Bangkok/Charoenkrung/District Projects
TH | EN

Made in Charoenkrung ปี 2

ของดี/เด็ด/ดั้งเดิม ประจำย่านเจริญกรุง-ทรงวาด เจาะตลาดยุคใหม่

Made in Charoenkrung ปี 2
Published Date:

Made in Charoenkrung ปีที่ 2

Made in Charoenkrung ปีที่ 2 (2564) เพิ่มความพิเศษมากขึ้น ขยายขอบเขตครอบคลุมถนนเจริญกรุง ตั้งแต่ฝั่งบางรักไปจนถึงถนนทรงวาด เพื่อค้นหากิจการดั้งเดิมในย่านที่มีความหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่อาหารและเครื่องดื่ม วัตถุดิบ ยา เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ ไปจนถึงโรงงานช่างฝีมือเฉพาะทาง แต่ยังคงเน้นที่กิจการที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีผลิตภัณฑ์ ทักษะฝีมือ หรือสูตรลับที่มีคุณค่า ลอกเลียนแบบยาก หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่เจ้า หรือเป็นรุ่นสุดท้ายที่ไม่มีผู้สืบทอด มาทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่จากหลายสาขา เพื่อต่อยอด “ของดีประจำย่านเจริญกรุง” ให้ทั้งดีและขายได้ และที่สำคัญตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่ เปิดตัวในช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2564 (Bangkok Design Week 2021)

“8 ร้านเก่าแก่ดั้งเดิมในย่าน x 8 นักออกแบบ นักสร้างสรรค์”


1. หว่าโถ่ว หยั่นหว่อหยุ่น บางรัก x NOSH NOSH x เชฟโอ๊ต

จากเครื่องดื่มสมุนไพร กลายร่างเป็น ‘ไข่มุกน้ำขม’ 

จุดเด่น: ร้านขายของชำสินค้าคนจีนที่เก่าแก่กว่า 90 ปี ต้นกำเนิดของซีอิ๊วหยั่นหว่อหยุ่น มีน้ำขม ที่นิยมในหมู่คนจีน เชื่อว่ามีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์มากมาย และน้ำสมุนไพรกว่า 11 ชนิด

‘น้ำขม’ ฟังชื่อแล้วอาจจะรู้สึกขมปี๋ไม่น่ากิน แต่จริงๆ แล้วดีต่อสุขภาพอย่างมากมาย จะให้กินง่ายต้องดื่มแล้วตามด้วยน้ำสมุนไพรรสหวาน ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้มีแค่เพียงน้ำที่มีรสขมเท่านั้นยังมีน้ำสมุนไพรรสชาติต่างๆ ที่ทุกชนิดทุกรสมีส่วนผสสมของสมุนไพรจีน

หว่าโถ่ว คือ หนึ่งในร้านน้ำขม-น้ำสมุนไพรระดับตำนานที่อยู่คู่ถนนเจริญกรุงมานานกว่า 90 ปี คนส่วนใหญ่มักรู้จักร้านนี้ในชื่อ ‘หยั่วหว่อหยุ่น’ ขายของชำสไตล์จีน ขึ้นชื่อเรื่องซีอิ๊ว เครื่องปรุงและของแห้งจากฮ่องกง แต่จริงๆ แล้วน้ำขมและน้ำสมุนไพรของที่นี่ก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร เพราะเป็นสูตรเด็ดจากกวางตุ้งที่สืบทอดมานาน 3 ชั่วอายุคน ขายตั้งแต่ใส่ชามเซรามิกจนพัฒนามาเป็นแก้วกระดาษในยุคปัจจุบัน เฮียประวิทย์ สิทธิพลากร ผู้ดูแลร้านรุ่นที่ 3 เล่าว่า คนจีนจะชอบเครื่องดื่มที่มีสรรรพคุณเชิงยามากกว่าดื่มน้ำเปล่า พอมาถึงเมืองไทยที่มีอากาศร้อนและอาหารท้องถิ่นรสร้อนแรง จึงมองหาเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น ทำให้ทางร้านทำน้ำขมจำหน่ายโดยยึดตำราที่เป็นสูตรของครอบครัว เดิมใช้ชื่อ ฮัวโต๋ เป็นภาษาแต้จิ๋ว มาจากชื่อหมอเทวดาในสามก๊ก เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าชาวแต้จิ๋วที่มีมาก ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น หว่าโถ่ว ภาษาจีนกวางตุ้งตามอัตลักษณ์ของครอบครัว น้ำขมสูตรดั้งเดิมประกอบด้วยสมุนไพร 36 ชนิด มีสรรพคุณทั้งแก้ร้อนใน บำรุงสมอง หัวใจ ลดน้ำตาลในเลือด และอีกสารพัด เมื่อร่างกายรับสารพิษ ยาเหล่านี้จะเข้าไปช่วย นอกจากนี้ยังมีน้ำขมรองลงมาที่ใช้สมุนไพร 24 ชนิด คนมักเข้าใจว่าเวลาไม่สบายค่อยมากินน้ำขม แต่จริงๆ แล้วคนจีนสมัยก่อนดื่มทุกวัน เขามีเคล็ดลับคือ ดื่มขมมากแล้วต้องกินหวานตาม ช่วยให้ตัดรสกัน ทางร้านจึงทำน้ำสมุนไพรรสหวานด้วย ยุคแรกมีเก๊กฮวยและใบบัวบก ก่อนจะขยายเป็น 12 ชนิด เพิ่มหล่อฮังก๋วย รากบัว มะตูม จับเลี้ยง ฯลฯ ทุกชนิดไม่ได้เน้นแค่ความอร่อย แต่ผสมยาจีนลงไปด้วยเพื่อให้มีประโยชน์ต่อร่างกาย

หว่าโถ่วปรับตัวตามลูกค้าอยู่ตลอด ทั้งลดความขม เพิ่มรสชาติ แต่ถึงอย่างนั้นคุณประวิทย์ก็ยังรู้สึกว่า กลุ่มตลาดยังแคบอยู่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยรู้จัก โครงการ Made in Charoenkrung 2 จึงชวน คุณโบ-สลิลา ชาติตระกูลชัย แห่ง Nosh Nosh Project นักสร้างสรรค์ที่ชอบหยิบวัตถุดิบในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นเมนูร่วมสมัย มาดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน กลายเป็นที่มาของ ‘ชานมไข่มุกน้ำขม’ ร่วมกับเชฟโอ๊ต พชรพล พะระรามันห์ มาช่วยดูแลคิดค้นสูตรไข่มุกทำโดยนำน้ำขมรสชาติต่างๆ มาทำเป็นไข่มุกโบบาและน้ำขมผสมกับแป้ง และน้ำผึ้งหรือน้ำตาลมะพร้าว นำไปใส่กับน้ำสมุนไพรอื่น หรือชานมก็ได้ ทำให้รับประทานได้ง่าย ต้นทุนไม่สูง ที่สำคัญยังรักษาคุณค่าของน้ำขมที่เปี่ยมไปด้วยสรรพคุณทางยาของร้านหว่าโถ่ว ถ้าเสียงตอบรับดี ในอนาคตอาจพัฒนาต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น เช่น เยลลี่ หรือทอฟฟี่น้ำขม ส่งต่อเครื่องดื่มแห่งภูมิปัญญานี้ให้มีอายุยืนยาวต่อไป

รับชมเรื่องราว

ร้านน้ำขมหว่าโถว หยั่นหว่อหยุ่น (บางรัก)
ที่อยู่: 1443 ถนน เจริญกรุง (เยื้องโรบินสันบางรัก) 
โทร: 081 566 2313


2. ซินตูอาภรณ์ x VL by Vee

Modern + Classic สมการใหม่ของร้านสูทแห่งแรกของเจริญกรุง

จุดเด่น: การแก้ปัญหาทำให้คนดูดีด้วยการตัดสูทกับที่นี่ Personal Tailor วิธีการตัดสูทแบบ tailor-made ที่ใครๆ ก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ เป็นร้านตัดสูทร้านแรกในย่านเจริญกรุง

เมื่อปี 2482 เจริญกรุง คือย่านที่ทันสมัยที่สุดของกรุงเทพฯ เพราะทั้งรถราง โรงแรม โรงเรียน ร้านค้า สถานทูต ต่างรวมตัวอยู่กันที่นี่ ไม่แปลกเลยว่าทำไมคนจีนจำนวนไม่น้อยที่อพยพเข้ามา จึงเลือกถนนสายนี้เป็นแหล่งสร้างเนื้อสร้างตัว เหมือนกันกับเด็กหนุ่มชาวจีนแคะวัย 16  คุณพิชัย สินพัฒนานนท์ ซึ่งตัดสินใจเปิดร้านตัดเสื้อ ชื่อว่า ซินตูอาภรณ์ ซึ่งมาจากภาษาจีนที่แปลว่า ร้านใหม่

พี่แก้ว-กิตติ สินพัฒนานนท์ บุตรชายคนเล็กของคุณพิชัย รับช่วงกิจการร้านมาตั้งปี 2530 เล่าให้ฟังว่า ยุคนั้นถนนเจริญกรุงไม่มีร้านตัดเสื้อผ้าเลย แต่คุณพ่อเห็นว่า พอมีกลุ่มลูกค้าอยู่จึงตัดสินใจเปิดร้าน โดยในช่วงแรกๆ มีทั้งชาวจีนและกลุ่มคนมีฐานะมาใช้บริการ จุดเด่นของซินตูอาภรณ์ คือ ฝีมือการตัดเย็บที่ประณีต เพราะใช้เทคนิคเดียวกับที่เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง คนที่เคยบินไปตัดสูทที่เมืองนอก พอได้มาลองตัดก็ติดใจ พิชัยจะคัดเลือกเนื้อผ้าอย่างดีมาใช้ ทั้งผ้าขนสัตว์จากต่างประเทศ รวมถึงผ้าฝ้าย ซึ่งเหมาะกับอากาศของเมืองไทย เช่นเดียวกับเรื่องสไตล์ ที่นี่เน้นแบบคลาสสิก ใส่ได้ทุกโอกาส แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ล้าสมัย เพราะคุณพิชัยจะมีแคตตาล็อกเสื้อผ้าจากฮ่องกงมาให้ลูกค้าพิจารณาเสมอ จนเกิดกระแสปากต่อปากในหมู่ลูกค้า แม้แต่ลูกค้าชาวต่างประเทศที่ทำงานอยู่ในละแวกนั้นก็ยังมาสั่งตัดทีละหลายชุด ไม่เพียงแค่นั้นบางคนที่กลับประเทศไปแล้ว ก็ยังส่งจดหมายมาสั่งให้ตัดเพิ่มแล้วส่งทางเรือไปให้

ต่อมาเมื่อพี่แก้วมารับช่วงต่อ ได้พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เช่นทดลองตัดสูทสำเร็จรูปจำหน่าย และขยายตลาดไปยังกลุ่มคนไทยมากขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้าในตระกูลเก่าแก่ นักธุรกิจ หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ โดยมีจุดขายสำคัญคือ คุณภาพเดียวกับแบรนด์ดังระดับโลก แต่ราคาย่อมเยากว่า นอกจากนี้ ที่นี่ยังใส่ใจเรื่องคุณภาพและการบริการ พี่แก้วจะให้คำแนะนำตั้งแต่เลือกเนื้อผ้า เลือกสี การตัดเย็บที่จะช่วยอำพรางรูปร่างให้ดูดีขึ้น รวมถึงเลือกใช้วัสดุต่างๆ อย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นซับในของฝรั่งเศส ยกไหล่ที่ใช้สักหลาด ปลายแขนถักรังกระดุมจริง หรือเทคนิคการปักมือ (Hand Stitching) ที่เรียกว่า “ดำน้ำ” ตามแนวปกสูท ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการตัดแบบ Tailor Made เนื่องจากสูทเป็นการใช้งานระยะยาว จึงต้องทำออกมาให้ดีที่สุด ”คุณพ่อสอนไว้ว่า เมื่อลูกค้าถือสูทออกจากร้านไปเขาต้องมีความสุข ดังนั้นก่อนจบงานจะให้แก้จนพอใจ เพราะถ้ายัดเยียดให้รับไป เขาไม่ได้ใช้จะรู้สึกไม่คุ้ม สุดท้ายแล้วเขาก็จะไม่มาใช้บริการอีก หนำซ้ำยังไปบอกคนอื่นในทางลบด้วย”

เมื่อร้านซินตูมีความสนใจที่จะขยายไปกลุ่มลูกค้าไปสู่กลุ่มใหม่ โครงการ Made in Charoenkrung ปีที่ 2 จึงชักชวน คุณวี-ฮิโรกะ ลิมวิภูวัฒน์ แห่ง VL BY VEE มาร่วมต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยไอเดียที่เธออยากนำเสนอ คือ การทำสูทที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น เน้นผ้าที่สบาย ดูทันสมัย ตลอดจนพัฒนาลายปักซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ VL BY VEE เพื่อสะท้อนเรื่องราวของเจริญกรุง โดยนำแรงบันดาลใจมาจากสถานที่ต่างๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา โรงแรมโอเรียลเต็ล ตึกโบราณ ที่สำคัญยังช่วยเสริมภาพลักษณ์ของร้านตัดสูทที่เก่าแก่ที่สุดของย่านเจริญกรุงให้สนุกและน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย

ซินตูอาภรณ์ (Sin do Tailor)
ที่อยู่: 1296 ถนนเจริญกรุง (ใกล้โรงเรียนอัสสัมชัญ)โทร. 02 233 5070


3. เตียง้วนเฮียง หมูแผ่นบางรัก x  Sauce studio

ของฝากสไตล์หมูๆ สู่ของกินเล่นที่อยากให้ทุกคนได้กินเพลินๆ

จุดเด่น: ความสดใหม่ กระบวนการผลิตหมูแผ่นแบบโฮมเมด ที่หน้าร้าน และมีผลิตภัณฑ์หมูต่างๆ ถึง 17 ชนิด

ใครผ่านไปแถวบางรัก คงเคยเห็นร้านหมูแผ่นหมูหยองเก่าแก่ ที่ปิ้งหมูกันที่หน้าร้าน ส่งกลิ่นหอมฉุย น่ารับประทาน แถมมีลูกค้าแวะมาซื้อกันต่อเนื่องไม่ขาดสาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปีใหม่ นอกจากอร่อยถูกใจแล้วยังนับเป็นของฝากที่เป็นมงคล ด้วยความเชื่อว่าทำอะไรก็ง่าย เหมือนเป็นเรื่องหมูๆ

ร้านเตียง้วนเฮียง ก่อตั้งมากว่า 60 ปี โดย กวงเซีย แซ่เตีย ซึ่งเดิมทีขายปลาอยู่ที่ตลาดน้อย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจึงหันมาลองขายหมูแผ่นหมูหยองตามคำแนะนำของเพื่อน ระหว่างนั้นก็ค่อยๆ ลองผิดลองถูก ปรับสูตรปรับรสชาติจนลงตัว แล้วก็มาเปิดร้านอยู่แถวตลาดบางรัก ต่อมาตลาดถูกเปลี่ยนเป็นห้างโรบินสัน จึงย้ายมาอยู่ฝั่งตรงข้าม ทุกวันนี้ร้านดูแลโดย ปัณฑ์คณิน ธนัทศุภา ทายาทรุ่นที่ 2 กับบุตรชาย เก่ง-ณัฐคมน์ มีสินค้ามากมายนับสิบชนิด ทั้งหมูแผ่น หมูหยอง หมูฝอยหวาน หมูแท่ง กุนเชียน ฯลฯ โดยจุดเด่นหลักที่มัดใจลูกค้าคือ เรื่องคุณภาพ อย่างหมูแผ่นก็ใช้เนื้อสะโพกส่วนหลัง และมีเคล็ดลับอยู่ที่การแล่เนื้อหมู การหมักซอสปรุงรสแล้วนำมาอบ จนได้หมูแผ่นที่กรอบและหอม แถมยังทำขายวันต่อวัน รับประกันความสดใหม่ นอกจากนี้ยังพัฒนาทดลองทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ข้าวเกรียบหมูหยองพริกเผา หมูหวานทอด โดยยังคงเน้นไปที่รสชาติที่เข้มข้น ถูกปากเหมือนเดิม ตลอดจนทำบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย เพื่อรองรับกล่มลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ด้วย ซึ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่คุณเก่งอยากต่อยอด คือ ขนมกินเล่น เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

โครงการ Made in Charoenkrung 2 จึงจับคู่ร้านเตียง้วนเฮียง กับ Sauce Studio ดีไซน์สตูดิโอและที่ปรึกษาด้านการออกแบบแบรนด์ดิ้งที่มีจุดเด่นด้านการ “ชูรสชาติ” ของร้านค้าหรือองค์กรออกมาโดยรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ ทีม Sauce เข้ามาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยทำเป็นถุง 4 ขนาดที่เล็กลง พกพาง่ายสไตล์ Grab&Go หยิบกินกับเพื่อนได้ทุกวันไม่ว่าตอนเรียนหรือทำงาน จากนั้นคัดเลือกเมนูหมูๆ มาใส่ แม้ทางร้านมีผลิตภัณฑ์กว่า 10 อย่าง แต่ที่ขายดีมากมี 2-3 อย่าง จึงเป็นโอกาสดีที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบอื่นๆ ให้คนรู้จักมากขึ้น เช่น หมูสมุนไพร หมูเส้น หมูแท่ง ที่อร่อยกันไปคนละแบบ

ซองแบบใหม่ยังคงใช้สีแดงเอกลักษณ์ของร้าน นำสัญลักษณ์จากกระป๋องดั้งเดิมมาทำให้น่าสนใจ เช่น ภาพมังกรคู่เปลี่ยนเป็นหมูคู่มงคล สื่อสารว่าร้านนี้เชี่ยวชาญเรื่องหมู แถมยังเพิ่มกิมมิคด้วยการใส่คำอวยพรไว้หลังซอง ตอกย้ำว่าผลิตภัณฑ์ของเตียง้วนเฮงคือของฝากมงคลสำหรับทุกโอกาส มอบความอร่อยและสุขใจ ทั้งผู้ให้และผู้รับ

รับชมเรื่องราว

เตียง้วนเฮียง หมูแผ่นบางรัก
ที่อยู่: 1423 ถนนเจริญกรุง (เยื้องโรบินสันบางรัก)
โทร: 02 234 9282


4. สุวรรณเครื่องเทศ X PARADAi ภราดัย - Crafted Chocolate

เมื่อความหอมของเครื่องเทศมาอยู่ในช็อกโกแลต

จุดเด่น: ร้านขายเครื่องเทศอินเดียเจ้าเก่าแก่ในย่านบางรัก ที่มีให้เลือกมากกว่า 40 ชนิด อยู่เบื้องหลังอาหารแขก อาหารไทย อาหารฝรั่ง ในครัว ร้านอาหาร โรงแรมย่านเจริญกรุง

เป็นเวลากว่า 90 ปีที่ ‘สุวรรณเครื่องเทศ’  ยืนหยัดอยู่เบื้องหลังความอร่อยของอาหารมุสลิมในหลายย่านทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่ามัสมั่น แกงกะหรี่ แกงพะแนง ข้าวหมก มักมีเครื่องเทศจากร้านเล็กๆ แห่งนี้เป็นส่วนประกอบ ภูวนาถ และ สมสกุล ธีรลักษณ์ ผู้ดูแลร้านรุ่นที่ 3 เล่าว่า คุณตาของพี่ภูวนาถ อพยพหนีความยากแค้นมาจากเมืองมัทราส ประเทศอินเดีย พร้อมกับเพื่อนรวม 3 คน เมื่อมาถึงเมืองไทยก็เห็นว่าในย่านบางรัก ริมถนนเจริญกรุง มีชุมชนมุสลิมใกล้กับมัสยิดบ้านอู่และมัสยิดฮารูณ จึงตัดสินใจเปิดร้านขายเครื่องเทศสำหรับทำอาหารขึ้น

จุดเด่นของเครื่องเทศที่นี่เน้นเรื่องคุณภาพและความหอม ส่วนใหญ่จะสั่งมาจากอินเดียและอินโดนีเซีย เช่น กระวานเทศ ยี่หร่า อบเชย ใบกระวาน บางส่วนไปหาจากร้านในเยาวราช และบางอย่างสั่งมาจากในประเทศ เช่น พริกไทย และผักชี จากนั้นนำมาจัดเตรียมอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ลูกค้าได้เครื่องเทศที่ดีที่สุด แถมขายในราคาย่อมเยา นอกจากนี้ยังนำเครื่องเทศมาปรุงเป็นเครื่องแกง มีทั้งผงแกงกะหรี่ กุรุหม่า ผงสำหรับทำข้าวหมก สูตรเหล่านี้คือสูตรของคุณตา ที่ได้รับการปรับปรุงให้ถูกปากคนมุสลิมในเมืองไทย ลูกค้าของสุวรรณเครื่องเทศ มีทั้งโรงแรม ร้านอาหารมุสลิมหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ รวมไปถึง ‘ช่างแกง’ ตามสุเหร่าต่างๆ เวลาพี่ภูวนาทเฉียดเข้าไปในโรงครัวของสุเหร่าแห่งไหน ใครๆ ก็มักจำได้

นอกจากคุณภาพของเครื่องเทศแล้ว สุวรรณเครื่องเทศยังขึ้นชื่อเรื่องความซื่อตรง มีน้ำใจ ถ้าเป็นลูกค้าประจำ เวลาขึ้นราคาจะบอกก่อนและยังขายราคาเดิมต่อไปอีกอีก 3 ครั้ง แล้วค่อยปรับ ด้วยการค้าขายแบบนี้เองที่ทำให้ลูกค้ายังคงยึดมั่น แต่อย่างไรก็ตามลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเดิมๆ คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จัก โครงการ Made in Charoenkrung 2 จึงชักชวนพี่ภูวนาทกับพี่สมสกุลมาทำอะไรสนุกๆ ด้วยการนำเครื่องเทศของทางร้านไปใช้เป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ของ PARADAi ภราดัย - Crafted Chcolate & Cafe กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่โดดเด่นในการทำคราฟท์ช็อกโกแลตรสไทยๆ โดย 2 ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ Masala Chocolate Drink ผงช็อกโกแลพร้อมดื่ม เพียงผสมน้ำร้อนหรือนมร้อนก็สัมผัสรสช็อกโกแลตเข้มข้น หอมกลิ่นเครื่องแกงอินเดียได้ทันที อีกอย่างคือ ช็อกโกแลตแท่งผสมเครื่องเทศ ที่เน้นกลิ่นไม่ฉุนจัด ถึงไม่ใช่สายเครื่องเทศเลิฟเวอร์ก็กินได้อร่อย อาจมีคนสงสัยว่าเครื่องเทศกับช็อกโกแลตจะเข้ากันอย่างไร วาริช ถนอมเกียรติ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PARADAi อธิบายว่าในช็อกโกแลตมีกลิ่นและรสเครื่องเทศเจือปนอยู่แล้ว การจับคู่ครั้งนี้จึงกลายเป็นรสชาติใหม่ที่เข้ากันดี แถมยังแสดงถึงคุณภาพความหอมของสุวรรณเครื่องเทศ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าชอบหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ลองด้วยตัวเอง!

สุวรรณเครื่องเทศ
ที่อยู่: 1360 ซอย 42 ถนนเจริญกรุง (หัวมุมแยกสีลม เจริญกรุง ใกล้โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา)
โทร. 02 234 6735, 02 267 0510


5. Eastern Antiques x  Ek Thongprasert

เครื่องประดับจากถ้วยลายคราม...สู่แฟชั่นไอเทมสุดเก๋

จุดเด่น: จิวเวลลี่จากเศษกระเบื้องจีนโบราณ แต่ละชิ้นมีลวดลายเฉพาะไม่ซ้ำแบบจากประเทศจีนและในไทย ทำด้วยมือทุกชิ้น

ใครจะคิดว่าเครื่องลายครามจีนอายุหลายร้อยปี จะพลิกโฉมเป็นเครื่องประดับสุดเก๋ สไตล์ไม่เหมือนใคร ซึ่งโดนใจคนไทยและต่างชาติมากว่าครึ่งศตวรรษ เดิมที Eastern Antiques เคยเป็นร้านขายของเก่าและเครื่องเงินส่งออก แต่ราว 50 ปีที่แล้วรัฐบาลออกกฎหมายห้ามนำศิลปวัตถุออกนอกประเทศ คุณยายมาลัย ปรีชานิลชัยศรี จึงตัดสินใจเปลี่ยนแนวทาง โดยหยุดซื้อของเก่าแล้วไปรับไม้แกะสลักจากภาคเหนือมาทำสีขายเป็นของแต่งบ้าน เช่น ตุ๊กตาไม้รูปกระต่าย สิงห์ ช้าง แมว ม้า คนสวัสดี ให้กับลูกค้าต่างประเทศกลุ่มเดิม ควบคู่ไปกับขายเครื่องเงิน

วันหนึ่งมีคนนำถ้วยชามจีนอายุหลายร้อยปีที่แตกหักมาขาย ราคาถูกแทบไร้มูลค่า คุณยายเห็นลายที่สวยงามก็เสียดายจึงรับซื้อไว้ แล้วใช้ประสบการณ์จากการทำเครื่องเงิน เลือกชิ้นส่วนที่มีลวดลายสวยๆ มาออกแบบและให้ช่างเลี่ยมขอบด้วยเงินให้เรียบร้อย กลายเป็นเครื่องประดับรูปแบบใหม่ ทั้งต่างหู แหวน เข็มกลัด จี้ สร้อย ที่หนีบผม

ด้วยความเป็นงานคราฟต์ที่เหมือนใคร ทำให้ได้รับความนิยมมากจากชาวต่างชาติ มีลูกค้าสั่งไปวางขายตามร้านของที่ระลึกในย่านแหล่งท่องเที่ยวที่อเมริกา เยอรมัน และยุโรป รวมถึงโดนใจชาวญี่ปุ่น ฮ่องกง นอกจากความสวยงามแล้ว ราคาก็เป็นจุดดึงดูด เพราะไม่แพง อย่างต่างหูชิ้นเล็กๆ ปัจจุบันขายเพียง 300 บาท เท่านั้น ไม่เพียงเครื่องลายครามจีนสมัยราชวงศ์ชิง - เหม็ง ทางร้านยังนำเครื่องถ้วยศิลาดลจากสุโขทัย และถ้วยชามเบญจรงค์สมัยใหม่ที่แตกหักเสียหายมาทำด้วย คุณยายบอกว่าเป็นงานที่มีความสุข ทำด้วยใจรัก ดีใจที่เห็นของที่ถูกทิ้งกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง แถมยังสนุกที่ได้เจอคนนั้นคนนี้ สุขภาพก็เลยแข็งแรงไปด้วย ตอนนี้อายุจะ 90 แล้ว แต่ยังเดินได้

แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของต่างชาติ แต่ในทางกลับกันลูกค้าคนไทยยังมีเพียงกลุ่มเล็กๆ ยิ่งพอเกิดโควิด-19 ขึ้นมา ลูกค้าต่างชาติหายไปจึงได้รับผลกระทบอย่างหนัก โครงการ Made in Charoenkrung 2 จึงชวน คุณเอก ทองประเสริฐ เจ้าของแบรนด์ EK Thongprasert มาหาทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ของร้านให้น่าสนใจยิ่งขึ้น คุณเอกตั้งใจปรับรูปแบบเครื่องประดับให้น่าสนใจขึ้น เพราะหลายชิ้นถูกออกแบบมาตั้งแต่ 10-20 ปีก่อน เขาจึงนำมาเปลี่ยนเป็นวัสดุที่ทันสมัย ให้ดูโดดเด่นและดูแปลกตา รวมทั้งนำเครื่องประดับไปถ่ายแบบกับแฟชั่นยุคปัจจุบัน เผยแพร่ผ่านทาง  Facebook, Instagram หรือ TikTok เพื่อสื่อว่าเครื่องลายครามแบบนี้ก็เข้ากับคนรุ่นใหม่เช่นกัน ภาพแฟชั่นเซ็ตนี้จะพิมพ์เป็นสติ๊กเกอร์แล้วติดไว้ที่หน้าร้าน กระตุ้นความสนใจของคนที่เดินผ่านไปมาอีกด้วย

Eastern Antiques
ที่อยู่: 1188-1190 ถนนเจริญกรุง (ก่อนถึงซอยวัดม่วงแค)
โทร. 02 234 5451


6. บ้านรักครุฑ x Atelier Rudee

สานต่อประติมากรรมตราตั้งครุฑ

จุดเด่น: องค์ความรู้ในการทำตราตั้งองค์ครุฑ

ปกติเรามักเห็นครุฑองค์ใหญ่ติดอยู่หน้าธนาคาร หรือห้างร้านสำคัญ แต่ถ้าคุณแวะเวียนมายังแถวตรอกหมอเพชรหมอพลอย อาจจะต้องตะลึง เพราะบ้านหลังหนึ่งมีครุฑหลายสิบองค์ตั้งเรียงรายเต็มไปหมด เป็นเวลากว่า 40 ปีที่ ‘บ้านรักครุฑ’ ของครอบครัวแย้มประเสริฐ ดำเนินกิจการผลิตองค์ครุฑเพื่อติดตั้งหน้าบริษัทหรือธนาคารต่างๆ ที่ได้รับตราตั้งจากสำนักพระราชวัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อันมีเกียรติสำหรับห้างร้านที่ประกอบกิจการโดยสุจริต มีฐานะมั่นคง เป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน

จุดกำเนิดของบ้านหลังนี้ เกิดขึ้นเมื่อ อนันต์ แย้มประเสริฐ เด็กหนุ่มจากบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เข้ากรุงมาฝึกงานทำป้ายอยู่แถววงเวียน 22 กรกฎา แล้ววันหนึ่งมีลูกค้าจากธนาคารมาถามหาให้ทำครุฑไม้ติดหน้าอาคาร แม้ไม่เคยทำมาก่อน แต่เขาเห็นเป็นโอกาส จึงจ้างช่างไม้มาแกะสลัก โดยตนเองควบคุมการผลิต พอทำองค์แรกได้ก็เลยมีคนมาจ้างอยู่เรื่อยๆ กระทั่งอายุ 25 ปีจึงออกมาเปิดบริษัทรับทำป้ายโฆษณาและครุฑ มีลูกค้าหลักคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ กรุงเทพประกันภัย และศาลยุติธรรม เรียกได้ว่าครุฑตามธนาคารที่เห็นทั่วประเทศกว่าครึ่งมาจากที่นี่ บ้านรักครุฑ ผลิตครุฑมาแล้วทุกรูปแบบ ตั้งแต่ไม้ ทองเหลือง และไฟเบอร์กลาส โดยอนันต์เป็นคนแรกๆ ที่ใช้ไฟเบอร์กลาสทำครุฑได้สำเร็จ ส่งผลให้มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย และทนทาน ครุฑแต่ละองค์จะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับกิจการของลูกค้า เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ครุฑจะมีหน้าตาดูใจดี เรียกว่าหน้าเทวดา ส่วนครุฑของศาลจะมีใบหน้าที่ดูน่าเกรงขาม ส่วนสีผ้านุ่งก็จะแตกต่างกันไปตามสีมงคลของแต่ละปี แต่ทั้งนี้สุดท้ายแล้วต้องดูสง่างาม สัดส่วนถูกต้อง ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับกิจการนั้นๆ การทำตราตั้งครุฑ เป็นงานที่คนไม่อยากทำเพราะทำยาก ขั้นตอนเยอะ ถ้าครุฑองค์ใหญ่ต้องใช้เวลาปั้นเป็นเดือน หล่อหลายชั้นเพื่อให้มีความหนา ทาสีรองพื้น 2-4 ครั้ง ก่อนลงสีจริงอีก 3-4 รอบ ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะเมื่อนำไปติดตั้งแล้วจะต้องตากแดดตากฝนอยู่นานหลายสิบปี การซ่อมทำได้ลำบาก ต้องต่อนั่งร้านขึ้นไป ด้วยเหตุนี้จึงต้องทำให้ดีที่สุดโดยคิดถึงการใช้งานระยะยาว เรียกว่าทำครั้งเดียวจบ

ปัจจุบันกิจการจากรุ่นพ่อถูกส่งต่อมายังสองพี่น้องแย้มประเสริฐ เบน-ณรงค์วัฒน์ กับ แย้ม-อภิชาติ ทั้งคู่ยังคงมีความสุขที่ได้ส่งต่อศิลปวัฒนธรรมที่มีคุณค่านี้สืบไป โดยในโครงการ Made in Charoenkrung 2 ทั้งคู่ได้ร่วมงานกับ ฤดี ตันเจริญ แห่ง Atelier Rudee ศิลปินไทยที่คลุกคลีกับเครื่องประดับศิลป์ร่วมสมัยมาร่วมสิบปี ด้วยการนำองค์ความรู้เรื่องการหล่อไฟเบอร์กลาสมาถอดบทเรียน เป็นการทดลองทำงานเรซินองค์ครุฑขนาดเล็ก ต่อยอดเพื่อเป็นของที่ระลึกในช่วงงาน Bangkok Design Week 2021 ตลอดจนการถ่ายทอดเรื่องราวของบ้านรักครุฑให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างอีกด้วย

รับชมเรื่องราว

บ้านรักครุฑ
ที่อยู่: 235 ชุมชนหมอเพชรหมอพลอย ซอยสะพานยาว
โทร: 089 106 5757


7. ร้านถังไม้ก้วงเส็งล้ง x O-D-A

โฉมใหม่ของถังไม้สุดคลาสสิก

จุดเด่น: ถังไม้สักทำมือทุกชิ้นด้วยเทคนิคที่เฉพาะ โดยใช้ไม้ขัดกันแบบที่ไม่ต้องตอกตะปูหรือติดกาว และใข้ไม้สักทำให้ถังไม้อยู่ทนนานกว่าเจ้าอื่น

ครั้งหนึ่งถนนทรงวาดเคยได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมถังไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ คนจีนต่างต้องแวะเวียนมาซื้อ เพราะในยุคที่ยังไม่มีถังพลาสติก ถังไม้ถือเป็นอุปกรณ์สารพัดประโยชน์ ทำได้ตั้งแต่ใช้ซักผ้า ตักน้ำ ใส่ข้าวสาร หมักถั่วเหลืองทำซีอิ๊ว ทำเต้าหู้ หมักเหล้า และอื่นๆ อีกมากมาย

ร้านก้วงเส็งล้ง ถือเป็นร้านถังไม้ยุคบุกเบิก โดยเจ้าของเป็นคนจีนอพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง เรียนวิชาทำถังไม้อยู่กับอา พอเชี่ยวชาญดีก็แยกมาเปิดร้านของตัวเองเมื่อประมาณ 90 ปีก่อน จุดเด่นของถังไม้ที่นี่ คือความแข็งแรงทนทาน เนื่องจากใช้ไม้สักอย่างดี ไม่ผุง่าย และป้องกันแมลงอีกด้วย หากเก็บรักษาดีๆ อาจใช้ได้เกิน 50 ปี แถมยังมีให้เลือกหลายขนาด หลายประเภทตามการใช้งาน ส่วนขั้นตอนการผลิต แม้ไม่ซับซ้อนแต่ก็มีความพิถีพิถันสูงมาก เริ่มตั้งแต่นำไม้ไปตากแห้ง จากนั้นไสไม้ เลื่อยเป็นชิ้นส่วน แล้วประกอบเข้าด้วยกัน ยึดตัวถังไว้ด้วยสายรัดอลูมิเนียมให้แน่น ขัดผิวด้วยกระดาษทรายให้เงางาม ที่สำคัญคือหากถังใบไม่ใหญ่มาก ไม่จำเป็นต้องใช้ตะปู จึงไม่เกิดสนิม หมดปัญหาเรื่องสารพิษปนเปื้อนลงไปในอาหาร

ยุครุ่งเรืองที่สุดคือสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังของญี่ปุ่นมาสั่งซื้อไปใช้งานจำนวนมาก รวมถึงมีลูกค้ารายใหญ่ เช่น โรงงานสุราบางยี่ขัน โรงงานเต้าหู้ โรงงานซีอิ๊ว ศาลเจ้าทั่วประเทศ มีการส่งไปขายต่างจังหวัดทางรถไฟ บ้างก็ซื้อไปเป็นถังข้าวสารถวายสังฆทาน ทำให้ทางร้านต้องจ้างช่างทำงานเป็นสิบคน แต่แล้วเมื่อมีถังและภาชนะพลาติกเข้ามาตีตลาด ในราคาที่ถูกกว่าและน้ำหนักเบากว่า ความนิยมใช้ถังไม้จึงลดน้อยลง ปัจจุบัน ทายาทรุ่นที่ 3 คือ พี่อัม-อัมภา และ พี่หน่อย-ตรีสุดา ชุติยสันตยานนท์ เข้ามารับช่วงต่อ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ก็คือ ลูกค้าประจำที่ซื้อมานานหลายสิบปี และศาลเจ้าต่างๆ ที่ใช้ถังไม้ในงานพิธีกรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็มีลูกค้าใหม่แวะมาอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม สปาต่างๆ เนื่องจากถังไม้นั้นดูสวยคลาสสิก ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอื่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางร้านพยายามปรับสินค้าให้ดูทันสมัย รับฟังไอเดียจากลูกค้าเพื่อหาจุดขายใหม่ๆ เช่นทำเป็นอ่างล้างจาน ที่เก็บร่ม หรือถังแช่เครื่องดื่ม ซึ่งค่อนข้างได้รับเสียงตอบรับที่ดี

ด้วยความตั้งใจที่อยากต่อยอดผลิตภัณฑ์ของร้านให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โครงการ Made in Charoenkrung 2 จึงชวนสองดีไซเนอร์ คุณดุ๋ย-ปิติ อัมระรงค์ และ คุณลูกท้อ-จุฑามาส บูรณะเจตน์ แห่ง o-d-a มาร่วมแต่งเติมไอเดียใหม่ๆ ด้วยการพัฒนาถังใส่ข้าวสาร เนื่องจากถังไม้มีจุดเด่นที่ถังแบบอื่นทดแทนไม่ได้ ทั้งป้องกันมอดได้ กันความชื้นได้ดี เพียงแต่คนทั่วไปอาจจะยังไม่เห็นคุณค่าตรงนี้เท่าที่ควร พวกเขาจึงเริ่มปรับดีไซน์ให้ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น เช่น เปลี่ยนสายรัดอลูมิเนียมให้เป็นทองเหลืองหรือทองแดง ทำหูจับใหม่ รวมถึงสร้างฟังก์ชันใหม่ๆ การทำงานที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ เช่น แบ่งช่องให้สามารถใส่ข้าวสารได้ 2 ชนิด มีที่พักฝาเวลาเปิดใช้งาน โดยทั้งคู่เชื่อว่าแนวทางนี้คงไม่ยากเกินความสามารถของช่าง แถมต้นทุนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งนี่อาจจะเป็นต้นแบบให้ก้วงเส็งล้งพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์ชิ้นอื่นๆ ของตัวเองในอนาคตต่อไป

รับชมเรื่องราว

ก้วงเส็งล้ง
ที่อยู่: 1181-3 (ตรงข้ามวัดปทุมคงคา) ถนนทรงวาด
โทร: 02 234 0859, 083 859 3639
Line ID: kwangsenglhong
Instagram: kwangsenglhong


8. ร้านจิรวัฒน์ ฉลุป้ายโลหะ x Lohameka Studio Of Jewelry Art

จากภูมิปัญญาการฉลุโลหะ สู่เครื่องประดับที่ไม่เหมือนใคร

จุดเด่น: งานฉลุแผ่นป้ายโลหะ สำหรับเป็นแบบในการพ่นสี เป็นงานฝีมือที่ทำด้วยกรรมวิธีโบราณ นับวันจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ

เสียงค้อนตอกแผ่นสังกะสีดังมาจากอาคารคูหาเล็กๆ บนถนนทรงสวัสดิ์ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรามาถึงร้านจิระวัฒน์ ร้านฉลุโลหะแห่งสุดท้ายในย่านนี้ และอาจเป็นแห่งท้ายๆ ในเมืองไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน ในย่านทรงวาดเต็มไปด้วยร้านขายข้าว ขายเมล็ดพันธุ์ แต่ละร้านจะก็นำกระสอบใบใหญ่รอการขนส่งกระจายไปตามแหล่งต่างๆ อีกที และเพื่อป้องกันความสับสนว่า กระสอบไหนเป็นของใคร มีอะไรอยู่ข้างในบ้าง วิธีที่ง่ายสุดคือการสกรีนข้อความหรือโลโก้บนกระสอบเสียเลย ชัยวัฒน์ จิรกิตตยากร ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างร้านทำป้ายโลหะอยู่ที่ตลาดน้อยเห็นโอกาสดี จึงรวบรวมเงินมาเปิดร้านที่นี่ โดยจิระวัฒน์ก็มาจากพยางค์ต้นของชื่อ-นามสกุลนั่นเอง

แรกเริ่มงานของร้านส่วนใหญ่จะเป็นการฉลุโลหะสำหรับการทาสีบนกระสอบข้าว โดยมีข้อความหลักๆ ก็จะเป็นพันธุ์ข้าว ชื่อโรงสี และบริษัทที่ส่งออก มาตอนหลังก็ขยายไปเป็นป้ายบอกเส้นทางข้างรถเมล์ สัญลักษณ์ข้างอู่แท็กซี ตลอดจนข้อความโฆษณาบนผ้าใบ เทคนิคที่ใช้ฉลุนี้ เรียกว่า Stencil คือการใช้ค้อนตอกสิ่วลงไปบนแผ่นโลหะให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการ โดยขั้นตอนที่ยากสุดอยู่ที่ลาย ด้วยความที่เป็นงานทำมือ หากลายยากหรือละเอียดนักจะทำไม่ได้ สมัยก่อนจะมีช่างวาดคอยดูแลลวดลาย และรูปแบบตัวอักษรทั้งหมด ส่วนช่างตอกจะทำหน้าที่ตอกอย่างเดียว งานจึงพิถีพิถันมาก ถ้าเสียหายก็ต้องเริ่มใหม่หมด ส่วนแผ่นโลหะที่ใช้ คือแผ่นสังกะสี ทองเหลือง หนา 0.25 เซนติเมตร ซึ่งปกติแล้วทองเหลืองคุณภาพดีกว่า ไม่เป็นสนิม แต่ต้นทุนจะสูงกว่า โดยสมัยก่อนทางร้านจะซื้อแผ่นโลหะเหล่านี้จากตลาดน้อย

อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทรุ่นที่ 2 บอกว่า ในยุคที่รุ่งเรืองมาก ที่นี่เคยมีลูกน้อยมากถึง 7 คน มีออเดอร์ไม่ขาดสาย เป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ทุกร้านต้องใช้ เนื่องจากพอยิ่งใช้ไปบ่อยๆ โลหะก็เริ่มงอเสียรูป ต้องมาทำใหม่ แต่ทุกวันนี้ยุคสมัยเทคโนโลยีการพิมพ์เปลี่ยนไป ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้สติกเกอร์มากขึ้น จากกระสอบป่านก็เปลี่ยนมาใช้กระสอบพลาสติก ซึ่งพิมพ์ตราไว้บนกระสอบเลย แต่ทางร้านยังได้ลูกค้ากลุ่มเดิมๆ ที่ใช้บริการกันมายาวนาน เช่น แท็กซี รถเมล์ หรือใช้สำหรับพ่นท่อ พ่นปี๊บกะปิ เพราะเขาไปหาที่อื่นทำไม่ได้

เพื่อรักษาภูมิปัญญาการฉลุโลหะให้คงอยู่ โครงการ Made in Charoenkrung 2 จึงชักชวน คุณฮง-วินิจ กุศลมโนมัย แห่ง Lohameeka Studio ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดีไซน์เครื่องประดับ มาร่วมออกแบบ คุณฮงรู้สึกสนใจเทคนิคการพับเพื่อเสียบแผ่นสังกะสีประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งทางร้านจะใช้สำหรับลูกค้าที่ทำป้ายแผ่นใหญ่ๆ มีข้อความหลักที่ไม่ต้องเปลี่ยนอยู่แล้ว แต่ต้องการให้แก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยตามสถานการณ์ได้ เช่น วันที่ เทคนิคนี้ช่วยให้ถอดป้ายออกมาเปลี่ยนได้สะดวก ขณะเดียวกันเสียบได้แน่นไม่หลุดง่าย

ฮงจึงนำมาใช้ทำเข็มกลัดที่ระลึกงาน Bangkok Design Week 2021  เข็มกลัดทรงสี่เหลี่ยมชิ้นนี้ประกอบจากแผ่นสังกะสีหลายแผ่น เชื่อมกันด้วยเทคนิคเสียบแบบโบราณของร้านจิระวัฒน์ จากนั้นนำไปเลเซอร์ลวดลายตัวอักษร ขัดเงาให้สวยงาม นำมาเชื่อมติดกับเบ้าเข็มกลัดด้วยเทคนิคของช่างทอง เรียกได้ว่าผสมระหว่างเทคนิคเก่าและใหม่จนเกิดชิ้นงานที่มีสไตล์ไม่เหมือนใคร จนแทบไม่น่าเชื่อว่าในเข็มเกล็ดชิ้นเล็กๆ จะมีภูมิปัญญาซ่อนอยู่มากมายถึงเพียงนี้

จิรวัฒน์ฉลุโลหะ
ที่อยู่: 363 ถนนทรงสวัสดิ์ สัมพันธวงศ์ (เยื้องซอยวานิช 1 ใกล้วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร)
โทร: 02 266 8669