Made in Chang Moi ปีที่ 1
หากพูดถึงช้างม่อย ภาพติดตาของใครหลายคนคงเป็นถนนจากคูเมืองชั้นนอก มุ่งสู่กาดหลวงหรือตลาดวโรรส โดยสองข้างทางรายล้อมไปด้วยตึกอาคารพาณิชย์ มีร้านหวายน้ำผึ้งเป็นจุดเช็คอินประจำย่าน รวมถึงไปร้านค้าและธุรกิจที่ทยอยเปิดกิจการโดยการลงทุนจากคนรุ่นใหม่
ในอดีตช้างม่อยเป็นเส้นทางส่งสินค้าเข้าออกระหว่างตัวเมืองเก่า ย่านท่าแพและตลาดวโรรส ดึงดูดนักลงทุนและผู้ใช้แรงงานทั้งชาวไทยและต่างชาติ จนขยับขยายกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอาชีพ ตั้งแต่ร้านอาหาร ค้าขายสินค้าทั่วไป เครื่องจักร พาหนะ ไปจนถึง ช่างฝีมือตีเหล็ก ซ่อมรถ
แม้ช้างม่อยจะซบเซาลงในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่และทายาท ที่มองเห็นเสน่ห์และมรดกของชุมชน จึงได้ร่วมกันผลักดันย่านผ่านธุรกิจและกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับคนในพื้นที่
Made in Chang Moi หรือ เมด อิน ช้างม่อย (2564) จึงได้ริเริ่มขึ้นมาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการดั้งเดิมในย่าน ให้สามารถปรับตัวทางธุรกิจ และอยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างกิจการดั้งเดิมและนักออกแบบรุ่นใหม่ 10 คู่ เพื่อต่อยอดจุดเด่น ทักษะฝีมือดั้งเดิม ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ แต่ยังคง DNA ของตัวเองเอาไว้
ร้านกับข้าวป้าดา (เจดีย์) x Studiophuwa
ป้าดา ช้างม่อย ร้านรถเข็นขายกับข้าวเมือง ตั้งอยู่เคียงข้างเจดีย์หนองล่ม มากว่า 60 ปี เริ่มจากการตามคุณแม่ไปขายกับข้าวที่ตลาดสมเพชร สู่การเป็นผู้นำชุมชนและผู้ดูแลเจดีย์แห่งนี้
ทีมสตูดิโอภูวาได้ทำความรู้จักตัวตนของป้าดา ควบคู่กับการศึกษาความเป็นไปของเมือง พฤติกรรมลูกค้า และนำเสนอตัวตนของ “ป้าดา” ให้เข้าถึงผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ตัวตนและพื้นที่ ผ่านการทำโลโก้ตัวการ์ตูนป้าดา เพื่อเพิ่มการจดจำ และทำเพจออนไลน์ ไปจนถึงเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยนำเสนอไอเดียการทำ catering สำหรับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ด้วยเซ็ตหมูปั้นไข่คว่ำ ในราคา 35 บาท และการจัดร้านปรับพื้นที่นั่งกินอาหารที่ร้านให้ตอบโจทย์การใช้งานและบริบทพื้นที่ ด้วยโต๊ะโตกข้าวเมือง โต๊ะอาหารแบบใหม่ถอดประกอบ และจัดเก็บได้ง่าย ทั้งยังมีรูปทรงที่สะดุดตา บ่งบอกตัวตนของร้าน
เกษมสโตร์ ร้านเบเกอรี่โฮมเมด x Everlong Studio
เกษมสโตร์ ซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นประจำย่าน พร้อมเบเกอรี่อบสดใหม่ทุกวัน เป็นร้านที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังคนรุ่นใหม่มากขึ้น นักออกแบบจึงเน้นพัฒนา brand identity ให้เด่นชัดมากขึ้น และสร้างภาพจำโดยการเพิ่มลูกเล่นให้มีของที่ระลึก เซ็ตของขวัญ ผลิตภัณฑ์พิเศษที่สื่อถึงตัวตนของร้าน เช่น ปิ่นโต กระเป๋า เสื้อ สติ๊กเกอร์ เป็นต้น พร้อมสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านข้อความน่ารักๆ ที่แนบไปกับเซ็ตของขวัญ
ตือคาโค ช้างม่อย x Khomsun Chaiwong
ตือคาโค ช้างม่อย ร้านขนมเก่าแก่ประจำย่านที่มีลูกค้าแวะเวียนมาต่อคิวอย่างไม่ขาดสาย แต่ปัจจุบันลูกประจำส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ จึงอยากขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยยังคงจุดเด่นของขนมไว้แบบเดิม จึงเน้นปรับเปลี่ยนที่ภาพลักษณ์ให้ดูสมัยใหม่ขึ้น ตั้งแต่ brand identity ไปจนถึงการตกแต่งร้านและการสร้างประสบการณ์ในร้าน พร้อมลูกเล่นสนุกๆ ทำบัตรคิวเป็นปฏิทินฉีกได้
ยายนวล ขนมไทยกาดหลวง (เจ้าเก่า) x Krai.sd
ขนมไทยที่ยายขายเป็นสูตรโบราณ แต่เน้นความสด ใหม่ จึงอยากขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยยังไม่ทิ้งลูกค้าเก่าที่ชื่นชอบรสชาติ หน้าตาและคุณภาพขนม จึงทำการสร้าง brand identity เพิ่มตัวการ์ตูนสดใส และแพคเกจจิ้งที่เหมาะกับการกินขนมแบบปิคนิค รวมถึงได้ปรับการใช้งานพื้นที่ร้านให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากพื้นที่ทำขนมและพื้นที่ขายหน้าร้าน คือบ้านของยายเอง นักออกแบบจึงได้ปรับการจัดร้าน โดยใช้ลังพลาสติกสีสันสดใสสอดคล้องไปกับคาแรกเตอร์ใหม่ ที่สามารถเคลื่อนย้ายง่าย เพื่อให้ยายนวลสามารถจัดการ ปรับเปลี่ยนพื้นที่เองได้ สามารถเก็บ/ขยาย/วาง/จัดใหม่ ได้อย่างอิสระ
ลาบป้ายอด x tua pen not
ลาบป้ายอด ร้านลาบพื้นเมืองในย่านช้างม่อย ขายมานานกว่า 20 ปี มีโต๊ะให้นั่งกินในร่ม ริมถนน ปรุงแบบพื้นถิ่นแท้ๆ อร่อยถูกใจคนโลคอล ส่วนใหญ่จึงมีเฉพาะคนในละแวกย่านเท่านั้นที่รู้จัก นอกจากความอร่อยที่ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงอะไร นักออกแบบจึงเห็นโอกาสในการช่วยให้ร้านดึงดูดสายตา นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาในย่านนี้ ให้ลองแวะมาชิมฝีมือลาบป้ายอด จึงจัดชุดเก้าอี้ดีไซน์ใหม่ แปลกตา เพื่อสร้างคาแรกเตอร์สดใหม่ให้กับร้าน ภายใต้ไอเดีย Upcycling Furniture Collection โดยนำเอาเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วตามบ้าน ตามโรงงานมาชุบชีวิตใหม่ ที่นอกจากจะเพื่อสร้างสีสันให้กับร้านแล้ว ยังช่วยสร้างความรู้ให้ชุมชนในการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ๆ ได้ไม่รู้จบ
ไส้อั่วป้าอำพัน x 27 JUNE Studio
ไส้อั่วป้าพัน ร้านอาหารเหนือย่านช้างม่อย เปิดมานานกว่า 40 ปี ไฮไลต์ของร้านคือ ไส้อั่วสูตรลับ ของป้าพัน ซึ่งใช้ไส้หมูสดใหม่ทุกวัน มาผสมเนื้อหมูและสมุนไพร แล้วนำมาย่างด้วยเตาถ่านไร้ควัน ทำให้ไส้อั่วมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว น่ารับประทาน
ปวิมล สามเสน และ ชญานนท์ ต.เจริญ 2 นักออกแบบ จาก 27 JUNE Studio นำเรื่องราวไส้อั่วป้าพันมานำเสนอใหม่ในรูปแบบ Charcuterie board โดยการจับคู่ไส้อั่วป้าอำพันกับอาหารท้องถิ่น หรือวัตถุดิบที่จำหน่ายในร้านค้าย่านช้างม่อย เช่นชีส ถั่ว ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ของการรับประทานอาหารเหนืออย่างกลมกล่อมลงตัว
น้องก้อย ดอกไม้ไฟกาดหลวง x MINIMAL STUDIO
ธุรกิจดอกไม้ไฟ มักจะมาคู่กับงานรื่นเริง ประเพณี งานเฉลิมฉลองต่างๆ แต่เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ร้านน้องก้อย ดอกไม้ไฟกาดหลวง ขายได้น้อยลง จึงต้องการขยายช่องทางการขายในโลกออนไลน์ และขยายกลุ่มลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น นักอออกแบบจึงช่วยแก้ปัญหาโดยการทำจัดเซ็ตสินค้าเป็นคอลเลคชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น งานเล็ก งานใหญ่ งานแก้บน พร้อมแพคเกจที่ดึงดูด ชวนให้โพสภาพในโซเชียล และยังมี catalog สินค้า ที่ user-friendly ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น ทั้ง onsite และ online
ศุขโข x COTH studio
ศุขโข ช่างทำมีดที่ใช้ภูมิปัญญาการตีเหล็กแบบดั้งเดิม ทั้งเทคนิคการขึ้นรูป เจียให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามต้องการ เป็นงานแฮนเมดทำทีละชิ้น เดิมผลิตออกมาเป็นมีดอย่างเดียวเท่านั้น นักออกแบบจึงเข้าไปช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดทักษะสู่ผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น เพื่อให้ลูกค้าเห็นช่องทางมาสั่งผลิตได้ โดยชูจุดเด่นความเชี่ยวชาญ แต่สามารถเข้าถึงไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ได้ จึงได้ออกมาเป็น ฐานรองดริปกาแฟที่สามารถถอดประกอบได้ พกพาสะดวก โดยยังคงกลิ่นอายรูปทรงของมีดเหล็กไว้ เพื่อสะท้อนตัวตนของศุขโข
บุญทอง ชีแฮร์ x Chatchai Sukanan
‘อ้ายทอง’ เจ้าของร้านบุญทองชีแฮร์เปิดบริการทำผมให้กับพี่น้องในชุมชนช้างม่อยมากว่า 30 ปี สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ผ่านการเลือกทรงผมให้กับผู้ใช้บริการโดยอิงจากโครงหน้าและสรีระ พร้อมแนะนำเคล็ดลับในการรักษาสุขภาพผม มีหลักฐานเป็นรูปถ่ายอมยิ้มของผู้มาใช้บริการที่ติดอยู่ทั่วร้าน
ภายใต้หน้ากากของช่างตัดผมอารมณ์ดี ยังซ่อนไว้ซึ่งบทบาทของศิลปินช่างจ๊อยซอเดี่ยว ฝากผลงานไว้ในนามของ ‘บุญทอง ร้องอ้อ’ มีเอกลักษณ์การขับร้องซอสด คิดและดัดแปลงคำร้องตามสถานการณ์และรูปแบบของงานไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานแต่งงานหรือแม้แต่ร้องเชิดชูให้เกียรติผู้ล่วงลับ กลายเป็นที่ชอบอกชอบใจให้กับบรรดาผู้ฟังทั้งแม่ยกรุ่นใหญ่ไปจนถึงลูกเด็กเล็กแดง
แม้จะเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการจ๊อยซอ แต่ในบทบาทของช่างตัดผมนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติที่พักตามโรงแรมและเกสต์เฮาส์ในย่านช้างม่อยหายไป เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ ฉัตรชัย สุขอนันต์ ในฐานะผู้กำกับและนักแสดงละครเวทีเอง จึงได้ดึงประสบการณ์ของการสื่อสารกับผู้ชม เข้ามาปรับพื้นที่หน้าร้านใหม่เพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้ที่สัญจรไปมา โดยการสร้างชั้นวางรูปของผู้ที่เคยมาใช้บริการที่มีรูปแบบคล้ายการจัดวางแผ่นเสียง ล้อไปกับคาแรคเตอร์ของตัวผู้ประกอบการที่เป็นศิลปินช่างจ๊อยซอ รวมถึงการออกแบบโลโก้และปรับเรทราคาใหม่จากที่ไม่เคยเปลี่ยนมากว่า 30 ปี เพื่อรองรับลูกค้าใหม่ทั้งชาวไทยและต่างชาติในอนาคต
ด้วยความที่อ้ายทองมีพรสวรรค์ทั้งในด้านงานช่างผมและจ๊อยซอ ฉัตรชัย จึงได้ชวนช่างซอเสียงหวานแต่งบทเพลงเกี่ยวกับร้านและอาชีพทำผมของตนเอง “เราสนใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ประกอบการโดยใช้บทเพลงที่เค้าแต่งขึ้นจากโจทย์ที่เราให้ไป นำมาถ่ายทอดในรูปแบบมิวสิควิดีโอผ่านกิจวัตรในแต่ละวันของช่างผม เป็นความตั้งใจที่ต้องการจะพาโลกทั้งสองใบมาโคจรพบกัน”
สามารถรับชมบทเพลง ‘เจิญมาทำผม’ ได้จากลิงค์ https://fb.watch/aOd-zUy3Ol/
Chiang Mai Heart x นุสรา เตียงเกตุ
เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง หรือใครหลายคนรู้จักนามว่า "ป้าจิ๋ม" เจ้าของร้านขายสินค้างานฝีมือร้านแรก ๆ บนถนนช้างม่อย เปิดกิจการมากว่า 20 ปี จากอดีตข้าราชการครู ที่เกิดความหลงใหลงานหัตถกรรมโดยใช้เทคนิคปะติดผ้า เริ่มต้นจากทำเป็นงานอดิเรกนำมาสู่การเปิดร้านขายงานฝีมือของตัวเองอย่างเต็มตัว โดยนำเอาประสบการณ์ที่มีนำมาต่อยอดเป็นสินค้าหลากหลายประเภท อาทิ กระเป๋าผ้า ชุดกันเปื้อน ตุ๊กตาหมอน เป็นต้นและยังได้นำทักษะต่างๆ มาทดลองและพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการความรักในงานฝีมือแล้ว ป้าจิ๋มยังมีอีกบทบาทในการอนุรักษ์วัฒนกรรมรวมถึงแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองเชียงใหม่โดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนภายใต้ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่
จากการทำงานผ้าของ ป้าจิ๋ม ที่มีการทดลองและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง CEA เชียงใหม่ ได้ชักชวน "คุณนุสรา เตียงเกตุ" ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในวงการงานผ้า เข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคนิคด้านงานผ้าระหว่างกัน คุณนุสรา ได้นำประสบการณ์จากการเป็นผู้ประกอบการร้านผ้า และการจัดกิจกรรมในพื้นที่ เข้ามาปรับพื้นที่ร้านเชียงใหม่ฮาร์ทใหม่ ไม่ใช่เพียงขายสินค้าอย่างเดียว ยังสามารถเป็นพื้นที่ในการทำงานและจัดกิจกรรมสำหรับผู้ที่สัญจรและสนใจไปมาอีกด้วย
นอกจากนี้จากความชอบในการวาดรูปของป้าจิ๋ม คุณนุสรา จึงเกิดเป็นไอเดียเทคนิคการพิมพ์ลายผ้าจากบล็อกไม้และดินเผาที่หยิบงานวาดภาพสัตว์ ธรรมชาติ และลวดลายที่พบเห็นในย่านช้างม่อย มาสร้างเป็นลวดลายบนผ้า เริ่มทดลองจากการออกแบบบล็อกไม้สำหรับพิมพ์ผ้า วัสดุไม้จากท้องถิ่นที่นำมาเป็นบล็อกพิมพ์ลวดลาย โดยช่างฝีมือบ้านกิ่วแลน้อย อ.สันป่าตอง และบล็อกดินเผาโดยช่างฝีมือบ้านน้ำต้น อ.แม่วาง ทำให้เกิดการต่อยอดและเชื่อมโยงการทำงานจากทักษะงานผ้า ไปสู่งานแกะสลักไม้ และดินเผาในจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ที่มีเสน่ห์ของท้องถิ่นและคุณค่าของงานฝีมือได้อย่างลงตัว