Bangkok/Charoenkrung/District Projects
TH | EN

Made in Charoenkrung ปี 3

กิจการรุ่นสุดท้าย กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ

Made in Charoenkrung ปี 3
Published Date:

Made in Charoenkrung ปีที่ 3

Made in Charoenkrung ปีที่ 3 (2565) มาพร้อมโจทย์ “Last generation” เน้นไปที่กิจการรุ่นสุดท้ายที่ไม่มีผู้สืบทอด  กิจการที่กำลังจะเลือนหายไปเพราะเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ หรือแม้กระทั่งเพราะผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แม้จะมีจำนวนเพียง 5 คู่เท่านั้น แต่รับรองว่าจะเป็นส่วนผสมที่คุณคาดไม่ถึง เปิดตัวในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 (Bangkok Design Week 2022)

“5 ร้านเก่าแก่ดั้งเดิมในย่าน x 5 นักออกแบบ นักสร้างสรรค์”


1. ชุงแซ x Ek Thongprasert

โคมไฟนิวโมเดิร์นจากภูมิปัญญาช่างโคมจีนแปดทศวรรษ

‘ชุงแซ’ เป็นร้านที่ผลิตโคมจีนมาต่อเนื่องกว่า 8 ทศวรรษ และยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม ทั้งการติดกระดาษ การเขียนตัวอักษร ไว้เหมือนเดิมไม่มีเสื่อมคลาย

‘เต็งลั้ง’ หรือโคมขาว ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ติดอยู่ตามศาลเจ้าต่างๆ ตัวโคมทำด้วยไม้ไผ่จักเป็นตอกเส้นแบน มีทรงกลมหรือทรงกระบอก หุ้มด้วยกระดาษขาว เขียนตัวอักษรสีแดง เป็นชื่อเทพเจ้าของศาลนั้นๆ ปกติจะติดเป็นคู่ และต้องเปลี่ยนทุกปี ตามเทศกาลไหว้เจ้าของแต่ละแห่ง

ลุงเซ้ง แซ่ตั้ง เจ้าของร้านวัย 70 ปี เล่าว่า กิจการนี้ดั้งเดิมเป็นของ จุงเฮา แซ่ตั้ง ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาจากซัวเถา ครั้งหนึ่งเคยประกอบอาชีพ ทำยากันยุง รับจ้างทั่วไป ก่อนจะมาได้วิชาทำโคมจีน และยึดเป็นเครื่องมือทำมาหากินเรื่อยมา จนถึงเปิดร้านของตัวเองแถวย่านสะพานอ่อนได้สำเร็จ สมัยนั้นครอบครัวนี้ประกอบไปด้วยพ่อแม่และลูกอีก 4 คน ทุกคนต้องเรียนรู้ ช่วยกันตั้งแต่กวนแป้งเปียก ติดกระดาษแก้วขุ่น รวมถึงเขียนตัวอักษรจีนลงบนตัวโคม ซึ่งสั่งซื้อมาจากเมืองจีน

กระทั่งเมื่อ 50 ปีก่อน เจ้าของร้านรุ่นแรกถึงแก่กรรม เซ้งลูกชายคนโต วัย 18 ปี จึงต้องรับช่วงต่อ โดยระหว่างนั้นเขาก็โยกย้ายร้านไปตามพื้นที่ต่างๆ เช่นพลับพลาไชย เยาวราช ก่อนจะมาลงเอยในตรอกเล็กๆ ย่านสี่พระยา ถึงตัวร้านอาจจะหายากสักหน่อย แถมมีให้เลือกซื้อหลายเจ้า แต่ด้วยฝีมืออันประณีต เปี่ยมไปด้วยพิถีพิถันทำให้ลูกค้ายังคงวางใจใช้บริการโคมจีนของที่นี่ไม่เปลี่ยนแปลง

โดยกระบวนการผลิตทั้งหมด (เว้นแต่การผลิตโครง ซึ่งทุกวันนี้รับต่อมาจาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี) ลุงเซ้งเป็นคนดูแลด้วยตัวเอง ตั้งแต่การกวนแป้งเปียก การติดกระดาษที่ต้องอาศัยสมาธิและความชำนาญ เพราะจะมีรอยยับรอยย่นไม่ได้เลย รวมไปถึงการเขียนตัวอักษรบนโคม เพราะแม้ตอนนี้เขาจะมีบล็อกพิมพ์สำเร็จสำหรับนามของเทพเจ้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่าง ปุนเถ้ากง-ม่า สามารถสกรีนลงกระดาษได้ทันที แต่ถ้าเป็นองค์อื่นๆ หรือไซส์พิเศษ เขาก็พร้อมตวัดพู่กันแสดงฝีไม้ลายมือเหมือนเช่นเคย

แม้เวลานี้ ลุงเซ้งจะไม่มีลูกหลานมาสืบทอดกิจการ และสุดท้ายอาจต้องปล่อยให้ตำนานเกือบศตวรรษนี้จะจางหายไปตามกาลเวลา แต่เขาก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ยังรักษามรดกที่เตี่ยมอบไว้ให้ได้เสมอมา และยินดีที่จะถ่ายทอดศิลปะการสร้างสรรค์งานโคมนี้ไปยังผู้ที่สนใจ

โครงการ Made in Charoenkrung 3 ตั้งใจจะยืดอายุของดีในพื้นที่เจริญกรุงให้คงอยู่ และสามารถปรับเปลี่ยนล้อไปได้กับยุคสมัยได้ จึงชักชวนนักออกแบบรุ่นใหม่มาทำงานร่วมกับร้านเก่าแก่

นักออกแบบที่รับอาสามาทำงานร่วมกับชุงแซ คือ เอก ทองประเสริฐ แห่ง EK Thongprasert ดีไซเนอร์มากความสามารถที่ขึ้นชื่อเรื่องนำภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาต่อยอดจนเกิดเป็นผลงานที่ไม่ธรรมดา การันตีได้จากรางวัลระดับสากลที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่อปีที่แล้ว เขายังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Made in Charoenkrung 2 นำเครื่องประดับกระเบื้องโบราณมาปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นของโมเดิร์นที่โดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ไม่น้อย

หลังได้รับโจทย์มา สิ่งแรกที่เอกนำมาตกผลึกก่อนคือความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในโคมจีน เพราะนอกจากจะเป็นของที่ถูกนำไปแขวนหน้าศาลเจ้าเพื่อความสิริมงคลแล้ว แต่ยังถือเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนบริบทความเชื่อของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่ก่อนยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรถึงจะนำสิ่งของที่อยู่ในความเชื่อเดิม เข้ามาผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัวและไม่ดูแปลกแยกจนเกินไป โดยภาพที่เขานึกถึงคือ เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านของผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งปรับเปลี่ยนดีไซน์จนสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยได้ ซึ่งโคมจีนนี้อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นโคมไฟตั้งโต๊ะ โคมไฟหัวเตียง หรือของประดับอื่นๆ ได้เช่นกัน

เมื่อได้แนวทางในใจ เอกจึงเข้าไปพูดคุยกับลุงเซ้งเพื่อเรียนรู้ทักษะต่างๆ ของช่างทำโคมจีนโบราณ เรื่องหนึ่งที่ค้นพบก็คือ เทคนิคการติดกระดาษ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ นับเป็นภูมิปัญญาที่ต้องสั่งสม และทำจนชำนาญ เอกมองว่า ควรจะนำเทคนิคมาต่อยอด โดยเขาทำโครงรูปแบบใหม่ๆ นอกเหนือจากโครงทรงกลม และให้ลุงเซ้งใช้ทักษะของตัวเอง ผลิตเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ โดยยังคงจุดเด่นเรื่องเห็นแล้วสัมผัสได้ถึงความมงคล ตามคุณค่าดั้งเดิมของโคมจีน เพราะถึงไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไป แต่ความเชื่อดั้งเดิม อย่าง ปีชง ไหว้เจ้า หรือการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังมีอยู่

เพราะฉะนั้นการทำงานครั้งนี้จึงเปรียบได้กับการนำทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของพื้นที่ มาขัดเกลา เพื่อสืบสาน ต่อยอดและพัฒนาให้ร่วมสมัยและคงอยู่สังคมไทยเรื่อยไป

“ชุงแซ” บ้านทำโคมจีน
ที่อยู่ : ซ.เจริญกรุง 26 ถ.สี่พระยา แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
โทร.: 099 443 0511
เปิดทุกวัน 8.00-16.00 น.


2. ฮงฮวด X witti.studio

โฉมใหม่ของร้านไอศกรีมสุดคลาสสิกแห่งไปรษณีย์กลาง

‘ไอศกรีมหลบลูกระเบิด’ คือฉายาของฮงฮวด ร้านเก่าแก่คู่ย่านไปรษณีย์กลางที่เปิดขายตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเจ้าของสูตรลับ ไอศกรีมเนื้อเนียน หอมหวาน เข้มข้น พร้อมเยลลี่สีแดง ที่ทำให้ใครที่ได้ชิมต่างติดใจไปตามๆ กัน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2484 สามีภรรยาชาวจีนโพ้นทะเลคู่หนึ่งได้เรียนรู้วิธีทำไอศกรีมจากเพื่อนๆ ละแวกตลาดน้อย เอามาปรับสูตรตามความชอบ ก่อนใส่รถเข็นมาขายบริเวณซอยเจริญกรุง 43 รสต้นตำรับดั้งเดิมคือกะทิ ทำโดยนำกะทิสดมาคั้นมือ ผสมกับขนุน และมะพร้าวอ่อน แล้วปั่นมือแบบโบราณจนจับตัวกลายเป็นเนื้อไอศกรีมหวานเย็นละมุน

เมื่อ ฮง แซ่ตั้ง ทายาทรุ่นที่สอง มารับช่วงต่อ กิจการก็ต่อยอดไปอีกขั้น นั่นคือการขยายกิจการไปเช่าพื้นที่ขายในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เด็กๆ ต่างรู้จักกันในนาม ‘ไอติมลุงอ้วน’ แต่ชื่อร้านจริงๆ คือ ‘ฮงฮวด’ ที่มาจากคำมงคล แปลว่า ความเจริญรุ่งเรือง

ด้วยความเป็นคนชอบคิดสร้างสรรค์ ฮงจึงทำไอศกรีมเพิ่มขึ้นอีก 4 รส คือ วานิลา โกโก้ สตรอว์เบอร์รี และกาแฟ เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงอย่างข้าวโพด ลูกชิด ถั่ว ลูกบัว และที่พิเศษคือเยลลี่สีแดงที่เกิดจาการทดลองเอาเจลลาตินจากตลาดขนมฝรั่งมาผสมกับน้ำแดงใส่แม่พิมพ์รูปพระอาทิตย์ ล้อรับไปกับรูปทรงของจานกระเบื้องสีส้มภายในร้าน ซึ่งนอกจากจะทําให้ไอศกรีมดูเด่นแล้วยังเข้ากันกับทุกรสชาติได้อย่างดี (253 words)

ลูกค้าของฮงฮวดมีทั้งคนทำงานละแวกไปรษณีย์กลาง เด็กนักเรียน นักท่องเที่ยว หรือคนมีชื่อเสียงที่บอกกันปากต่อปากทำให้ขายดิบขายดี เมื่อกิจการตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 ทุกคนก็พยายามรักษาคุณภาพและราคาที่เป็นมิตรเอาไว้ พร้อมกับปรับปรุงให้อร่อยยิ่งขึ้น โดยล่าสุดนำมะพร้าวอ่อนกลับมาใส่ในไอศกรีมกะทิอีกครั้ง รสชาติจึงหอมมันกว่าเดิม (เคยเปลี่ยนไปใช้เผือกแทนเพราะวัตถุดิบขาดแคลน)

ความท้าทายในปัจจุบันคือ คนรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยรู้จักร้านฮงฮวดกันแล้ว แต่ทายาทรุ่นลูกรุ่นหลานยังคงมีความภูมิใจในกิจการเล็กๆ ที่มีส่วนสร้างความสุขให้แก่คนในย่านมาอย่างยาวนาน พวกเขาจึงตั้งใจจะรักษาไอศกรีมฮงฉวดให้คงอยู่ต่อไป (115 words)

Made in Charoenkrung 3 สานต่อความตั้งใจของฮงฮวด และชวน ผึ้ง-วิทมน นิวัติชัย และ สันติ ตันสุขะ ผู้ก่อตั้ง ‘witti.studio’ ดีไซนสตูดิโอ เข้ามาร่วมออกแบบปรับโฉมร้านฮงฮวดให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น

สิ่งที่สองนักออกแบบมองตรงกันคือ เสน่ห์ของฮงฮวดคือความดั้งเดิมทั้งรสชาติและบรรยากาศ ที่ราวกับว่าเวลาในอดีตถูกหยุดไว้ จากโจทย์ที่ต้องการให้คนรุ่นใหม่ “รู้จัก” ร้านนี้มากขึ้น และทางฮงฮวดไม่ต้องปรับตัวมากเกินไป พวกเขาจึงชวนทายาทรุ่น 4 เปิด account อินสตราแกรม @honghuad.icecream เป็นช่องทางการสื่อสารออนไลน์ รวมถึงออกแบบโลโก้ใหม่ที่จดจำง่ายขึ้น ‘ฮงฮวด ไอศกรีมไปรษณีย์กลาง’ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากป้ายร้านดั้งเดิมและเยลลี่สีแดง โลโก้นี้จะนำไปติดที่ร้านและบนถ้วยไอศกรีมกระดาษแบบซื้อกลับบ้าน ซึ่งเปลี่ยนมาใช้ถ้วยกระดาษแทนเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้คือการ ติดป้ายอะคริลิคหน้าร้านเพื่อให้เตะตาคนผ่านไปผ่านมา ตกแต่งร้านใหม่ด้วยภาพวาดสีสันสดใสบอกเล่าความเป็นมากว่า 80 ปีของฮงฮวด โดยตั้งใจว่าระหว่างที่ลูกค้าลิ้มรสความอร่อยดั้งเดิม พวกเขาจะได้ประสบการณ์แบบใหม่ติดตัวกลับไปด้วย

วันนี้ร้านฮงฮวดฉบับปรับโฉม พร้อมต้อนรับคนรักไอศกรีมทุกคน ขอเชิญมาชิมไอศกรีมถ้วยพิเศษที่จะพาทุกท่านหวนรำลึกรสชาติแห่งความสุขในวัยเยาว์อีกครั้ง

ไอศกรีมฮงฮวด
ที่อยู่: ซ. เจริญกรุง 43 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
โทร: 02 234 2252, 086 999 5566
จันทร์-เสาร์ 10.00-20.00 น.
Instagram : @honghuad.icecream


3. เซียวเซียะกี่แสตมป์ x Likaybindery

ปลุกชีพแสตมป์เก่าสู่งานเปเปอร์คราฟท์สุดเก๋ ไอเทมแต่งบ้านที่คุณไม่ควรพลาด!!

สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับไปรษณีย์กลาง ก็คือร้านแสตมป์ที่ครั้งหนึ่งเคยตั้งเรียงรายอยู่หลายร้าน แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ร้านเหล่านี้ทยอยปิดตัวไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายเหลือไม่กี่เจ้า และหนึ่งในนั้นก็คือ เซียวเซียะกี่แสตมป์ ร้านแสตมป์แห่งแรกของย่านเจริญกรุงซึ่งดำเนินกิจการมาต่อเนื่องกว่า 80 ปี

จุดเริ่มต้นของร้านแห่งนี้ คงต้องย้อนกลับไปช่วงปี 2480 ถวัลย์ สมิตาสิน ชาวจีนโพ้นทะเลที่มาเปิดร้านเช่านิยายจีนใกล้กับไปรษณีย์กลาง จึงได้พบกับซองจดหมายใช้แล้วถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก เขาสนใจแสตมป์สวยๆ ลวดลายแปลกๆ จึงตัดนำมาขาย ปรากฏว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาพักอยู่ที่โรงแรมโอเรียนเต็ลเกิดโดนใจ มาเลือกซื้อแถมยังให้ราคาดีอีกต่างหาก

ตั้งแต่นั้น เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนกิจการมาขายแสตมป์แทน โดยช่วงแรกนั้นเปิดร้านอยู่ในซอยโรงเรียนอิสระนุกูล บางรัก ก่อนจะขยับมาอยู่ริมถนนเจริญกรุงอย่างทุกวันนี้

เมื่อ 40-50 ปี ก่อน การสะสมแสตมป์ถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตของคนไทย โดยได้รับอิทธิพลมาจากชาวต่างชาติ นักเรียนนอก ก่อนจะแพร่หลายมาสู่รั้วโรงเรียน และกลุ่มนักสะสม แต่ละปี กรมไปรษณีย์โทรเลข (ในยุคนั้น) ก็จะออกแสตมป์ใหม่ๆ เพื่อหมุนเวียนในการส่งจดหมาย รวมถึงเป็นที่ระลึกในงานสำคัญของประเทศ​ เช่นพระราชพิธีต่างๆ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการสะสมข้าวของอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน เช่นเหรียญกษาปณ์และธนบัตร ตลอดจนแสตมป์ของต่างประเทศ

ว่ากันว่าในยุคบูมสุดขีด ร้านเซียวเซียะกี่แสตมป์พยายามค้นหาแสตมป์แปลกๆ ที่น่าสนใจมาให้บริการนักสะสม ทั้งแสตมป์ที่มากับจดหมายจากเมืองจีน รวมถึงติดต่อขอสั่งซื้อแสตมป์จากเมืองนอก ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากบรรดานักสะสมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติติดต่อเข้ามาอย่างล้นหลาม

กระทั่งวีรชัย สมิตาสิน บุตรชายของถวัลย์ มารับช่วงต่อ เขากับภรรยา หลงใหลในเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ในกระดาษแผ่นเล็กๆ ไม่ต่างกัน เพราะนอกจากความสวยงามและเรื่องราวความเป็นมาของแสตมป์แต่ละดวงแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความผ่อนคลาย เวลาที่เครียด พอเปิดดูแล้วจะรู้สึกมีความสุข

ปัจจุบันเซียวเซียะกี่แสตมป์ ดำเนินงานโดย ฟลุ๊ค-จักรพงษ์ สมิตาสิน ทายาทรุ่นที่ 3 โดยมี แสวง สมิตาสิน ผู้เป็นแม่คอยประคับประคองอย่างใกล้ชิด

แม้ความนิยมของการสะสมแสตมป์จะลดน้อยลงไปมาก ด้วยผลพวงของเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้การส่งจดหมายแทบไม่หลงเหลือ แต่เขาก็ไม่เคยยอมแพ้ เพราะภาคภูมิใจในมรดกทางอาชีพที่ส่งต่อมาจากรุ่นปู่รุ่นพ่อ จึงพยายามนำแสตมป์หลายพันดวงมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

Made in Charoenkrung 3 จึงชักชวน เก๋-พันทิพา ตันชูเกียรติ Paper Artist แห่ง Likaybindery ซึ่งทำงานออกแบบและสร้างผลงานดีไซน์จากกระดาษต่อเนื่องนับสิบปี มาช่วยทดลองนำแสตมป์มาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีเสน่ห์ไม่แพ้แสตมป์สะสมเลย

เก๋ยอมรับว่า ช่วงแรกที่เริ่มทำนั้นก็กังวลไม่น้อย เนื่องจากแสตมป์หลายดวงก็มีมูลค่ามหาศาล แต่หลังจากพูดคุยกัน ก็พบว่ามีแสตมป์อีกประเภทที่ใช้ส่งจดหมายทั่วไปและไม่ได้เข้าคอลเลคชันใดๆ โดยทางร้านจะตัดจากมุมซองแล้วนำมาร่อนน้ำจนเหลือแต่แผ่นแสตมป์ ซึ่งแสตมป์แบบนี้ ราคาไม่ได้แพงมาก เธอจึงเห็นว่าอาจนำมาต่อยอดได้ โดยแทนที่จะเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าเดิมๆ แบบนักสะสม ก็เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชมความสวยงามของแสตมป์แทน

ระหว่างนั้นเธอได้พูดคุยกับฟลุ๊ค เจ้าของร้านว่า ที่ผ่านมาเขาเคยทดลองนำแสตมป์ไปทำเป็น ​​Paper mache แต่ก็ยังไม่โดนใจเท่าที่ควร ส่วนเก๋เอง ก็ทำเรื่อง Paper Cutting จึงคิดว่าอาจจะนำเทคนิคทั้งสองอย่างมารวมกันได้ และเกิดเป็นภาพที่สามารถนำไปใส่กรอบหรือมอบเป็นของขวัญได้

หลังลองคิดอยู่นานก็มาเห็นงาน Paper Cutting ของจีนนั้นน่าสนใจ เพราะเน้นไปที่เรื่องคำมงคล จึงมาต่อยอดร่วมกันว่า แทนที่จะทำเป็นงานกระดาษเป็นรูปอักษรจีน ก็น่าจะลองหาลูกเล่นใหม่ๆ เช่นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสิริมงคล เช่น โคม ปลาทอง ดอกโบตั๋น เสือ และบอนไซ

โดยรูปแบบของงานศิลปะนี้ประกอบด้วยกระดาษขนาดเอสี่ 2 แผ่น แผ่นแรกนั้นเจาะเป็นลวดลายตามที่ออกแบบไว้ ส่วนอีกแผ่นนั้นจะนำแสตมป์ที่คัดเลือกแล้ว ตามสีหรือลวดลาย ประมาณ 20 ดวง มาแปะซ้อนๆ กัน จากนั้นก็นำมาประกบติดกัน ก็จะได้ผลงานศิลปะที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน เสริมด้วยการปั๊มตราโลโก้ของร้าน

ข้อดีคือนอกจากจะเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ และขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นแล้ว ยังช่วยให้นำแสตมป์ที่ฉีกขาดหรือมีตำหนิกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกต่างหาก

สำหรับเก๋แล้ว เป้าหมายหลักคือ การสร้างทางเลือกใหม่ๆ กับร้าน เพราะร้านทางอาจนำไอเดียไปพัฒนาต่อยอดได้ เช่น การทำชุด DIY ซึ่งประกอบด้วยกระดาษขนาดเอห้า 2 แผ่นกับแสตมป์เปล่าๆ ซึ่งลูกค้าสามารถนำไปสร้างสรรค์ต่อตามสไตล์ของตัวเอง

เซียวเซียะกี่แสตมป์
ที่อยู่: 1216 ถ.เจริญกรุง (ตรงข้ามแยกถนนสุรวงศ์ตัดกับถนนเจริญกรุง)
โทร: 02 233 7337
จันทร์-เสาร์ 9.00-17.00 น.
Facebook : ซื้อขาย สิ่งสะสม ณ เซียวเซียะกี่


4. ร้านเฮียเกรียงศักดิ์ ช่างตีเหล็กคนสุดท้ายแห่งตลาดน้อย x COTH studio

สานต่อคุณค่างานตีเหล็กผ่านอุปกรณ์กาแฟทองเหลือง

เสียงค้อนทุบโลหะ ดังเป็นจังหวะมาจากห้องแถวเล็กๆ ในตลาดน้อย นี่คือเสียงที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของชุมชนที่เคยเต็มไปด้วยช่างเหล็กเมื่อ 200 ปีที่แล้ว จนได้ชื่อว่า Fonderie Chinoise หรือ ‘บ้านช่างหลอมจีน’ ตามเอกสารโบราณของชาวฝรั่งเศส ทว่าบัดนี้เหลือคนทำอาชีพเก่าแก่นี้เพียงรายเดียว คือ เฮียเกรียงศักดิ์ เกิดผลเจริญยิ่ง การได้ทำงานตีเหล็กที่รักนี่เองเป็นเคล็ดลับให้เฮียยังดูแข็งแรงมากๆ แม้อายุกว่า 70 และทำไปยิ้มไปอย่างมีความสุข

ด้วยความที่ตลาดน้อยอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีเรือมาจอดเทียบท่าเพื่อเปลี่ยนอะไหล่ซ่อมแซม จึงเกิดอาชีพรับตีเหล็ก ตีสมอเรือ ทำสายโซ่และอุปกรณ์เครื่องยนต์เรือชนิดต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรยากาศคึกคักมากเพราะมีเรือญี่ปุ่นเข้ามาซ่อมเป็นประจำ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน อะไหล่และชิ้นงานเหล็กถูกผลิตออกมาจากโรงงานแบบสำเร็จรูป ส่งผลให้ช่างเหล็กลดน้อยลงเรื่อยๆ จนแทบหมดไป

เฮียเกรียงศักดิ์รับมรดกอาชีพนี้มาจากบิดาซึ่งเป็นชาวฮกเกี้ยน ที่อพยพจากเมืองจีนมาตั้งแต่อายุสิบกว่าปี แรกเริ่มก็ทำงานเป็นลูกมือตีเหล็กอยู่กับญาติ ก่อนแยกมาเปิดร้านของตัวเองที่ตลาดน้อย

เมื่อเฮียเกรียงศักดิ์โตขึ้นก็ออกจากโรงเรียนมาฝึกตีเหล็กเป็นลูกมือช่วยพ่อ และรับอาชีพนี้มาทำต่อ แม้เป็นงานที่ใช้พละกำลัง แต่เฮียบอกว่าถ้ารู้หลักการแล้วไม่ต้องออกแรงมาก แค่ตีให้ถูกจังหวะก็พอ โดยอุปกรณ์สำคัญคือค้อน ทั่งเหล็กอายุกว่า 60 ปี ยี่ห้อเยอรมัน มรดกตกทอดจากรุ่นพ่อ และเตาไฟใช้ถ่านซึ่งปลอดภัยมากกว่าเตาแก๊สเนื่องจากคุมไฟได้ง่าย

สมัยก่อนที่ร้านรับจ้างตีทั้งสมอเรือ ตะขอยก โซ่ อวนลากปลา แต่ปัจจุบันด้วยอายุที่มากขึ้นจึงรับงานที่ไม่หนักมาก เน้นอุปกรณ์ที่ใช้งานเฉพาะเจาะจง เช่น หัวแร้งบัดกรี คีมสำหรับเททองหล่อพระ กระบวยตักทอง เครื่องมือทำทอง โดยมีผู้ช่วยที่รู้ใจคือ พี่ไก่-สืบสันติ อินทร์อ่อน ซึ่งทำงานด้วยกันมามาเกือบ 25 ปี คอยแบ่งเบาภาระ ซึ่งงานมีเข้ามาไม่ขาดสายเนื่องจากคนทำเหลือน้อย และลูกค้าก็เชื่อมั่นในฝีมือเพราะเฮียควบคุมคุณภาพเองทุกชิ้น

งานตีเหล็กถือเป็นงานฝีมือ ต้องฟาดค้อนเหล็กอันหนักอึ้งลงบนเหล็กที่ร้อน เพื่อดัด ตี สร้างชิ้นงานขึ้นมาด้วยทักษะความชำนาญ และต้องทำงานอยู่หน้าเตาไฟที่ระอุแทบตลอดเวลา แม้อายุ 73 ปีแล้ว แต่เฮียเกรียงศักดิ์ก็ยังตีเหล็กอยู่ ไม่คิดจะเลิก เพราะเชื่อว่างานคือเกมกีฬา เป็นการออกกำลังกาย ดีกว่าอยู่เฉยๆ ที่สำคัญคือเป็นอาชีพที่เฮียรัก และภูมิใจที่งานนี้ได้เลี้ยงครอบครัว ส่งเสียให้ลูกๆ มีการศึกษาและการงานที่ดีจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม ช่างตีเหล็กคนสุดท้ายแห่งตลาดน้อยยอมรับว่า ถ้าหมดรุ่นของเขาไปแล้วก็คงไม่มีใครมาสืบทอดต่อ เพราะลูกหลานต่างก็แยกย้ายไปทำงานตามความสนใจของตนเองกันหมดแล้ว

Made in Charoenkrung 3 ไม่อยากให้ภูมิปัญญานี้สูญหายไป จึงชวนนักออกแบบรุ่นใหม่ อย่าง COTH studio ที่มีความถนัดหลากหลายด้านรวมถึงงานโลหะ และคว้ารางวัลมาแล้วจากหลายจากเวทีการประกวดทั้งในประเทศและนานาชาติ มาร่วมกันคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อเล่าเรื่องราวและต่อยอดคุณค่าของอาชีพตีเหล็กไปสู่วงกว้าง

ต้น-เฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COTH studio ลงพื้นที่ไปคุยกับเฮียเกรียงศักดิ์และประทับใจเทคนิคการตีเหล็ก 2 ชิ้นแล้วนำมาสอดประกอบกันเป็นคีม จึงคิดต่อยอดไปถึงการทำเก้าอี้ แต่ก็พบข้อจำกัดว่าไม่สามารถใช้เทคนิคนี้ทำชิ้นงานที่รับน้ำหนักมากๆ ไอเดียเก้าอี้จึงถูกพับไป

ขณะเดียวกัน เขาก็ค้นพบว่าทางร้านสามารถตีเหล็กและทองเหลืองเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ได้ด้วย เมื่อกลับมาทำการบ้านต่อกับทีมงาน ในที่สุดก็สรุปกันว่าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับชงกาแฟ ที่เรียกว่า ‘Brew Stick’ หรือ ช้อนกาแฟยาวสำหรับบาริสต้า ใช้สำหรับตัก คน กวนผงกาแฟให้เข้ากัน ตลอดจนใช้ตกแต่งฟองนมบนผิวหน้ากาแฟทำเป็นลาเต้อาร์ต ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับวิถีย่านเจริญกรุงในวันนี้ที่มีคาเฟ่ของคนรุ่นใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคนรักกาแฟ

นอกจากใช้ในการทำเครื่องดื่มแล้ว Brew Stick ทองเหลืองฝีมือเฮียเกรียงศักดิ์ ยังเหมาะกับคนที่มองหาของที่ระลึก ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวคนตีเหล็กแห่งตลาดน้อย ที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย จากทำเครื่องกลหนัก อะไหล่เรือมาสู่ยุคไลฟ์สไตล์แบบ Café Hopping และการดื่ม Specialty Coffee โดยยืนหยัดไม่ยอมล้มหายไป

COTH studio หวังด้วยว่า ของชิ้นนี้จะช่วยเพิ่มกำไรให้กับเฮียเกรียงศักดิ์ได้สูงกว่าชิ้นงานแบบเดิม ใช้แรงและเวลาในการทำน้อยลง และอาจผลิตต่อไปได้ในอนาคต ซึ่งหมายถึงการยืดลมหายใจของอาชีพตีเหล็กคู่ตลาดน้อยออกไปให้นานที่สุด

เฮียเกรียงศักดิ์
ที่อยู่: 335 ซ.เจ้าสัวสอน ตลาดน้อย (ใกล้บ้านริมน้ำ)
โทร: 084 713 4807
จันทร์-เสาร์ 8.00-16.00 น.


5. โรงพิมพ์กวงฝ่า x Likaybindery

เส้นทางตำนานโรงพิมพ์โบราณสู่ภาพศิลปะและZINEสุดฮิป

เครื่องพิมพ์ส่งเสียงดังฉึบฉับไม่หยุด กระดาษถูกส่งขึ้นมาทีละใบ ก่อนจะโดนแม่พิมพ์โลหะกดสีทับลงไปจนปรากฏตัวหนังสือ ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์โบราณที่เรียกว่า ‘Letterpress’ ลักษณะนี้เหลือไม่มากนักในเมืองไทย และยิ่งถ้าใช้วิธีเรียงพิมพ์ด้วยตัวหนังสือตะกั่วแล้วแทบจะหาไม่ได้เลย หนึ่งในกิจการที่ยังรักษาไว้คือ โรงพิมพ์กวงฝ่า บนถนนพาดสาย ย่านเยาวราช

ภายในโรงพิมพ์แห่งนี้คือพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต มีทั้งเครื่องพิมพ์ที่ใช้มือโยก เครื่องพิมพ์ยี่ห้อ Heidelberg ของเยอรมันตั้งแต่สงครามโลก ตลอดจนตัวหนังสือตะกั่วอายุไม่ต่ำกว่า 80 ปี ทั้งภาษาไทยจีนอังกฤษจำนวนมหาศาล ซึ่งไม่มีการผลิตขึ้นอีกแล้ว ที่สำคัญแทบทั้งหมดยังใช้งานได้อยู่จนถึงวันนี้

ทองดี เชิงศักดิ์ศรี เจ้าของโรงพิมพ์รุ่นที่ 2 ได้มรดกนี้มาจากบิดาคือนายยุ่นชุง แซ่ฉิ่น ชาวจีนแคะที่อพยพจากมณฑลเหมยโจ มาตั้งแต่อายุ 12 เริ่มต้นเป็นช่างแกะสลักไม้ จนเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วตัดสินใจเปลี่ยนมาทำโรงพิมพ์ที่เวลานั้นได้รับความนิยม โดยใช้ชื่อว่า กวงฝ่า แปลว่า ท้องฟ้าที่สดใส

ยุ่นชุงเป็นคนใฝ่รู้ จึงไปยืนดูการทำงานของเครื่องแล้วซื้อมาทดลองเรียนรู้วิธีทำด้วยตัวเอง ตอนกลางวันเขาจะพิมพ์งาน พอตกกลางคืนไปเรียนหนังสือ ฝึกเขียน ก.ไก่ ABC ที่วัดไตรมิตรวราราม เนื่องจากจำเป็นต้องรู้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษมาทำโรงพิมพ์

สมัยนั้นมีลูกค้าแวะมาสั่งงานไม่ขาดสาย ตั้งแต่เอกสาร สิ่งพิมพ์ หนังสือ ไปจนถึงใบเซียมซีและฉลากน้ำปลา ในห้องแถวเล็กๆ จึงมีคนนับสิบทำงานกันทั้งวันทั้งคืน นอกจากสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้ว เขายังส่งเงินให้น้องๆ ที่เมืองจีนจนเรียนจบทุกคน

แต่แล้วสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก็พัดมา เทคโนโลยีระบบออฟเซ็ตที่ใหม่กว่าเข้ามาแทนที่ งานจึงลดน้อยลง ขณะที่คู่แข่งมีเยอะขึ้น บางเดือนยุ่นชุงเปิดลิ้นชักออกมาแทบไม่มีเงิน แต่เขาไม่ยอมถอดใจ ขอให้ลูกชายคนเล็กลาออกจากงานมาช่วย ทองดีต้องฝึกฝนตั้งแต่การใช้งานเครื่องไปจนถึงซ่อมบำรุง รวมฝึกถึงเรียงพิมพ์ด้วยตัวเอง ก่อนจะรับช่วงเต็มตัวเมื่อบิดาจากไป

ถึงจะตกยุค แต่ทองดีก็ยังใช้เครื่องพิมพ์ Letterpress ทำงานอยู่ เพราะมีจุดแข็งที่เครื่องสมัยใหม่ทำไม่ได้ ด้วยวิธีการพิมพ์ที่อาศัยแรงกด ทำให้สีและตัวหนังสือติดทนนาน ไม่หลุดลอก ไม่จาง โดนน้ำก็ไม่ละลาย ทั้งสามารถพิมพ์ให้เกิดลวดลายนูนบนกระดาษ พิมพ์เรียงเลขตามลำดับ และเมื่อสั่งงานจำนวนมาก ราคาต่อแผ่นก็ย่อมเยากว่า ลูกค้าเก่าและใหม่ยังใช้บริการถึงทุกวันนี้เพราะทองดีทำงานประณีต มีคุณภาพ โดยส่วนใหญ่จะเป็นนามบัตร ใบเสร็จ ฉลากสินค้า ที่ไม่ได้เน้นรายละเอียดของภาพ

ความพิเศษของร้านนี้คือถ้าเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนอย่างใบเสร็จหรือแบบฟอร์มเอกสาร ทองดีจะขึ้นไปหยิบตัวตะกั่วโบราณในกรุมาเรียงในบล็อกแม่พิมพ์ ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและฝีมือในการเรียงกลับซ้ายเป็นขวา ประกอบเป็นคำและประโยคขึ้นมา ไม่ต่างจากการสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้น นับเป็นกรรมวิธีโบราณที่ใกล้จะสูญหายไปหมดแล้วจากเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ทองดียอมรับว่าตนเองคงเป็นรุ่นสุดท้าย เพราะไม่มีทายาทสืบทอดกิจการ ทุกวันนี้เพียงแค่ตั้งใจทำงานตรงหน้าให้ออกมาดีที่สุด ไปจนถึงวันหนึ่งที่จะทำไม่ไหว

Made in Charoenkrung 3 อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยืดอายุภูมิปัญญาการพิมพ์แบบโบราณ จึงชักชวน เก๋-พันทิพา ตันชูเกียรติ แห่ง Likaybindery หนึ่งในดีไซเนอร์ที่มีผลงานสร้างสรรค์เรื่องกระดาษกว่าสิบปี มาช่วยคิดค้นและหาวิธีทำให้ผู้คนได้รู้จักเรื่องราวการพิมพ์ยุคดั้งเดิมมากยิ่งขึ้น

หากแต่ความท้าทายคือ เจ้าของร้านมีงานค่อนข้างรัดตัว บวกกับไม่มีทายาทรับช่วงต่อ ทำให้มีโอกาสน้อยมากที่จะต่อยอดหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ถึงอย่างนั้นทองดีก็พร้อมถ่ายทอดความรู้ของตัวเองไปสู่คนที่สนใจ เก๋จึงลองคิดถึงแนวทางอื่นๆ ที่น่าจะตอบโจทย์การทำงานของเขามากที่สุด

พอดีเธอมีตัวตะกั่วเรียงพิมพ์ภาษาอังกฤษเก็บไว้ชุดหนึ่ง กับแท่นพิมพ์เล็กๆ ที่สามารถพิมพ์ภาพขนาดเอห้าออกมาได้ จึงทดลองเรียงเล่นๆ กระทั่งออกมาเป็นรูปที่ดูคล้ายทิวทัศน์ของเมืองที่เต็มไปด้วยตึกน้อยใหญ่ซึ่งมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร

จากนั้นจึงขอตัวพิมพ์ของกวงฝ่า ซึ่งมีความหลากหลายกว่า ทั้งภาษาไทย อังกฤษ จีน และสัญลักษณ์ต่างๆ มาผลิตเป็นชิ้นงาน โดยทำออกมาเป็น 3 แบบ 3 สไตล์ แล้วก็ส่งให้โรงพิมพ์เป็นผู้ผลิตต่อไป พร้อมกับทำแม่พิมพ์โลหะเพื่อให้ทางร้านนำไปใช้เวลาที่มีลูกค้าสั่งเข้ามาเพิ่ม โดยไม่จำเป็นต้องเก็บตัวเรียงต้นฉบับนี้ไว้

ขณะเดียวกัน เก๋ยังนำผลงานต่างๆ ของร้าน ทั้งใบเสร็จ นามบัตร หนังสือ มารวบรวมผลิตเป็น Zine ฉบับเล็กๆ ที่หน้าตาเก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร เล่าถึงประวัติของโรงพิมพ์กวงฝ่า ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจถึงความเป็นมาของการพิมพ์ในเมืองไทยผ่านโรงพิมพ์เล็กๆ แห่งนี้

การทำงานครั้งนี้แม้จะไม่ง่าย แต่เก๋ก็รู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนส่งต่อเรื่องราวของการพิมพ์ Letterpress โดยใช้ตัวเรียงพิมพ์แบบนี้ ไปสู่วงกว้าง และส่วนตัวก็หวังว่า ผลงานที่ออกมาจะเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่ช่วยให้มีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจสืบทอดศาสตร์ความรู้นี้ให้อยู่คู่กับเมืองไทยต่อไป

โรงพิมพ์กวงฝ่า
ที่อยู่: 161 ถนนพาดสาย (ใกล้แยกถนนทรงสวัสดิ์ ตัดกับถนนเยาวราช)
โทร: 02 221 7475
จันทร์-เสาร์ 8.00-17.00 น.