Made in Chang Moi ปีที่ 2
ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 สำหรับ Made in Chang Moi หรือ เมด อิน ช้างม่อย (2565) จังหวัดเชียงใหม่ เครื่องมือสนับสนุนและส่งเสริมร้านค้าดั้งเดิมในย่านที่มีเอกลักษณ์ ทักษะเฉพาะ มีความเก่าแก่ หรือเป็นกิจการหายาก มีเพียงเจ้าเดียว หรือเป็นเจ้าแรกในย่าน ด้วยการจับคู่ทำงานร่วมกันกับนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ในการพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ต่อยอดจากเสน่ห์ดั้งเดิมของร้าน สู่ 4 ผลงาน จาก 4 ร้านค้าดั้งเดิม ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ให้กิจการเก่าแก่สามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์กับโลกยุคใหม่ในปัจจุบัน
“ฟักลาบ (FUGK! LAAB)”
โดย ร้านลาบป้ายอด และ Anonymous Animal
ร้านลาบป้ายอด ร้านขายอาหารพื้นเมืองเก่าแก่ เปิดขายมานานกว่า 20 ปี ที่เป็นเสมือนร้านประจำชุมชน มีเมนูเด็ด คือ ลาบเหนือ อาหารประจำถิ่นชาวเหนือที่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิต รวมถึงอาหารเมืองประเภทต่างๆ เช่น ส้า แกงอ่อม ต้มไก่ ตำบ่าเขือ และอีกมากมายหลายเมนู การันตีรสชาติแบบต้นตำรับด้วยปริมาณลูกค้าประจำที่แวะเวียนกันมาทั้งจากในย่าน และนอกย่าน เพราะรสชาติถูกปากคนท้องถิ่น แถมราคาไม่แพง
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ร้านมีรายได้ลดลง เพราะกลุ่มลูกค้าประจำซึ่งเป็นวัยทำงานลดน้อยลง ด้วยพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้ร้านจะมีบริการส่งอาหารให้ในละแวกใกล้เคียงแต่ยอดขายก็ยังไม่ดีเท่าเดิม จึงมองหาวิธีเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยจับกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ ที่แวะเวียนเข้ามาในย่านเพิ่มมากขึ้น และให้ความสนใจกับความเป็นท้องถิ่นและอาหารพื้นถิ่นดั้งเดิม จึงอยากที่จะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนา ปรับปรุงหน้าตาของร้านให้ดูแปลกใหม่ สะดุดตา สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
‘ฟักลาบ (FUGK! LAAB)’
จากโจทย์การปรับภาพลักษณ์หน้าร้านใหม่ให้สะดุดตา ดูร่วมสมัยมากขึ้น ทาง anonymous animals นักออกแบบรุ่นใหม่ที่จับคู่กับร้านป้ายอด จึงเลือกใช้สังกะสีมาเป็นวัสดุหลัก เพราะราคาถูก มีความคงทนสูง ติดตั้งได้ง่าย โดยมีแนวคิดหลัก คือ ‘Extract and Combination’ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการ ‘ฟักลาบ’ ที่มีจุดเด่น คือ การฟักเนื้อเพื่อแยกชิ้นส่วนของเนื้อ (Extract) และผสมเครื่องปรุงเพิ่มเติม (Combination) สะท้อนออกมาผ่านงานออกแบบผนังของร้านลาบป้ายอด ที่เสมือนการ Zoom in เข้าไปในส่วนผสมของลาบ จะมองเห็นชิ้นเนื้อสีแดง ใบมะกรูดซอยสีเขียว สไบนางสีขาว และส่วนประกอบอื่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมรวมกันจนกลายเป็นลาบที่มีความอร่อยเฉพาะตัวของป้ายอด
ร้านลาบป้ายอด จึงถือเป็น street food ประจำย่าน ที่ควรมาลิ้มลองสักครั้งเมื่อมาเยือนย่านช้างม่อย เพราะนอกจากจะได้ลิ้มรสชาติความอร่อยสไตล์เหนือแท้ๆ ยังจะได้เห็นเสน่ห์ของวิถีชีวิต เรื่องราว และภูมิปัญญาที่มีคุณค่าของอาหารพื้นถิ่นที่ควรรักษาไว้ให้คงอยู่อีกด้วย
ร้านลาบป้ายอด
พิกัด: ราชวงศ์ ซอย 3
วัน-เวลา: จันทร์-ศุกร์ (ปิดเสาร์-อาทิตย์)/ 7.30 น. ถึงช่วงบ่าย
โทร: 094-9197910
“Suk Nice Knife (สุข ไหน ไหน)”
โดย ร้านศุขโข และ ITSARA (Itsara Kaewruang)
งานตีเหล็กเป็นหนึ่งในทักษะอาชีพที่มีมาอย่างยาวนานของจังหวัดเชียงใหม่ ภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ยังคงอยู่ในย่านช้างม่อยและได้ถูกถ่ายทอดมาสู่ทายาทรุ่นที่ 4 ร้านมีดชื่อดัง ‘ศุขโข’ ที่ยังคงคุณค่าของทักษะงานฝีมือมาอย่างยาวนาน มากว่า 80 ปี สะท้อนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญของแบรนด์ ทั้งการแปรรูปเหล็กเหลือใช้ให้ออกมาเป็นสินค้าใหม่ รูปทรงและฟังก์ชั่นของสินค้า เช่น มีดรูปทรงขวาน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่คงทน สิ่วแกะสลักลายไม้ ที่กลายเป็นเครื่องมือชิ้นโปรด ของกลุ่มช่างฝีมือชั้นครูของเชียงใหม่ ไปจนถึงอุปกรณ์การเกษตร การก่อสร้าง อุปกรณ์ในครัวเรือนที่มีคุณภาพดี
คุณตุ๊ ศิริพงษ์ ชีวะพาณิชย์ เจ้าของกิจการคนปัจจุบัน เล่าถึงความท้าทายในการวางแผนพัฒนาสินค้าและแบรนด์ศุขโขในอนาคต ด้วยจุดยืนของแบรนด์ในการผลิตสินค้าด้วยมือ และการคงคุณค่างานแฮนด์คราฟท์เอาไว้ ทำให้สินค้าตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) เท่านั้น รวมถึงปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีการผลิตสินค้าด้วยเครื่องจักรหรือระบบอุตสาหกรรม ที่ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ได้ปริมาณสูงกว่า และรวดเร็วกว่ามาก อีกทั้งช่างฝีมือเริ่มหายากขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่หันไปประกอบอาชีพอื่นกันหมด ทำให้ต้องปรับตัวและเเข่งขันในเชิงการผลิตมากขึ้น และต้องการขยายฐานลูกค้าไปกลุ่มอื่นๆ ที่กว้างมากกว่าเดิม
‘Suk Nice Knife (สุข ไหน ไหน)’
จากโจทย์ความท้าทายต่างๆ ของแบรนด์ ทำให้นักออกแบบผลิตภัณฑ์และกราฟิกดีไซน์เนอร์ อย่าง ITSARA (อิศระ แก้วเรือง) หาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบตั้งต้นเดิม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงให้คุณค่ากับงานแฮนด์คราฟท์ โดยชูจุดเด่นของแบรนด์ ในเรื่องของทักษะและความชำนาญในการตีเหล็กแบบดั้งเดิม และแนวคิดการ Upcycling เหล็กเหลือใช้ มาออกแบบเป็นคอลเลคชั่นมีดสุดพิเศษ ‘Suk Nice Knife (สุข ไหน ไหน)’ โดยใช้ตลับลูกปืนเก่า นำมาตีเหยียดให้เป็นส่วนของใบมีด และลดทอนรูปทรงของมีดให้ดูไม่เป็นอาวุธ พร้อมด้ามจับ ที่ทำจากไม้เก่า ยางเก่า เศษหนังเก่า เศษหวาย และฝาขวดน้ำดื่ม มาขึ้นรูปด้วยเทคนิคการประกอบและผลิตตามแบบฉบับของศุขโข
ทั้งศุขโข และ ITSARA ยังเห็นโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ ให้กลายเป็นสินค้าของฝากประจำย่าน ที่สะท้อนคุณค่าของงานฝีมือเก่าแก่ที่ยังคงอยู่ของย่านช้างม่อย และถือเป็นโอกาสในการขยายศักยภาพของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ร้านศุขโข
พิกัด: ถนนช้างม่อย แยกถนนช้างม่อยเก่า ใกล้ร้านหวายน้ำผึ้ง
วัน-เวลา: เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันอาทิตย์)/ 8.00-17.00
โทร: 053-232124
“New Era of Neramit Custom Tailoring”
โดย สูทเนรมิต และ Everlong Creative House
‘ร้านเนรมิต’ ร้านตัดเสื้อและตัดสูทเก่าแก่บนถนนราชวงศ์ ที่รับตัดแบบ Tailor-made เจ้าแรกๆ ในเชียงใหม่ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2496 ในช่วงก่อนสงครามเวียดนาม โดยคุณปู่ของเจ้าของร้านคนปัจจุบัน ที่อพยพมาจากจีนและฮ่องกง และได้เรียนรู้การตัดสูทสไตล์คลาสสิคตามแบบฉบับของยุโรปเป็นวิชาติดตัวมา
ลูกค้าที่มาตัดสูทในช่วงเวลานั้นเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ หรือทหารอเมริกันที่เข้ามาตั้งค่ายอยู่ในเชียงใหม่ ภายหลังมีกลุ่มลูกค้าหลากหลายมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นลูกค้ากลุ่ม Hi-end โดยราคาตัดสูทต่อตัวอยู่ที่ประมาณ 8,000-15,000 บาท
อาโรจน์ หรือ วิโรจน์ ตันสุขานันท์ เจ้าของร้านเนรมิต เล่าให้ฟังว่าทางร้านที่ให้ความสำคัญในเรื่องความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการตัดสูททุกตัว ด้วยความชำนาญของช่างที่มีประสบการณ์สูง ประกอบกับการเอาใจใส่ดูแลและเก็บรายละเอียดในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ทำให้เนรมิตยังคงเป็นร้านสูทคู่ใจของหลายๆ คนที่มีโอกาสมาใช้บริการ
แต่อย่างไรก็ตาม ความนิยมของสูทแบบคลาสสิคเริ่มลดลง ประกอบกับไลฟ์สไตล์การแต่งกายของกลุ่มลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้กลุ่มลูกค้าปัจจุบันของร้านยังคงเป็นกลุ่มดั้งเดิม และมาจากการบอกกันปากต่อปากเท่านั้น อาโรจน์จึงต้องการเพิ่มการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อกลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้รู้จักและเกิดความสนใจใช้บริการจากทางร้าน
‘New Era of Neramit Custom Tailoring’
ทีมนักออกแบบจาก Everlong Creative House สตูดิโอออกแบบที่เชี่ยวชาญในเรื่องของการทำแบรนด์ จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น โดยเน้นจุดเด่นสำคัญของร้านในเรื่องของความพิถีพิถันในการผลิตในทุกขั้นตอน มาถ่ายทอดและเล่าเรื่องราวผ่านการทำ Corporate Identity พร้อมเอาใจคนรุ่นใหม่ผ่านวิธีการเล่าเรื่องด้วยการถ่ายภาพ และภาพกราฟฟิค ที่มีความเป็นแฟชั่น เข้าใจง่าย และทำ Media design เพื่อสร้างการรับรู้ครอบคลุม ทั้งที่หน้าร้านและบนช่องทางใหม่ๆ อย่างสื่อออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่มากขึ้น
ด้วยแพสชั่นอันแรงกล้าในการดำเนินกิจการมาอย่างยาวนาน และบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ‘เสื้อผ้าที่ออกแบบมาสำหรับคนเพียงหนึ่งคน ย่อมประยุกต์เข้ากับผู้คนได้ทุกสมัย ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสรีระ’ จึงทำให้ร้านเนรมิต ยังคงเป็นร้านสูทที่ครองใจลูกค้าที่ได้ไปใช้บริการ และเป็นธุรกิจที่ทรงคุณค่าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผู้คนในย่านช้างม่อยต่อไป
ร้านเนรมิต (Neramit Custom Tailoring)
พิกัด: แยกถนนราชวงศ์ ตัดกับถนนท้ายวัง
วัน-เวลา: เปิดบริการทุกวัน (ยกเว้นวันอาทิตย์) /10.00-18.00 น.
โทร: 053-234353
“Knock Knock Vibes”
โดย Knock Knock Pie และ ploywchy (Wichanya Kaninwiwatkul)
หลายคนที่ยังไม่มีโอกาสเดินเข้าไปในตรอก ซอก ซอยของช้างม่อย อาจยังไม่ทราบว่า มีร้านเบเกอรี่เก่าแก่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางย่านช้างม่อยแห่งนี้ นั่นคือร้าน Knock Knock Pie ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า ‘บ้านขนมพาย’ ร้านพายที่เปิดขายมากว่า 25 ปี โดยเริ่มจากการทำขนมขายส่งให้กับร้านอาหาร ร้านกาแฟ และตลาด ในราคาต้นทุนชิ้นละ 10 บาท ปัจจุบัน Knock Knock Pie มีกำลังการผลิตประมาณ 500 ชิ้นต่อวันและมีไส้ให้เลือกถึง 7 ไส้ ทำให้การขายส่งหรือวางขายในร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นแนวทางการขายหลักมาอย่างยาวนาน
คุณพลอย อภิญญา แก้วประสิทธิ์ ผู้มาสานต่อสูตรขนมของร้านและปลุกปั้นบ้านขนมพายดั้งเดิม สู่แบรนด์ Knock Knock Pie มองเห็นปัญหาว่า นักท่องเที่ยวในย่านช้างม่อย ยังไม่ค่อยรู้จักร้านมากนัก เนื่องจากร้านมีขนาดเล็กๆ สังเกตเห็นได้ยาก และตั้งอยู่ในเส้นทางที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยเดินผ่าน จึงต้องการปรับปรุงพื้นที่หน้าร้านให้สะดุดตาและเพิ่มพื้นที่ให้สามารถนั่งทานที่ร้านได้สะดวกมากขึ้น พร้อมปรับวิธีการสื่อสารของแบรนด์ใหม่ให้เป็นที่น่าจดจำมากยิ่งขึ้น
‘Knock Knock Vibes’
Wichanya Kaninwiwatkul นักออกแบบด้าน UX/UI จึงเข้ามาช่วยปรับในด้านการสื่อสารแบรนด์เป็นหลัก เพื่อสร้าง brand experience ทั้งทางออนไลน์ส่งต่อมาที่หน้าร้าน อาทิ ปรับการสื่อสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Knock Knock Pie ให้มีชีวิตชีวาและเข้าถึงได้มากขึ้น โดยใช้ภาพถ่ายสวยงาม ประกอบเรื่องราวเป็นกันเอง รวมถึงพัฒนาเครื่องมือออนไลน์อื่นๆ อาทิ google my business ที่จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ดีและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไปจนถึงการเพิ่มความพิเศษผ่านเมนูพายรสชาติใหม่ และมีเมนูพิเศษช่วงเทศกาล เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย พร้อมทั้งเปลี่ยนประสบการณ์การมานั่งทานที่ร้าน ให้มีบรรยากาศ Homey เสมือนทานขนมพายอบใหม่ที่บ้านเพื่อน
ด้วยความหอมกรุ่นจากเตาอบที่มีในทุกๆ เช้าตลอด 25 ปี จาก ‘บ้านขนมพาย’ สู่แบรนด์ “Knock Knock Pie” ผสานแนวคิดในการออกแบบที่เข้ามาร่วมสร้างมิติให้กิจการร้านค้าดั้งเดิมของย่านที่พร้อมจะเปิดบ้านต้อนรับผู้คนให้ได้ลิ้มลองรสชาติ และเรียนรู้เรื่องราวผ่านแบรนด์ขนมพายคู่ใจของชาวชุมชนช้างม่อย
Knock Knock Pie (บ้านขนมพาย)
พิกัด: ระหว่างซอยชัยภูมิ1 และ ชัยภูมิ 2
วัน-เวลา: เปิดบริการทุกวัน (ยกเว้นวันอาทิตย์) / 06.00-13.00 น.
โทร: 0910768324