การผสมผสานวัสดุที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน หรือวัสดุที่หาได้ในละแวกย่าน นำมา Redesign ใหม่ โดยนักออกแบบสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดการใช้งานของวัสดุอย่างสร้างสรรค์ ที่สามารถใช้งานให้เกิดประโยชน์และบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนไปพร้อมกัน
เสาไฟฟ้าของอากงอาม่า
โดย Pin Metal Art
จากเศษชิ้นส่วนอะไหล่มือสองที่ชำรุดผุพัง ผสานความคิดสร้างสรรค์และสีสันสดใส พัฒนาเป็นเสาไฟส่องสว่างตั้งตระหง่านที่แสดงถึงวิถีชีวิตและเป็นอาชีพเด่นชัดของชุนชนคนไทยเชื้อสายจีน ชาวตลาดน้อยแห่งนี้ เสาไฟฟ้าที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นการออกแบบพัฒนาวัสดุชิ้นส่วนของอะไหล่รถยนต์ที่ชำรุดและถูกคัดแยกทิ้งรวมทั้งวัสดุอื่นๆที่มีอยู่และหาได้ภายในชุมชนเซียงกงแห่งนี้ ชิ้นส่วนต่างๆได้ถูกนำกลับมาสร้างและผลิตเป็นผลงานใหม่ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนคนไทยเชื้อสายจีน และสามารถสร้างประโยชน์ต่อพื้นที่สาธารณะในชุมชน ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง
มังกรตลาดน้อย
โดย TAM:DA STUDIO
"มังกร" เป็นสัญลักษณ์แทนผู้คนในชุมชนตลาดน้อย ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ คนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน โดยตัวมังกรทำจากข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาทั่วๆ ไปที่หาได้ในพื้นที่ เกล็ดที่เคลื่อนไหวได้ เปรียบเสมือนวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ยังคงดำเนินอยู่ ดั่ง "มังกร" ที่ยังมีชีวิตและลมหายใจ