Songkhla/Songkhla Old Town/District Projects
TH | EN

Made in Songkhla

ส่วนผสมใหม่ของ 12 ร้านดั้งเดิมย่านเมืองเก่าสงขลา #ทำที่สงขลา

Made in Songkhla
Published Date:

Made in Songkhla
ส่วนผสมครั้งใหม่ที่ทำให้คนสงขลารู้จักตัวเองมากกว่าที่เคย

หากจะพูดถึงย่านเมืองเก่าสงขลาก็คงมีหลายมุมให้พูดถึง ย่านเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์อย่างไม่เหมือนใคร มีส่วนผสมที่น่าสนใจประกอบรวมกันอยู่อย่างเงียบๆ ไม่หวือหวาบนถนนเล็ก 3 สายที่ขนานกันอยู่ ตึกสวยงามสไตล์ชิโนยูโรเปียนน้อยใหญ่เรียงรายตลอดแนวถนน และยังมีสตรีทอาร์ตแต่งแต้มย่านให้มีชีวิตชีวา เชื่อมให้เดินเล่นได้ทุกตรอก ซอก ซอย ย่านเมืองเก่าสงขลาขึ้นชื่อเรื่องของอาหารอร่อยและมีความหลากหลายมากแห่งหนึ่งในไทย พร้อมสรรพไปด้วยวัตถุดิบชั้นเลิศ ทั้งอาหารทะเลสดๆ และวัตถุดิบท้องถิ่น ร้านอาหารและร้านค้าดั้งเดิมแบบฉบับสงขลาซุกซ่อนไอเทมเด็ดที่เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องของเมืองได้เป็นอย่างดี ไปจนถึงคาเฟ่และอาร์ตแกลเลอรีที่มีไม่น้อยกว่าที่ไหนๆ

เรื่องราวของย่านเมืองเก่าสงขลาได้ถูกนำมาเล่าใหม่เผยเสน่ห์และบอกเล่าเรื่องราวเปี่ยมอัตลักษณ์อีกครั้งผ่านโปรเจ็กต์ “Made in Songkhla” โปรเจ็กต์ที่ CEA สร้างสรรค์ร่วมกับ A.E.Y Space และผู้ประกอบการร้านค้าเก่าแก่ดั้งเดิมในย่าน สร้างความคึกคักให้แก่ย่านเมืองเก่าหลังจากเงียบเหงาไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยมาในคอนเซ็ปต์การ Collaboration 12 รุ่นเก๋ากับ 9 นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดสินทรัพย์ของดีประจำย่านเมืองเก่าสงขลา ที่มีตั้งแต่อาหาร ขนมหวาน เครื่องดื่ม สมุนไพรไทยจีนสูตรลับฉบับสงขลา รวมถึงทักษะงานปักอันงดงาม นับเป็นการเข้ามาพัฒนาสินทรัพย์เดิมที่มีอยู่ เพิ่มเติมสีสัน นำเสนอมุมมองแปลกใหม่ และสร้างความเข้าใจเรื่องการดำเนินธุรกิจให้แก่ร้านค้าเหล่านี้ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่ยังคงไว้ซึ่งดีเอ็นเอของตัวเอง

โปรเจ็กต์ที่ลูกหลานในพื้นที่ทำขึ้นด้วยความรัก

แม้จะมีแนวทางการทำงานมาจากโปรเจ็กต์ Made in Charoenkrung แต่ Made in Songkhla กลับมีความแตกต่างที่พิเศษอยู่ตรงที่ทีมทำงาน เพราะเมดอินสงขลาครั้งนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังของลูกหลานที่อยู่ในพื้นที่ย่านเมืองก่าสงขลาและภาคใต้ ประกอบด้วย เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล, แมว-ดวงใจ นันทวงศ์ และเลิฟ-กริยา บิลยะลา 3 ทหารเสือผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักดูแลการทำงานตั้งแต่ต้นจบจบ ที่บอกว่ามีความพิเศษกว่าก็ตรงที่การเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ เป็นลูกหลานของที่นั้นๆ ย่อมมีความใกล้ชิด คุ้นเคย หรืออาจจะซี้สุดๆ กับร้านค้ารุ่นเก๋าหลายๆ ร้าน ผ่านช่วงเวลาที่พอจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง มีข้อมูลพอสมควร และน่าจะเข้าอกเข้าใจในบริบทต่างๆ ต่างจากคนนอกอย่างแน่นอน

เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล, แมว-ดวงใจ นันทวงศ์ และเลิฟ-กริยา บิลยะลา กลุ่มคนรุ่นใหม่ท้องถิ่น ผู้ดำเนินโครงการเมดอินสงขลา

เริ่มต้นที่ดีชวนร้านค้าให้เปิดใจ

ทีมเมดอินสงขลา เริ่มต้นจากการสำรวจข้อมูลเพื่อเฟ้นหาธุรกิจร้านค้า ทักษะ เก่าแก่ดั้งเดิมที่นับว่าสุดเจ๋งจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านเจ้าแรก ร้านหนึ่งเดียวของย่าน ร้านต้นตำรับและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไปจนถึงร้านที่ไม่มีทายาทสืบทอด จึงตามด้วยการกระเทาะหาอินไซต์ความต้องการหรือแม้แต่ปัญหาของร้านออกมาให้ได้ ทั้งหมดนี้คือกระบวนการตั้งต้นของพวกเขา

หยิบจับอย่างเข้าใจคือหัวใจสำคัญ

หลังจากได้ข้อมูลจากการสำรวจอินไซต์แล้วทีมงานต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อวิเคราะห์ว่าจะแก้ไขหรือเพิ่มเติมต่อยอดให้กับร้านค้าได้อย่างไร วิธีไหนบ้าง พร้อมกับต้องคิดต่อไปอีกด้วยว่าแล้วจะเป็นนักสร้างสรรค์กลุ่มไหนที่จะเข้ามาตอบโจทย์ครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่นักออกแบบนักสร้างสรรค์ในพื้นที่เป็นหลักเพราะทีมงานมองว่าความเข้าใจในบริบทคือสิ่งสำคัญ แล้วจึงเพิ่มเติมส่วนผสมนักออกสร้างสรรค์จากกรุงเทพฯ เข้ามาเพื่อสร้างความหลากหลาย

เมื่อทำในส่วนนี้ได้แล้วก็ถึงขั้นตอนการพาทีมนักออกแบบไปพูดคุยกับร้านค้าให้ลึกลงอีกขั้นเพื่อซ่อกแซ่กหาข้อมูลต่อไป และให้เค้าทั้งสองทีมค่อยๆ เปิดใจเข้าหากันก่อนทำงานร่วมกัน ร้านค้าดั้งเดิมต้องมีส่วนร่วมสำคัญไม่ว่าการต่อยอดเหล่านั้นจะคืออะไร ทีมงานจะเป็นคนคอยบาลานซ์ความเข้าใจระหว่างนักสร้างสรรค์และร้านดั้งเดิมให้ลงตัวที่สุด ป้องกันไม่ให้เกิดงานออกแบบที่ไม่ใช่ตัวตนเดิมของร้านรุ่นเก๋า แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการที่จะชักชวนหรือเปลี่ยนใจคนรุ่นเก๋าแม้ ดังนั้นความเข้าใจ เคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และความยืดหยุ่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญด้วย

ทดลองทำจริง ขายจริง ถ้าเวิร์กก็ไปต่อ

ขั้นตอนใหญ่ที่นับว่าต้องใช้ระยะเวลามากที่สุดก็คือการนำเสนอไอเดียกันไปมาระหว่างทีมนักออกแบบและร้านดั้งเดิมเพื่อให้ได้สิ่งที่ตรงใจตรงกลาง เพื่อให้ร้านค้าดั้งเดิมสามารถทำสิ่งเหล่านั้นต่อได้สร้างความยั่งยืนของไอเดีย ตอบโจทย์สมมติฐานตั้งต้นของนักออกแบบ และเป็นไปได้ในการผลิตเพื่อทดลองขาย แล้วพวกเขาก็ผลิตส่วนผสมใหม่ออกมาร่วมกัน ต่างคู่ต่างรูปแบบต่างสไตล์พร้อมขายเพื่อทดลองตลาด


ทำความรู้จักส่วนผสมครั้งใหม่ของ 12 ร้านดั้งเดิมในย่านเมืองเก่าสงขลา

ฮับเซ่ง X Eden’s
“สภากาแฟยามเช้าของชาวเมืองเก่า จับมือกับ คาเฟ่สไตล์ฝรั่งเศสแห่งย่านหลานหลวง”
ป้าบ่วย-ยุพิน เกียรติโชติชัย เจ้าของร้านฮับเซ่ง
เด่น-นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ เจ้าของร้าน Eden’s คาเฟ่ย่านหลานหลวง กรุงเทพฯ

ร้านฮับเซ่ง สภากาแฟที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ร้านฮับเซ่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากพ่อกับแม่ของป้าบ่วย-ยุพิน เกียรติโชติชัย เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ย้ายถิ่นฐานมาที่สงขลา ตั้งร้านขายชา กาแฟ ขนมปังสังขยา มาตั้งแต่ 90 ปีที่แล้ว จุดเด่นของที่นี่คือขนมปังสังขยาสูตรไหหลำ ใช้ไข่ น้ำตาล กะทิ ผสมกันและเคี่ยวจนงวด จะได้สังขยารสหวานมันสีน้ำตาล ทาบนขนมปังแผ่นเล็กสูตรโฮมเมดที่สั่งจากร้านเจ้าประจำ หรือจะสั่งมาจิ้มกับขนมปังชุบไข่ก็อร่อย กินกับชากาแฟรสเข้มกลิ่นหอม เข้ากันอย่างลงตัว เสน่ห์อีกอย่างคือบรรยากาศในร้านที่คนสงขลามานั่งจับกลุ่มสนทนากัน และป้าบ่วยในชุดสวยสะกดพร้อมรอยยิ้มพิมพ์ใจ

ภาพ: instagram @thanjira_p
น้าอ่าง น้องชายของป้าบ่วย

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านต้องปิดตัวไปนานและไม่มีสินค้าที่เดลิเวอรี่เลยเพราะส่วนใหญ่เป็นเมนูที่ต้องนั่งทานในร้าน ส่วนสังขยาที่ถูกเคี่ยวด้วยใจซึ่งใช้เวลานานก็เหลือ เมื่อได้รับโจทย์นี้ เด่น-นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ แห่ง Eden’s ซึ่งคลุกคลีในธุรกิจอาหารเช้า จึงหยิบสังขยาไหหลำมาเป็นส่วนสำคัญ แปลงร่างเป็น new menu ทั้งขนมปังกดลาย เครื่องดื่มร้อนและเย็นแบบทานง่ายเบลนด์ผสมสังขยาไปกับในทุกเมนู ที่สามารถ grab & go ได้แบบแบบไวๆ จะทานที่ไหนก็ให้รสชาติฉบับฮับเซ่ง อีกทั้งยังมีหนังสือพิมพ์ และกระดาษห่อขนมปังเล่าเรื่องร้านที่ได้เข้ามาเป็นกิจกรรมระหว่างวันให้กับป้าบ่วยอีกด้วย


แต้เฮี้ยงอิ้ว X Trang Koe
“ร้านรับแขกบ้านแขกเมืองประจำย่าน จับมือกับ เชฟชื่อดังจังหวัดเพื่อนบ้าน”
น้าเอียด - ชไมพร พงษ์สุขเจริญกุล และสามี เจ้าของร้านแต้เฮียงอิ๊ว
เชฟอุ้ม คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ จาก Trang Koe

ต่อกันที่ ร้านแต้เฮียงอิ้ว ร้านที่มีที่มาจากวัฒนธรรมอาหารจีนแต้จิ๋ว เป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองมานาน เตี่ยของน้าเอียด - ชไมพร พงษ์สุขเจริญกุล มาจากเมืองจีนมาหาบพะโล้ขาย เก็บเงินจนเปิดร้านอาหารเล็กๆ เมื่อราว 80 ปีที่แล้ว ขายอาหารจีนหลากหลาย โดยมีสมาชิกครอบครัวช่วยกันทำ รสชาติของที่ร้านจะไม่จัดจ้านแบบอาหารใต้แท้ แต่ก็ไม่จืดแบบจีน เมนูประเภทปลาและอาหารทะเลจะโดดเด่นเป็นพิเศษ ตามความเชี่ยวชาญของคนแต้จิ๋ว เน้นใช้วัตถุดิบสดใหม่จากทะเลสาบสงขลา และยังใช้วัตถุดิบที่มาจากร้านค้าในย่าน ไม่ว่าจะเต้าหู้ยี้ จากร้านเต้าหู้ยี้เสวย หรือน้ำพริกเผาจากร้านสิน อดุลยพันธ์ สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบในการทำอาหาร อาหารจานเด็ด คือ พะโล้เป็ด พะโล้หมูแดง ผัดผักบุ้ง ยำเต้าหู้ยี้ ยำมะม่วง ปลากระบอกทอด ปลากระพงทอด ต้มยำแห้ง ใครได้มาชิมก็ล้วนติดใจทุกคน 

2 ซอสอเนกประสงค์ ชูรสชาติแบบต้นตำรับสงขลา
ซอสต้มยำแห้ง
ซอสเต้าหู้ยี้

การ collab กันในครั้งนี้ได้ เชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ จาก Trang Koe ที่มีความรู้สึกศรัทธาในการใช้วัตถุดิบของร้านแต้เฮี้ยงอิ้วที่สืบทอดมายาวนาน จึงอยากส่งต่อวัตุดิบพร้อมปรุงให้กับใครที่ติดใจเอาไปทำเมนูตามใจได้ที่บ้าน ออกมาเป็น new product ซอสอเนกประสงค์ 2 สูตรสำหรับซื้อกลับไปทำที่บ้าน ซอสเต้าหู้ยี้ กับซอสต้มยำแห้ง ส่วนประกอบที่สำคัญของเมนูจานเด็ดประจำร้าน ที่ยังคงชูรสชาติการปรุงอย่างเชี่ยวชาญตามแบบฉบับแต้เฮี้ยงอิ้ว


เกียดฟั่ง X Yala Icon
“ร้านข้าวสตูและซาลาเปาเลื่องชื่อคู่ถนนนางงาม จับมือกับ ทีมนักออกแบบไฟแรงแห่งภาคใต้”
พี่หล่าน-ธนธร ศิริคติธรรม เจ้าของร้านเกียดฟั่ง
บอล-เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ นักออกแบบจากทีม Yala Icon

เกียดฟั่ง คือ ร้านข้าวสตูที่อยู่คู่ถนนนางงามมากว่า 80 ปี มีต้นตำรับมาจาก โกลัก ญาติรุ่นก๋งที่เคยเป็นพ่อครัวในเรือฝรั่งช่วงสงครามโลก เมื่อมาที่สงขลาจึงนำสตูมาปรับสูตร ใช้กะทิแทนเนย ใช้เครื่องสมุนไพรจีนเพิ่มความหอม กลายเป็นข้าวสตูที่ผสมผสานวัฒนธรรม อังกฤษ-จีน-ไทย อย่างลงตัว ว่ากันว่าใครอยากกินต้องรีบมา เพราะไม่ถึงบ่ายก็หมดเกลี้ยงแล้ว จุดเด่นคือน้ำซุปที่เข้มข้นหอมมันรสกลมกล่อม ใส่เนื้อหมู เครื่องใน กุนเชียง และหมูกรอบ กินกับข้าวสวยร้อนๆ ตัดรสด้วยน้ำจิ้มน้ำส้มโตนด อร่อยจนยากจะลืม

นอกจากนี้ยังมีซาลาเปาลูกโต ซึ่งเกิดจากยุคสงครามผู้คนลำบาก ทางร้านจึงทำให้แบ่งกินกันได้ทั้งครอบครัว ซาลาเปาลูกใหญ่ ไส้แน่นไส้หมูลูกโต รับรองความอิ่มจุใจใน 1 ลูก และมีไส้ถั่วดำ ไส้สังขยา ปัจจุบันมี หล่าน-ธนธร ศิริคติธรรม เป็นผู้ดูแลร้านในรุ่นปัจจุบัน

เมื่อได้จับคู่ collab กับนักออกแบบจากทีม Yala Icon พบว่าทางร้านไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่มายาวนาน นักออกแบบจึงชวนมาสร้างสรรค์เป็น new menu ซาลาเปาไส้ใหม่ “ไส้สตูไก่” ซึ่งรวม 2 ความอร่อยเอาใจคนที่อยากกินทั้งข้าวสตูและซาลาเปา และยังมาพร้อมกับ “ไส้ม่อฉี” ที่หยิบเอาขนมพื้นบ้านดั้งเดิมของสงขลามาชุบชีวิตใหม่ที่ นอกจากนี้ก็ยังเติมเต็มด้วยป้ายหน้าร้าน ชุดพนักงาน ไปจนถึง new packaging เพื่อสร้างภาพจำเตะตาให้กับร้านและสามารถซื้อไปเป็นของฝากแสนอร่อยจากสงขลาในคราวเดียว


สิน อดุลยพันธ์ X พลอย จริยะเวช
“ร้านของฝากขึ้นชื่อคู่ย่านเมืองเก่ามากว่าศตวรรษ จับมือกับ นักออกแบบคอนเซ็ปต์ผู้เป็นทั้งนักเขียนและนักแปลหนังสือ”
ป้าแอ๊ด-ฉววรนา อดุลยพันธ์และครอบครัว ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านสินอดุลพันธ์
พลอย จริยะเวช นักเขียน ศิลปิน นักออกแบบคอนเซปต์ จากกรุงเทพฯ

ก่อนกลับจากสงขลา อย่าลืมแวะ สิน อดุลยพันธ์ เพราะที่นี่คือร้านของฝากขึ้นชื่อที่อยู่คู่เมืองเก่ามานานเกือบร้อยปี เดิมร้านแห่งนี้ขายผ้า รองเท้า และของชำ พอมาถึงรุ่นคุณยายจึงเปลี่ยนมาขายอาหาร เมื่อปี 2466 โดยชื่อ สิน อดุลยพันธ์ มาจากชื่อนามสกุลบิดาของป้าแอ๊ด-ฉววรนา อดุลยพันธ์ ทายาทรุ่นที่ 3 สินค้าเด่นมีทั้งลูกหยี น้ำบูดู น้ำพริกเผา น้ำจิ้ม น้ำซีอิ๊ว กุ้งแก้ว มังคุดกวน สมัยก่อนทางร้านจะใส่กล่องโลหะคล้ายปี๊บ นำมาวางเรียงบนชั้นสวยงาม แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้ขวด กระปุก ถุง ซึ่งสะอาดสะดวก และทันสมัยขึ้น ของที่พลาดไม่ได้เลย คือ ‘ข้าวเกรียบ’ ที่เคยคว้ารางวัลของฝากอันดับ 1 ของประเทศในยุคนั้นเลยทีเดียว

อ.ผดุงเกียรติ รัตนศรี ศิลปินนักปั้นชาวสงขลา

ในครั้งนี้ได้จับมือกับพลอย จริยะเวช ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นลูกค้าและยังคงติดใจในรสชาติซีอิ๊วหวานและน้ำพริกเผาจากร้านสิน อดุลยพันธ์ จึงนำมาชูเป็น hero product ในขนาดและบรรจุภัณฑ์เซ็ทพิเศษ Limited edition ที่ขนาดพอเหมาะตั้งบนโต๊ะอาหาร และเพิ่มเติมด้วยการจับมือกับนักปั้นอย่าง อ.ผดุงเกียรติ รัตนศรี ในการรังสรรค์ชุดถ้วยจากดินสงขลาเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับประทาน สำหรับนักชิมยังมีชุด Catch of the day bag ที่แบ่งเป็น  Fruit of the sea บรรจุข้าวเกรียบกุ้ง ปลา ซองเล็กคู่กับน้ำพริกเผา และ ชุด Fruit of the tree บรรจุลูกหยีทรงเครื่อง มังคุดกวนให้สามารถอิ่มอร่อยได้ตลอดวันพร้อมอ่านเพลินไปกับ Storybook เล่มพิเศษอีกด้วย


ขนมไข่ป้ามล X SouthSon Design
“ร้านขนมไข่ไส้เนยอบเตาถ่านสูตรดั้งเดิม จับมือกับ สตูดิโอออกแบบชื่อดังจากหาดใหญ่”
นักออกแบบรุ่นใหม่ชาวใต้ แห่ง SouthSon Design

ร้านขนมไข่เตาถ่านอบอุ่นๆ หอมกรุ่นด้วยกลิ่นเนยมาการีน ยิ่งถ้าสั่งมาทานเลยทันทีหน้าร้านจะยิ่งอร่อยขึ้นสิบเท่า เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ขนมไข่ตกทอดสูตรต่อกันมา สำหรับร้านขนมไข่ป้ามล คือร้านรถเข็นดั้งเดิมร้านเดียวที่อบขนมโดยใช้ถ่านอบความร้อนบนหน้าขนม ขนมจะสดใหม่ กรอบนอกนุ่มใน ชุ่มเนยชวนยั่วใจจนทุกคนต้องมาทาน แม้จะย้ายมาขายที่จุดใหม่ถึง 3 ปีแล้วก็ตามแต่ลูกค้ายังคงสับสนเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของร้าน บ้างโทรสั่งทิ้งไว้ ไม่มารับ หรือขับรถเลยไปยังร้านอื่นๆ ก็มีให้พบเห็นอยู่ประจำ

ภาพ: instagram@meth1101
ภาพ: instagram@meth1101
ภาพ: facebook.com/pinkutai

จากโจทย์ที่ความยากไม่ใช่เรื่องของรสชาติ แต่เป็นการหลงทิศทาง กลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่แห่ง SouthSon Design จึงแปลงโฉมเป็น new look ให้กับรถเข็นคันเดิมด้วยการเพิ่มจุดจดจำแบบตรงไปตรงมาของที่ตั้งแห่งแรกของร้านด้วยสีของธนาคาร เพิ่มกิมมิคด้วยแพทเทิร์นจากยุคราว 60s แบบเรโทรที่สื่อสารถึงกราฟิกที่สนุกสนาน พร้อม new packaging ให้เป็นทางเลือกแบบถุงกระดาษสกรีนลายป้ามลพร้อมไม้จิ้มเพื่อให้คนจดจำ จอดแวะซื้อกลับแบบไม่ต้องหลงทางอีกต่อไป


ไอติมบันหลีเฮง X Lunaray
“ร้านไอศครีมกะทิถั่วเขียวหนึ่งเดียวในย่าน จับมือกับ นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่เจ้าของร้าน Lunaray สุดฮิต”
ครอบครัวเจ้าของร้านบันหลีเฮง และหมี-ศุภวิชญ์ อัครวิเนค ทายาทรุ่นที่ 5
ปุ่น-ธัญจิรา วงศ์หิรัญเดชา จาก Lunaray เชฟขนมหวานจากหาดใหญ่

ร้านไอศครีมบันหลีเฮง เป็นที่บ่งบอกถึงความช่างคิด เดิมบันหลีเฮงขายน้ำชา กาแฟ ขนมจีบ ซาลาเปา และไอศกรีมกะทิ ในรุ่นที่ 2 จิ้งเลี้ยน แซ่โฮ่ พ่อของนกเขา-ไชยวัฒน์ อัครวิเนค ได้ลองนำถั่วเขียวต้มมาราดลงในไอศกรีมจนลูกค้าติดใจ กลายเป็นของขึ้นชื่อของร้าน วัตถุดิบใช้ของท้องถิ่น เมล็ดถั่วเขียวคัดสรรอย่างดี ถั่วลิสงนำมาตากแห้งและคั่วเอง เครื่องเคียงเลือกของที่มีคุณภาพ ทำไอศกรีมวันต่อวัน รสชาติหวานหอม กินแล้วสดชื่นแถมราคาไม่แพง เดิมมีไอศครีมถั่วเขียวและไข่แข็ง พอมาถึงรุ่นนกเขาจึงทำรสวานิลลา และหวานเย็นลิ้นจี่ ให้เลือกเพิ่ม ทุกวันนี้มีลูกค้าอุดหนุนสม่ำเสมอ จนมาถึงเจนเนอเรชันที่ 5 ได้ หมี-ศุภวิชญ์ อัครวิเนค ที่กำลังเรียนวิชาในการรับช่วงต่อ

สำหรับร้านที่เปิดมายาวนาน การจะซื้อใจลูกค้าทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย การทำงานร่วมกันและลงพื้นที่บ่อยครั้งของ ปุ่น-ธัญจิรา วงศ์หิรัญเดชา จาก Lunaray นักสร้างสรรค์และเชฟรุ่นใหม่ด้านขนมหวานจึงทำความเข้าใจร้านค้า และการขยายกลุ่มลูกค้าสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่แต่ยังคงความคลาสสิกแบบเดิมไว้ ทดลองนำไอศกรีม 2 รสชาติหลัก มาปรับลูกเล่นใหม่เป็นแบบแท่ง และแบบโฟลทเกิดเป็น new menu โดยที่ทุกเมนูใช้วัตถุดิบท้องถิ่นสงขลา บรรจุภัณฑ์แบบซื้อกลับหรือเดินทานได้ เติมกิมมิคสติ๊กเกอร์สำหรับตกแต่งแก้วเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสนุกขึ้น


ขนมไทยจงดี X Yala Icon
“ร้านขนมพื้นถิ่นสไตล์สงขลา จับมือกับ ทีมนักออกแบบไฟแรงแห่งภาคใต้”

ร้านขนม ทองเอก สัมปันนี สไตล์สงขลา ร้านจงดี เริ่มต้นจากป้าจงดี อ่องไพบูลย์ ได้สูตรมาจากเจ้าของร้านพืชผลที่เคยรับประทานขนมชนิดนี้จากเมืองหลวง จึงมาสอนให้ป้าฝึกทำ ปรับปรุงจนหอมอร่อยและตัดสินใจเปิดร้าน ขนมทองเอกของจงดีจะเหนียว นุ่ม ไม่หวานเลี่ยน หอมกลิ่นไข่แดง ส่วนขนมสัมปันนีจะกรอบนอกนุ่มใน หวานอร่อย ไม่ใส่สีและกลิ่น กวนจนได้ที่แล้วตากแดดจนแห้ง นอกจากนี้ยังมีขนมขี้มอดรสหวานมันที่เด็กๆ ชอบ ความอร่อยเกิดจากการคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพดีและทำอย่างใส่ใจ แม้ไม่ใช่ขนมพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่คนสงขลานำมาพัฒนาสูตรจนกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อ

ถึงขนมจะรสชาติอร่อย ใครชิมก็ติดใจในฝีมือ แต่ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่ไม่แตกต่าง ทั้งยังต้องใช้เวลามากสำหรับขนมทองเอกในฉบับสงขลากับการตระเตรียม ตัด ห่อ บิดกระดาษว่าว ทีมนักออกแบบจาก Yala Icon นำโดย บอล-เอกรัตน์ สุวรรณรัตน์ นักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นพยายามแก้โจทย์บรรจุภัณฑ์อยู่หลายครั้งร่วมกับทางร้านจนลงตัวที่ new presentation นำขนมขึ้นชื่อทั้ง 3 มาเปลี่ยนเป็นการโชว์เนื้อขนม เพิ่มแถบคาดที่บอกเล่าตั้งแต่ชื่อ วัตถุดิบสำคัญ จนถึงเคล็ดลับหลังครัวที่ชวนให้ขนมอร่อยขึ้น และยังจัดเรียงเป็นเซ็ทส่งไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างสบายๆ อีกด้วย


เต้าหู้ยี้เสวย X SouthSon Design
“ร้านเต้าหู้ยี้เสวยอายุนับ 100 ปี จับมือกับ สตูดิโอออกแบบชื่อดังแห่งหาดใหญ่”
ป้าพร้อม เฉิดฉิ้ม ผู้ดูแลร้านเต้าหู้ยี้เสวย สงขลา

โรงผลิตเต้าหู้ยี้ส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาการถนอมอาหารแบบท้องถิ่นที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 ต้นตำรับโดยนางส้าย สุมังคละ ครั้งหนึ่งเคยนำขึ้นทูลฯ ถวายแก่ในหลวงฯ รัชกาลที่ 5 ครั้งเสด็จประพาส จึงนำมาตั้งเป็นชื่อร้านว่า “เต้าหู้ยี้เสวย” จากบ้านที่ใช้เป็นโรงหมักนับร้อยโอ่งตั้งแต่รุ่นคุณทวดที่มีจุดเด่นด้วยวัตถุดิบถั่วเหลืองแท้ 100% ใช้วิธีการต้ม บด บีบอัดแบบธรรมชาติ หมักดองเกลือในโอ่งด้วยแสงแดดธรรมชาติฉบับโฮมเมด สืบต่อสู่รุ่นที่ 5 คุณรชต อุตตโรพร จึงได้นำกระบวนการพาสเจอร์ไรส์เข้ามาปรับปรุงการผลิตเพื่อให้สามารถเก็บรักษาคุณภาพไว้ได้นานยิ่งขึ้น ส่งต่อเต้าหู้ยี้สู่จานอาหารร่วมสมัยให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัส โดยมีอีกหนึ่งจุดเด่น คือหน้าร้านจะมี ป้าพร้อม เฉิดฉิ้ม ยิ้มหวานคอยต้อนรับลูกค้าอยู่เสมอ

ป้าพร้อม เฉิดฉิ้ม ยิ้มหวานคอยต้อนรับลูกค้า

โจทย์หลักของร้านนี้คือ ความไม่คุ้นเคย ไม่เคยรับประทาน และไม่รู้ว่าทานอย่างไร นักสร้างสรรค์อย่าง SouthSon Design จึงเริ่มจากการปรับส่วนชั้นวางใหม่เป็น new display หน้าร้านนำเสนอเรื่องราวที่มาที่ไปของเต้าหู้ยี้ พร้อมบอกเล่าวิธีการทานตั้งแต่แบบง่าย ประจำวัน จนถึงเมนูพิเศษ แถมด้วย new presentation ในรูปแบบถุงบีบขนาดเล็กกว่าแบบขวดลงครึ่งหนึ่ง เพื่อเป็นขนาดทดลองและซื้อไปทานครั้งเดียวหมด รับรองว่านักชิมต้องเปลี่ยนจากร้อง”ยี้” เป็นร้องว่า “ของมันต้องมี” ไว้ติดตู้เย็นอย่างแน่นอน


ยินดี X NA STUDIO
“ร้านสินค้าแปรรูปจากวัตถุดิบท้องถิ่น จับมือกับ สตูดิโอออกแบบ Multidiscipline สุดเจ๋ง”
ครอบครัวเจ้าของร้านยินดี
ณฐธรรม โรจน์อนุสรณ์ นักออกแบบจาก NA STUDIO สตูดิโออกแบบท้องถิ่น

ร้านยินดี คือสินค้าแปรรูปจากวัตถุดิบท้องถิ่น ที่ยืนยันคุณภาพผ่านกระบวนการผลิตมายาวนานกว่า 70 ปี ส่งต่อกรรมวิธีตั้งแต่รุ่น คุณย่าทวดยินดี  รัตนปราการ การันตีด้วยจุดขายที่ระบุคุณภาพผ่านของดี อย่างดี พร้อมให้ลูกค้ารู้สึกยินดีเมื่อได้รับสินค้าส่งตรงถึงมือ สินค้าที่ขาดไม่ได้ถ้ามายินดี คือ ข้าวเกรียบชนิดต่างๆ โดยเฉพาะข้าวเกรียบที่ทำจากกุ้งแชบ๊วยในทะเลสาบ ที่จะเหนียวนุ่มเมื่ออบแล้วก็หอมกรุ่น น้ำบูดูเค็ม บูดูหวานทำจากปลาไส้ตันคัดพิเศษ และลูกหยีอย่างดีจากธรรมชาติ ไม่แต่งสี กวนแล้วมีความหนึบหนับ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ละมุนลิ้น

before - after

ด้วยความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ จึงสร้างความท้าทายเรื่องฉลากที่แตกต่างกันและไม่สะดวกในการใช้งานการจับมือครั้งนี้จึงเป็นโอกาสในการหาตัวตนที่ชัดเจนของแบรนด์ร่วมกับ NA STUDIO สตูดิโอออกแบบรุ่นใหม่ที่ทำงานได้หลากสาขาจากพื้นฐานกราฟิก ออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ทั้งหมดโดยอิงจากรากฐานเดิม พร้อมบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกร้าน โดย ณฐธรรม โรจน์อนุสรณ์ ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟ ไดเร็คเตอร์ NA STUDIO จนร้านเติมเต็มด้วยมุมมองงานออกแบบ พร้อมบริบทเชิงธุรกิจ ซึ่งล้วนแล้วส่งผลดีให้กับร้านดั้งเดิมในแบบองค์รวม


ยาจีนงี่เทียนถ่อง X Eden’s
“ร้านยาแผนจีนอายุ 100 ปีคู่ย่านเมืองเก่า จับมือกับ คาเฟ่สไตล์ฝรั่งเศสแห่งย่านหลานหลวง”
ตี๋-เตชธร ตันรัตนพงศ์และครอบครัว ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านงี่เทียนถ่อง

เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว ร้านยาจีนยุคบุกเบิก งี่เทียนถ่อง เป็นที่พึ่งของคนสงขลายามเจ็บไข้ รุ่นคุณทวดเป็นหมอยาชาวจีนแคะ เมื่อเปิดร้านใช้ชื่อว่า ‘ตั้นยี่เทียนต๋อง’ เป็นภาษาฮกเกี้ยน เพราะยุคนั้นในสงขลามีคนฮกเกี้ยนเยอะ สั่งยามาจากเยาวราช มีหมอแมะคอยตรวจอาการ กิจการรุ่งเรืองถึงขั้นต้องตามบุตรชายจากเมืองจีนให้มาช่วย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘งี่เทียนถ่อง’ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ชาวจีนแคะ บรรยากาศในร้านเหมือนย้อนเวลากลับไปในอดีต ข้าวของต่างๆ เช่น ตาชั่งหรือลิ้นชักยาล้วนตกทอดกันมาตั้งแต่รุ่นทวด ที่สำคัญเป็นร้านยาจีนแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในย่านเมืองเก่า ตี๋-เตชธร ตันรัตนพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 บอกว่า ร้านอยู่ได้ด้วยศรัทธาของลูกค้าที่นำยาจีนไปรักษาแล้วได้ผล ในอนาคตมีแผนจัดทำตำรายาเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงง่ายขึ้น โดยหวังให้ร้านอยู่คู่กับเมืองสงขลาไปอีกนานๆ

เมนูสตูสงขลา จากชุดเครื่องเทศงี่เทียนถ่อง วางขายที่ร้าน Eden's

หลังจาก เด่น-นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ แห่ง Eden’s ได้ร่วมพูดคุยกับครอบครัวงี่เทียนถ่อง เพื่อลองมองหาจุดร่วมที่สมดุลระหว่างภาพลักษณ์ของร้าน บรรจุภัณฑ์ที่ร่วมสมัย เรียบง่าย ให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ จนพบกับสิ่งที่น่าสนใจที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดในร้าน คือ การนำสมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบเมนูเด็ดของสงขลาที่จะรู้กันเฉพาะคนในย่านเท่านั้น จึงเกิดเป็นไอเดียการนำเสนอสมุนไพรที่เป็นอาหารในเมนูดั้งเดิม เช่น ชุดสตูสงขลา ชุดพะโล้ ชุดตุ๋นไก่ ชุดตุ๋นหมู มาจัดเป็นเซ็ทพร้อมนำกลับไปปรุงอาหารเองได้ที่บ้านเหมือนกินที่สงขลาแท้ๆ เลย


สุภาภรณ์ X 56thStudio
“ร้านปักตรา อาร์ม ยศแห่งเดียวของย่านเมืองเก่า จับมือกับ นักสร้างสรรค์ที่มักหยิบงานคราฟต์พื้นถิ่นให้ออกมาเป็นชิ้นงานสุดจี๊ด
น้ำ-ศจีรัตน์ ยานนท์ หลานสาวป้าสุภาภรณ์ กาละดิเรก ผู้ดูแลร้านสุภาภรณ์
ศรัณย์ เย็นปัญญา แห่ง 56thStudio จากกรุงเทพฯ

สงขลา เป็นจังหวัดที่สำคัญของภาคใต้ตอนล่าง จึงเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งมาพร้อมเหล่าผู้ปฏิบัติงานอย่าง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยที่ล้วนต้องใช้งานตรา อาร์ม ป้ายชื่อ เครื่องหมายสัญลักษณ์ บั้งหรือตำแหน่งยศ ประดับบริเวณเสื้อผ้าเพื่อระบุถึงหน่วยงานและตำแหน่ง ร้านสุภาภรณ์ถือเป็นร้านจำหน่ายงานปัก ตรา อาร์ม ยศแบบครบจบที่เดียว และเป็นร้านแห่งเดียวที่ปัจจุบันยังเปิดดำเนินการอยู่จนเป็นที่คุ้นชินของคนในย่านและนึกถึงเป็นร้านแรกๆ ทุกครั้งเมื่อต้องการใช้งาน จนถึงทุกวันนี้ที่มีรุ่นหลานอย่าง น้ำ-ศจีรัตน์ ยานนท์ มาคอยดูแลต่อจากคุณป้าสุภาภรณ์ กาละดิเรก

ความสนุกของการ collab กันระหว่าง สุภาภรณ์ และศรัณย์ เย็นปัญญา แห่ง 56thStudio คือ การเล่นกับขั้วตรงข้าม การหยิบของที่แทบจะไม่เข้ากันให้ดูเข้ากันภายใต้ คอนเซ็ปต์ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ” ที่ต้องการสื่อสารกับการอยู่ในกรอบแบบฟอร์มและตั้งคำถามถึงภาพจำของสงขลาว่าควรจะเปลี่ยนแปลงไปต่ออย่างไรหากไม่ใช่เพียงภาพจำแบบเก่า เกิดเป็นงานปักแพทเวิร์กที่โชว์ฝีมือของสุภาภรณ์อย่างเต็มเปี่ยมและสามารถใช้งานได้ทุกเพศทุกวัยทุกอาชีพ


โรงพิมพ์ทวีทรัพย์ X Soulsouth Studio
“โรงพิมพ์จากรอยต่อของ 2 ยุค จับมือกับ สตูดิโอออกแบบรุ่นใหม่จากจังหวัดเพื่อนบ้าน”
ต่อ-ต่อศักดิ์ จตุรพร เจ้าของโรงพิมพ์ทวีทรัพย์
Soulsouth Studio สตูดิโอออกแบบกราฟิกจากยะลา

โรงพิมพ์ทวีทรัพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจตกหล่นจากการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า แม้จะไม่ใช่โรงพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในสงขลา แต่ก็เป็นที่คุ้นเคยและรู้จักดีในลูกค้าขาประจำ ผู้คนมักจะแวะทักทายกับ ต่อ-ต่อศักดิ์ จตุรพร เจ้าของโรงพิมพ์อยู่เสมอ ที่นี่เปิดทำการมาราว 30 ปี ตั้งแต่ช่วงรอยต่อของธุรกิจการพิมพ์จากยุคแอนะล็อคแบบเรียงพิมพ์เข้าสู่ยุคดิจิทัล งานส่วนใหญ่ทำได้แทบทุกรูปแบบตามความต้องการของลูกค้า ตั้งแต่งานพิมพ์แบบฟอร์ม ใบกำกับรับเงินและใบส่งรับของ รวมถึงนามบัตร และแผ่นพับต่างๆ

การจับมือกับ Soulsouth Studio สตูดิโอออกแบบกราฟิกจากยะลา จึงนับเป็นการเติมช่องว่างให้แก่กันระหว่างเทคนิคการพิมพ์เก่าและการออกแบบจากคนรุ่นใหม่ ต่อยอดเป็น new product ที่ซ้อนทับกันไปมาของการพิมพ์สองมิติและสามมิติบนโครงร่างอาคารเก่าในสงขลาจนได้เป็นผลงานพิมพ์หลากรูปแบบที่ใช้ในชีวิตประจำวันในฉบับแบรนด์ของตนเอง มีทั้ง ปฏิทิน สมุดโน๊ต และสติ๊กเกอร์ สร้างส่วนผสมที่ลงตัวช่วยขยายฐานลูกค้าและเกี่ยวโยงไปกับธุรกิจการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าสงขลาได้อีกด้วย


เติมเต็มด้วยโปรเจ็กต์ต่อขยายที่ทำให้ Made in Songkhla สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแค่ทำงานกับร้านค้าดั้งเดิม 12 ร้าน ด้วยความที่ย่านเมืองเก่าก็ยังมีคาเฟ่ร้านกาแฟไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย ทีมงานจึงเชิญชวนเหล่าร้านค้าของคนรุ่นใหม่ทั้งที่อยู่ในย่านหรือที่หาดใหญ่ ให้มาเป็นพันธมิตร โดยใช้ชื่อว่า “Friends of Made in Songkhla” ให้เจ้าของร้านที่มีไอเดียความสร้างสรรค์อยู่แล้วกว่า 9 คาเฟ่ร้านค้า มาเลือกหยิบเอาวัตถุดิบจากโปรเจ็กต์ Made in Songkhla ไปต่อยอดรังสรรค์เมนูใหม่ ได้ออกมาเป็นเมนูที่คาดไม่ถึงมากมาย เช่น ร้าน Studio55 สร้างสรรค์เมนูใหม่อย่าง เค้กแอปเปิ้ลซอสซีอิ๊วหวานของร้านสิน อดุลพันธ์, ครัวซองต์ขี้มอด-ตุ๊บตั๊บ ของร้านนครในใจที่หยิบเอาขนมขี้มอดจากร้านป้าขจงดีมาต่อยอดอีก เป็นต้น สร้างความยั่งยื่นส่งเสริมและสนับสนุนกันและกันของร้านค้าในย่านได้อย่างน่ารักจริงๆ

"เดอร์ตี้ สัมปันนี" (Dirty Sampanni) โดยร้าน Lorem Ipsum หาดใหญ่
"French Apple Cake" เค้ก Apple ผสมซอสซีอิ๊วหวานจาก สิน อดุลยพันธ์ โดยร้าน Studio55
"แสร้งว่า ทีรามิสุ" โดยร้านสแตนด์บรูว ดัดแปลงขนมทิรามิสู โดยเปลี่ยนฐานจากเลดี้ฟิงเกอร์ชุบกาแฟ เป็นขนมปังโฮสวีตงาขี้ม่อนชุบสังขยาร้านฮับเซ่ง
คราฟท์โคล่า + old school Kopi เสิร์ฟคู่ขนมไข่ป้ามล โดยร้าน Grandpa Never Drunk Alone
"ไอศกรีมเมี่ยงคำ" ใช้ "ซีอิ้วหวานอย่างดี" จากร้านสิน อดุลยพันธ์ แทนน้ำจิ้มเมี่ยงคำ ทานคู่กับไอศกรีมกะทิสด โดยร้าน Lunaray หาดใหญ่
นอกจากวางขายที่หน้าร้านแต่ละร้าน Made in Songkhla ยังจัดนิทรรศการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของโปรเจ็กต์ ที่ a.e.y.space

Made in Songkhla โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ A.E.Y Space ผู้ประกอบการร้านค้าเก่าแก่ดั้งเดิมในย่านเมืองเก่าสงขลา และ นักสร้างสรรค์ท้องถิ่นและกรุงเทพ ฯ

เรื่อง: ทีมงาน Made in Songkhla เรียบเรียง: ปิยะพร สวัสดิ์สิงห์ ภาพประกอบ: โปรเจ็กต์ Made in Songkhla และ ทีมงาน Made in Songkhla