซึ่งจะใส่ส้มเช้งเข้าไปในไส้ด้วยทำให้มีรสเปรี้ยวนิดๆ กินแล้วรู้สึกสดชื่น
ถึงวันนี้อากงและอาม่าก็ยังคงทำขนมด้วยตัวเองทุกวัน โดยมีลูกชายและลูกสะใภ้เป็นกำลังหลัก เน้นการนวดแป้งด้วยมือเพื่อคุมคุณภาพ ความกรอบ รสชาติ ให้ได้มาตรฐานตามเดิม ผลิตสดใหม่ทุกวันตามคำสั่งซื้อที่มีมาไม่ขาด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ จะมีลูกค้ามาต่อแถวซื้อขนมที่หน้าร้านกันยาวเหยียด
ไหว้พระหมอ ศาลเจ้าโจวซือกง
กำเนิดเทศกาลกินเจกรุงเทพฯ
ย่านตลาดน้อยเจริญมาตั้งแต่ก่อนสร้างถนนเจริญกรุง เพราะมีชาวจีนฮกเกี้ยน อพยพเข้ามาตั้งชุมชนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 พวกเขาได้ร่วมกันบูรณะวัดซุ่นเฮงยี่ที่มีอยู่ดั้งเดิม ให้เป็นศาลเจ้าในปี 2347 พร้อมทั้งอัญเชิญองค์เทพเจ้าโจวซือกง (พระหมอ) จากประเทศจีนมาประดิษฐสถาน และเปลี่ยนชื่อเป็นศาลเจ้าโจวซือกง โดยเชื่อกันว่าพระหมอเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ช่วยรักษาความเจ็บป่วย และมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขับไล่สิ่งอัปมงคล ศาลเจ้าแห่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของเทศกาลกินเจในกรุงเทพฯ จึงมีเทศกาลกินเจที่ยิ่งใหญ่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
เกือกนี้มีที่มา
เปิดตำนานศาลเจ้าศูนย์รวมใจจีนฮากกา
ที่ได้ชื่อว่า ‘ศาลเจ้าโรงเกือก’ สันนิษฐานว่า ในอดีตชาวบ้านที่นี่รับจ้างทำเกือกม้า รวมถึงรับจ้างตีสมอเรือมาก่อน เนื่องจากชาวจีนฮากกามีความชำนาญในด้านเครื่องเหล็ก
ชาวจีนฮากกาหรือจีนแคะ ถือเป็นชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากในย่านตลาดน้อย ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เห็นได้จากแผ่นศิลาจารึกภายในศาลเจ้าโรงเกือก ที่จารึกไว้ว่าพ่อค้าชาวจีนฮากกาได้อัญเชิญองค์เจ้าพ่อฮ้อนหว่องกุงจากประเทศจีนมาประดิษฐานบูชาเป็นเวลากว่า 100 ปี ก่อนมีการสร้างศาลเจ้าหลังปัจจุบันขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2431 ผู้สร้างคือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เล่าเถียน โชติกเสถียร) ต้นสกุลโชติกเสถียร เจ้ากรมท่าซ้ายที่ดูแลด้านการค้าขายกับประเทศจีนในสมัยรัชกาลที่ 5
เจ้าพ่อฮ้อนหว่องกุง เป็นกษัตริย์จีนองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่ศรัทธาของชาวจีนฮากกา ในอดีตศาลเจ้าแห่งนี้จะจัดงานแห่เจ้าพ่อทุก 3 ปี แต่ในปัจจุบันจัดเพียงงานประจำทุกปี ในวันที่ 12 เดือน 7 ตามปฎิทินทางจันทรคติของจีน หรือประมาณเดือนสิงหาคม
วันศุกร์ที่ฮารูณ
จุดนัดพบมุสลิมนานาชาติ
ทุกวันศุกร์ซึ่งเป็นวันละหมาดใหญ่ จะเห็นภาพคนมุสลิมนานาชาติ ทั้งคนในพื้นที่ดั้งเดิม ชาวต่างชาติเจ้าของร้านอัญมณีริมถนนเจริญกรุง ตลอดจนนักท่องเที่ยวจากโรงแรมต่างๆ มารวมตัวกันละหมาดอย่างเนืองแน่นที่มัสยิดแห่งนี้
มัสยิดฮารูณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นช่วงรัชกาลที่ 3 เดิมเป็นมัสยิดสร้างด้วยไม้ คนไทยมุสลิมที่นี่สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้านักเดินเรือชาวเกาะบอร์เนียวเชื้อสายอาหรับผสมเปอร์เซีย ชื่อ มูซา บาฟาเดล ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานบนที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ บุตรชายคนหนึ่งของมูฟา ชื่อฮารูณ ตามบิดามาและได้พบรักกับหญิงไทยจึงแต่งงานอยู่กินในชุมชน
เดิมมัสยิดฮารูณตั้งอยู่บริเวณศุลกสถานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาทางศุลกสถานขอแลกที่ดินให้ย้ายมาอยู่บริเวณตรงข้ามสถานกงสุลฝรั่งเศส ยูซุฟ บาฟาเดล ลูกชายของฮารูณจึงนำชื่อของพ่อมาตั้งเป็นชื่อมัสยิดหลังใหม่ รวมทำนำไม้จากมัสยิดหลังเดิมมาทำเสาและพื้น
มัสยิดหลังใหม่ซึ่งใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน มีลักษณะเป็นตึก ขนาดกว้างขวาง ประดับกระจกสี และตัวอักษรประดิษฐ์ภาษาอาหรับอย่างสวยงาม ด้านข้างยังมีกุโบร์หรือสุสาน
ปัจจุบันมัสยิดฮารูณยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนและมีชาวต่างชาติเข้าไปละหมาด จึงมีการเทศน์เป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวมุสลิมต่างชาติด้วย
โบสถ์กาลหว่าร์
รอยเท้าแรกของชาวตะวันตกที่เจริญกรุง
โบสถ์ริมน้ำแห่งนี้สะท้อนถึงการเข้ามาของชาวตะวันตกในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อชาวโปรตุเกสช่วยทำศึกสู้รบกับพม่า รัชกาลที่ 1 จึงพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นรางวัล พวกเขาช่วยกันสร้างโบสถ์ขึ้นมา เมื่อปี 2329 เรียกว่าโบสถ์กาลวารีโอ ซึ่งมาจากชื่อเนินเขาที่พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขน ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น กาลหว่าร์
ช่วงแรกๆ คนที่มาโบสถ์ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก จากนั้นก็มีการเผยแพร่ศาสนาไปสู่ชาวจีนในละแวกตลาดน้อย ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นศูนย์รวมความเชื่อและวัฒนธรรมหลากหลายที่ผสมผสานกัน
โบสถ์หลังปัจจุบันสร้างเสร็จเมื่อปี 2434 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมกอธิก ยอดแหลมสูง ขอบซุ้มประตูหน้าต่างทรงโค้งแหลมคล้ายโดม ภายในประดับกระจกสี เป็นภาพเล่าเรื่องราวของพระเยชูตลอดพระชนม์ชีพ ตามผนังประดับรูปปั้นนักบุญ
เอี๊ยะแซ รุ่น 5
สานต่อร้านยาในตำนาน
บรรพบุรุษของร้านแอ๊ะแซอพยพมาจากซัวเถา เดิมเป็นแพทย์แผนจีน เมื่อถึงเมืองไทย ก็ทำงานสารพัด จนสามารถเปิดร้านยาได้ที่ชลบุรี ต่อมาเถ้าแก่ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เห็นว่าย่านตลาดน้อยมีคนจีนอาศัยอยู่เยอะ จึงเปิดร้านยาอีกแห่ง ให้ลูกชายเป็นคนดูแล
กิจการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมกับมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ หนึ่งในนั้นคือ คือยาดมเอี๊ยะแซ โดยไพบูลย์ เฉลิมชัยกิจ ทายาทรุ่นที่ 3 สังเกตว่า ลูกค้าหลายคนมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจไม่สุด จึงคิดทำยาดมชนิดพกพา ด้วยคุณภาพของสินค้าทำให้มีเสียงบอกต่อปากต่อปากเรื่อยมา ปัจจุบันร้านสืบทอดทอดกิจการมาแล้ว 5 รุ่น โดยล่าสุดหลานสาว ซึ่งสนใจเรื่องแพทย์แผนจีน ก็เพิ่งเรียนจบด้านนี้โดยตรง
70 ปี ปั้นลี่
ขนมปัง “เรารักป๊า”
ความอร่อยขนมปังปั้นลี่ ทำให้ป๊าเจ้าของร้านที่เป็นโรคเบาหวานชอบแอบชิมขนมปัง จนลูกหลานต้องเขียนเตือน โดยร้านนี้เปิดทำการตั้งแต่ปี 2493 มีจุดเริ่มต้นมาจากสองสามีภรรยาที่อพยพหนีความยากจนมาเมืองจีน กระทั่งมาเจอเชฟชาวจีนจากโรงแรมโอเรียนเต็ล ก็เลยได้วิชาทำขนมปัง จากนั้นก็มาเปิดร้านขนมปังฝรั่งสไตล์จีนยุคแรกๆ ในย่านนี้
จุดเด่นของขนมร้านนี้คือ ความเหนียวนุ่ม ราคาไม่แพง โดยตลอด 70 ปีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น ขนมปังใส่ไส้หมูแดงที่ได้ไอเดียมาจากซาลาเปาไส้หมูแดง หรือคุกกี้จีน ปัจจุบันร้านบริหารงานโดยรุ่นที่ 4 ของครอบครัววัฒนเตพงศ์ซึ่งสนใจเรื่องคุณภาพไม่เปลี่ยนแปลง ทุกชิ้นทำสดวันต่อวันไม่ใส่สารกันเสีย ด้วยหลักคิดที่ว่าคนในครอบครัวกินอย่างไรก็ขายอย่างนั้น
อร่อยร้อยปี แต้เล่าจิ้นเส็ง
ตำนานขนมหวานคู่เทศกาลมงคลจีน
ขนม เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการเซ่นไหว้ในเทศกาลและประเพณีของคนจีน เพราะคนจีนเชื่อว่าขนมคือตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคล เมื่อย้ายไปที่ไหนจึงมีร้านขนมไปด้วย หนึ่งในนั้นคือ แต้เล่าจิ้นเส็ง ของครอบครัวตฤติยศิริ อพยพมาจากเมืองซัวเถา แล้วมาเปิดร้านที่เยาวราช พอกิจการเติบโตขึ้น จึงเปิดอีกร้านที่ตลาดน้อย และใช้เป็นโรงงานทำขนมมาถึงปัจจุบัน ที่นี่มีขนมเกือบ 40 ชนิด ผลิตสดใหม่ทุกวัน ที่โดดเด่น อาทิ ขนมเปี๊ยะ ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมหน้าแตก ถั่วตัด งาตัด รวมทั้งรับจัดขนมขันหมากสำหรับพิธีแต่งงานตามธรรมเนียมจีน
มรดกแห่งมิตรไมตรี
333 ปี ฝรั่งเศส-สยาม
ไทยกับฝรั่งเศสผูกพันกันมากว่า 333 ปี โดยเคยส่งทูตไปถวายเครื่องบรรณาการระหว่างกันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มาเสื่อมคลายในยุคราชวงศ์บ้านพลูหลวง จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงมีนโยบายเปิดประเทศ จึงได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กลับมาอีกครั้ง หลังจากสยามทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ จึงมีการทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันกับฝรั่งเศส พร้อมกับมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งสถานกงสุล ในช่วงแรกใช้อาคารของกรมศุลกากรเป็นที่ทำการชั่วคราว ก่อนต่อเติมและบูรณะหลายครั้งจนเป็นอาคารโคโลเนียล ผสมผสานศิลปะตะวันตกที่เข้ากับสภาพอากาศร้อนชื้นของบ้านเราได้อย่างงดงาม
สุวรรณเครื่องเทศ
สุดยอดเครื่องเทศอิมพอร์ตจากแดนภารตะ
90 ปีที่แล้ว โออับดุล การีม เดินทางจากเมืองมัทราส ประเทศอินเดีย มาจับจองพื้นที่ตรงริมคลองสีลม เปิดร้านเครื่องเทศ
หญ้าฝรั่น ลูกกะวานเทศ ยี่หร่า กานพลู อบเชย เนยเหลว และเครื่องเทศอีกราว 40 ชนิด ถูกส่งต่อจากอินเดียและอินโดนีเซีย มาจำหน่ายในราคาย่อมเยา และเปี่ยมด้วยคุณภาพ ซึ่งเหมาะกับอาหารมุสลิมที่มีเครื่องเทศเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวหมก มัสมั่น พะแนง แกงกะหรี่ หากวันไหนมีเทศกาลสำคัญ อย่างงานแต่งงาน หรืองานเลี้ยงแขกที่สุเหร่า ก็จะยิ่งขายดีเป็นพิเศษ
ปัจจุบันสุวรรณเครื่องเทศ ขับเคลื่อนโดยทายาทรุ่นที่ 3 โดยยังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพเอาไว้เช่นเดิม