Nan/Nan Old Town/District Projects
TH | EN

โหมโรง NAN FEST: Creative Space

พื้นที่สร้างสรรค์รวมพลัง 'ชาวน่าน' โหมโรงสู่เทศกาลประจำเมือง

โหมโรง NAN FEST: Creative Space
Published Date:

โหมโรง NAN FEST ตอน Creative Space

การทดลองเปิด “พื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space)” ในย่านเมืองเก่าน่าน ที่ ‘คุ้มเจ้าเทพมาลา’ อาคารเก่าทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ มาพัฒนาให้เป็น ‘พื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบ’ เพื่อเป็นแหล่งรวมพลและส่งเสริมศักยภาพของคนน่านทุกเพศทุกวัย นักสร้างสรรค์ท้องถิ่น และคนรุ่นใหม่  ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง

พร้อมทั้งทดลองจัดกิจกรรมและจัดแสดงผลงานในพื้นที่แห่งนี้ ภายใต้งาน “โหมโรง NAN FEST ตอน Creative Space”  ระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นเสมือน teaser ตอนแรก เพื่อเปิดตัวการจัด NAN FEST เทศกาลประจำปีของเมืองน่านแบบเต็มรูปแบบในปีถัดไป โดยมีเป้าหมายเพื่อปลุกพลัง สร้างแรงบันดาลใจให้กับ ‘ชาวน่าน’ หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ผ่านการทดลองผสมผสานประเพณี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และศิลปะร่วมสมัยเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ระหว่างศิลปินหลากหลายวงการ ให้มาร่วมกันต่อยอดสินทรัพย์ รากเหง้าท้องถิ่นสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิต และสามารถปูทางจังหวัดน่านสู่เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) ต่อไป

ผลลัพธ์ของโครงการ

  • เกิดการรวมกลุ่มคนสร้างสรรค์หลายวัย "สล่ากึ๊ด" ที่จะเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนย่านและเมืองต่อไป
  • เกิดแรงกระเพื่อม มีการจัดงานเพื่อทดลองเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ ทั่วเมือง ทั้งโดยภาครัฐ เอกชน และโดยกลุ่มคนสร้างสรรค์
  • จังหวัดบรรจุโครงการเข้าในแผนพัฒนาจังหวัดฯ เพื่อจัดสรรงบประมาณในปีต่อๆ ไป
"คุ้มเจ้าเทพมาลา" ตั้งอยู่บนถนนมหาพรหม ด้านทิศตะวันตกของหอคำ เป็นเรือนที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุเรือนกว่าร้อยปีมาแล้ว คุ้มหลังนี้แต่เดิมเป็นของเจ้าเทพมาลา ธิดาคนแรกของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กับแม่เจ้ายอดหล้า ซึ่งท่านเป็นเจ้าเมืองไทลื้อเชียงคำ

หัวใจสำคัญ คือ ‘คน’

งานนี้มีกลไกสำคัญคือ  “กลุ่มสล่ากึ๊ด” หรือ  นักคิดนักทำ (สล่า=ช่าง ผู้เชี่ยวชาญ กึ๊ด = คิด) กลุ่มคนสร้างสรรค์ นักพัฒนาเมือง ผู้ประกอบการ ศิลปินชาวน่าน ที่อยากใช้ศิลปวัฒนธรรมขับเคลื่อนเมือง รวมตัวกันขึ้นมาเป็นกิจลักษณะโดยเริ่มต้นที่งานนี้เป็นครั้งแรก (เดิมเป็นกลุ่มไม่เป็นทางการ ที่ร่วมกันจัดงาน Nan Arts Fest เมื่อหลายปีก่อน) ร่วมกับ "มูลนิธิน่านศึกษา"

"กลุ่มสล่ากึ๊ด" และมูลนิธิน่านศึกษา พลังหลักในการขับเคลื่อนโครงการ ประกอบด้วยสมาชิกหลากหลายวัยและวงการ อาทิ คุณจุ๋ม-จุมพล อภิสุข ศิลปินอาวุโสผู้บุกเบิกวงการศิลปะสื่อแสดงสด รับหน้าที่ประธานกลุ่มสล่ากึ๊ด นายแพทย์ชาตรี เจริญศิริ ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนน่าน มูลนิธิน่านศึกษา ครูยุทธ ยุทธภูมิ สุประการ อาจารย์หออัตลักษณ์นครน่าน วิทยาลัยชุมชนน่าน คุณซี-ชายหลวง ดิษฐะบำรุง เจ้าของโรงแรมศรีนวลลอดจ์ คุณต๋อม-เณริกา ยาแก้ว เจ้าของคาเฟ่สุดกองดี ฯลฯ

“พื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space)” แบบฉบับสล่ากึ๊ด ณ คุ้มเจ้าเทพมาลา

  1. รวม ‘คน’ ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนสร้างสรรค์ที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดน่านและในภูมิภาค
  2. ลอง ศักยภาพและความเป็นไปได้ของ ‘พื้นที่’ ‘ของ’ ‘คน’ ในการจัดเทศกาลประจำเมือง
  3. ร้อย วัฒนธรรมพื้นบ้าน - ศิลปะร่วมสมัย คนรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ศาสตร์สร้างสรรค์หลายสาขา เข้าด้วยกัน

โหมโรง NAN FEST  มีทั้งหมด 5 ตอน จัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตุลาคม 2565 - กุมภาพันธ์ 2566  ในธีมที่แตกต่างกัน  โดย ตอน Creative  Space ที่คุ้มเจ้าเทพมาลา ซึ่งถือเป็นกิจกรรมเปิดตัวเทศกาลน่านนั้น ประกอบด้วย  2 โซน ดังนี้

1. กึ๊ดสเปซ - 'Common space of wisdom'

การใช้พื้นที่บ้านไม้เก่า 2 ชั้นที่ปิดร้างไม่ได้ใช้งานมานาน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของคุ้มเจ้าเทพมาลา มาทดลองใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการและกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้เห็นโอกาสของการใช้พื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพในอนาคต

ตัวอย่างการจัดสรรพื้นที่สำหรับนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ

นิทรรศการ พื้นที่สร้างสรรค์ต้นแบบคุ้มเจ้าเทพมาลา นำเสนอความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอดคุ้มเจ้าเทพมาลา ซึ่งเป็นอาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ โดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นิทรรศการ Creative Space ในกำกึ๊ด ของสล่ากึ๊ด ในรูปแบบ Poster Exhibition นำเสนอมุมมองความคิดของชาวน่านที่เป็นตัวแทนบอกเล่าความฝัน ความหวัง ของการมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับทุกคนในแบบที่พวกเขาอยากให้เป็น และยังมี Dream Box ที่ชวนให้ผู้คนมาร่วมชมงานสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการสร้าง Creative Space ในอุดมคติไปด้วยกัน

นิทรรการ ภาพเก่า เล่าเรื่องใหม่ เมืองน่าน หยิบยกภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ เพื่อเป็นชิ้นส่วนที่ย้ำเตือนความทรงจำของคนรุ่นเก่า และเขียนบันทึกเรื่องราวเพิ่มเติมให้กับคนรุ่นใหม่

กิจกรรม 'Coffee Extraction Experiment Table' slowbar  โดยชมรมกาแฟพิเศษแห่งเมืองน่านทดลองสกัดกาแฟในรูปแบบต่าง ๆ เรียนรู้เทคนิคของการทำกาแฟให้ได้รสชาติในแบบที่แตกต่างกัน

2. ลานด้านหน้าคุ้มเจ้าเทพมาลา - 'สวนประชาชน'

ลานโล่งกว้างและสนามหญ้าด้านหน้าสามารถรองรับผู้คนได้ไม่แออัด นำมาจัดสรรพื้นที่สำหรับหลากหลายกิจกรรมที่เป็นกันเองและตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัย ทั้งการแสดงต่างๆ การเสวนา โชว์ทำอาหาร เวิร์กช็อป ตลาดนัดท้องถิ่น ไปจนถึงสวนผักเล็กๆ

Music & Performing Arts การแสดงดนตรีและศิลปะการแสดง ทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ชาวน่าน

รำบวงสรวงเจ้าสุริยะพงษ์
วงร้องประสานเสียงของนักเรียนในจังหวัดน่าน
ดนตรีของขลุ่ยลมเหนือ
การแสดงกลุ่มนาฏยศิลปิน
ศิลปะการแสดงสด โดยอ.จุมพล อภิสุข

Specialty Local Show กิจกรรมท้องถิ่นสุดพิเศษ ทั้งโชว์การทำอาหารชาววัง สูตรคุ้มหลวงเมืองน่าน ขนมปาด ขนมพื้นบ้านล้านนาสูตรโบราณ การประชันลาบเหนือแบบฟิวชั่น และเมนูใหม่จากวัตถุดิบท้องถิ่น

โชว์การทำ "แกงสะนัด" สำรับโบราณจากคุ้มหลวงเมืองน่านที่หาทานได้ยาก ปัจจุบันมีเฉพาะที่ "คุ้มเจ้า เมฆวดี ณ น่าน" ชุมชนในเวียง อาเภอเมืองน่าน สืบทอดทายาทรุ่นที่ 4 ของ เจ้าเมืองน่านองค์ที่ 64 ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย
Nan Creative Menu การสร้างสรรค์อาหารเมนูใหม่ โดยผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นประจำเมืองน่านเพียง 3 ชนิด คือ กาแฟจาก ดอยมณีพฤกษ์ มะแขว่นจากอ.สองแคว และเกลือจากบ่อเกลือ โดยเชฟชื่อดังเมืองน่านที่มาร่วมประชันฝีมือกัน
Nan Fusion ประชันโชว์เมนูลาบน่าน โดย ร้านลาบเมืองเล็น, ร้านลาบปูุสม, ฮาลาบ และแชมป์ลาบจาก มทร.น่าน จากน้ันให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในการชิมฝีมือท้ัง 4 ร้าน และร่วมโหวตร้านลาบในดวงใจ

Nan Talk เสวนา “อนาคตน่าน” โดย คนน่าน 3 generations อาทิ คุณหมอชาตรี เจริญศิริ จากมูลนิธิน่านศึกษา Influencer ชาวน่าน เจ้าของเพจทูนหัวของบ่าว และเยาวชนแกนนำนักสร้างสรรค์ในน่าน

คุณนัชญ์ ประสพสิน เจ้าของเพจทูนหัวของบ่าว Influencer คนเมืองน่านที่เติบโตแบบน่าน ๆ และใช้ชีวิตเป็นนักสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ เล่าถึงความหวงแหนบ้านเกิดและอยากให้ย้อนกลับมามองถึงความสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในน่าน

Workshop เวิร์กช็อปแบบน่าน น่าน ต่อยอดทักษะ ภูมิปัญญาล้านนา ไม่ว่าจะเป็นงานสาน หัตถกรรมพื้นบ้าน และงานมัดย้อม โดยชุมชน

การทำตาแหลว โดย วิสาหกิจชุมชนจักสานบ้านต้าม (เครื่องหมายทางพิธีกรรมความเชื่อของคนล้านนา เพื่อแสดงอาณาเขตที่มีเจ้าของ และปกป้องพื้นที่จากอันตราย
การทำตุง โดย ชุมชนบ้านมณเฑียร ธงแขวนทำจากผ้าหรือกระดาษ ใช้ประดับหรือประกอบพิธีตามความเชื่อของชาวล้านนา นำมาซึ่งความสุข ความเจริญรุ่งเรือง
การมัดย้อมผ้า โดย อยู่อย่างน่านและครูเอก การมัดย้อม "ชิโบริ (Shibori)” หรือ เทคนิคสร้างลวดลายบนผ้าโดยการ พับ บีบ รัด มัด หนีบ
ระบายสีหน้ากาก โดยกลุ่ม DMYC หรือกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน
Painting Party โดย สล่ากึ๊ด ปาร์ตี้วาดรูปสีน้ำที่ทุกคนได้รังสรรค์ผลงานของตัวเอง และจัดแสดงโชว์ให้ชื่นชมในวันสุดท้ายของงาน

Nan Market ตลาดนัดสร้างสรรค์แบบฉบับน่าน กว่า 12 ร้านค้า


เทศกาลน่านตอนต่างๆ ที่จัดต่อเนื่องกันมา หลังจากการเปิดตัวงานโหมโรง NAN FEST ตอน Creative Space

  • “Wall Of Thep” (ผนังเทพ) รวบรวมภาพจากผู้คนที่อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา (ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2560) ณ หออัตลักษณ์นครน่าน
  • เทศกาลดนตรี ตอน นั่งเล่น on the Road โดยวงนั่งเล่น ณ ป่ามาทำ อำเภอพูเวียง 
  • เทศกาลดนตรีต่อล้อต่อเสียง ตอน สุ่มเสียงแห่งชาติพันธ์ุ ณ เฮือนแม่คำแปง และกำแพงเมืองเก่าน่าน
  • การแสดงศิลปะการแสดงสดนานาชาติ (Performance Art) เปิดประตูเทศกาลน่านสู่เวทีศิลปะนานาชาติ แลกเปลี่ยนศิลปิน ไทย-ชิลี-อินเดีย และ ศิลปินไทย-เยอรมัน ณ เอเชียโทเปีย และเฮือนแม่คำแปง
  • น่านคราฟท์ ณ คาเฟ่สุดกองดี

โหมโรง NAN FEST ตอน Creative Space โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA สำนักงานจังหวัดน่าน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน มูลนิธิน่านศึกษา และกลุ่มสล่ากึ๊ด

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ NAN FEST