Khon Kaen/Sri Chan/District Projects
TH | EN

Kungsadan Walkable Project

กังสดาล ย่านเดินเท้า

Kungsadan Walkable Project
Published Date:

กังสดาล ย่านเดินเท้า

“ย่านกังสดาล” ย่านเพื่อนบ้านของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบศรีจันทร์ ถือเป็นย่านชุมชนสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ เพราะมีทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ TCDC ขอนแก่น ห้อมล้อมไปด้วยร้านค้าทุกรูปแบบที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทั้งซุกซ่อนอยู่ตามตรอกซอกซอยเล็กๆ ไปจนถึงร้านค้าริมทางบนถนนเส้นหลักตลอดทั้งเส้น แต่ด้วยสมาชิกและกิจกรรมในย่านที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการจราจรที่หนาแน่นตลอดเวลา ส่งผลให้การเดินทางและการเดินเท้าในย่านเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งๆ ที่ลักษณะเด่นทางกายภาพของพื้นที่มีขนาดกระชับ เหมาะแก่การเดิน แต่พื้นที่กลับไม่เอื้อให้คนเดินได้อย่างมีคุณภาพ

โครงการ “กังสดาล ย่านเดินเท้า” จึงจัดทำขึ้นเพื่อนำเอาความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ให้ตอบโจทย์ผู้คน และทำให้ความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น โดยตั้งต้นที่ “การเดิน” เป็นหัวใจสำคัญ และผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในย่านในทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้การแก้ปัญหาที่ตอบ pain point ของผู้ใช้งานที่สุด และมีการทดลองบนพื้นที่จริง 2 ครั้ง ในช่วงเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ในปี 2564 และ 2566

ก้าวแรก: ‘ย่านเดินได้’ เริ่มต้นที่ช่วยกันคิด

จากการระดมความคิดเห็นและไอเดียร่วมกับหลายภาคส่วนพบว่า ปัญหาของพื้นที่และสิ่งที่ควรพัฒนามีมากมายถึงกว่า 40 โครงการ อาทิ เชื่อมต่อการเดินเท้าให้ต่อเนื่อง เพิ่มร่มเงา เพิ่มแสงสว่าง เพิ่มจุดพัก ไปจนถึงใช้ศิลปะนำเสนออัตลักษณ์ของพื้นที่ จึงได้ร่วมโหวตเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 20 โครงการ เพื่อทำการออกแบบแนวทางร่วมกับนักออกแบบ และสถาบันการศึกษา

แล้วชวนทุกคนมาร่วมกันโหวตอีกครั้ง ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อเลือกโครงการที่ถูกใจคนส่วนใหญ่มากที่สุด ที่จะได้นำมาทดลองทำต้นแบบขนาด 1:1 บนพื้นที่จริง เพื่อทดสอบผลลัพธ์และความพึงพอใจของชุมชน ในเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ ในปี 2564 และ 2566 ก่อนนำความคิดเห็นไปพัฒนาต่อในระยะถัดไป

ในปีแรก (2564) มีโครงการที่ได้รับเลือก 3 โครงการหลัก ได้แก่ ทางม้าลาย การแบ่งพื้นที่ระหว่างคนเดินและรถ พื้นที่พักผ่อนพร้อมจุดจอดจักรยาน ซึ่งได้รับการออกแบบพัฒนาแนวคิดร่วมกับ Urban Room และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการที่ 1 ทางม้าลาย “ลายขิดอีสาน” 
สถานที่: หน้า TCDC ถนนกัลปพฤกษ์

แนวคิด:  เพิ่มความปลอดภัยของทั้งคนเดินและคนขับรถ เปลี่ยนพฤติกรรม คนเดินเท้าให้ใช้ทางข้าม และคนขับรถให้ชะลอความเร็ว โดยนำเอาอัตลักษณ์อีสานอย่าง “ลายขิดอีสาน” มาประยุกต์เป็นแถบลายของทางม้าลาย ตอบโจทย์ทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยและด้านความสวยงาม

ผลลัพธ์: คนเดินเท้ามีการใช้ทางข้ามมากขึ้น รถชะลอเฉพาะเมื่อถึงทางข้าม

โครงการที่ 2
สถานที่: ซอยอดุลยาราม 7

เป้าหมาย:  ส่งเสริมให้คนออกมาเดินมากขึ้น และการแบ่งพื้นที่ระหว่างทางเดินเท้าและทางเดินรถให้ชัดเจน โดยออกแบบลวดลายที่สะท้อนวิถีชีวิต ร้านค้าภายในย่าน

ผลลัพธ์:
คนออกมาเดินมากขึ้น แต่พฤติกรรมการแบ่งพื้นที่ระหว่างคนเดินเท้า และคนขับรถไม่เปลี่ยนแปลง

โครงการที่ 3 มุมพักผ่อน ริมบึง 

แนวคิด:
การเพิ่มพื้นที่นั่งพักผ่อนในสวนสาธารณะในหลากหลายรูปแบบที่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่หลากหลาย มีทั้งเก้าอี้ที่มีฟังก์ชั่นเป็นจุดจอดจักรยานได้ด้วย ไปจนถึงเก้าอี้ที่มีลูกเล่นสนุกๆ สำหรับเด็กๆ


ก้าวที่สอง: ‘ย่าน (ต้อง) เดินได้ (จริงๆ)’  มาจากการออกแบบของทุกคน

ในปีที่ 2 (2566) ขยายการมีส่วนร่วมโดยการเปิด Pitching ออนไลน์ ภายใต้โจทย์ “ทำยังไง ให้กังสดาลเดินได้จริงๆ?” เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมนำเสนอไอเดียเข้ามา แล้วคัดเลือกมาพัฒนาแนวคิดและการออกแบบโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และนำเสนอเป็นนิทรรศการเพื่อรับฟังความคิดเห็น พร้อมตัวอย่างโครงการที่ได้รับการทดลองทำบนพื้นที่จริง ณ บริเวณสวนสาธารณะบึงหนองแวงตราชู ร่วมกับการจัดแสดงผลงานศิลปะ กิจกรรมศิลปะและดนตรีของนิสิตนักศึกษา


กังสดาล ย่านเดินเท้า ครั้งที่ 1  โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น) บริษัท Urban Room และเครือข่ายชุมชนและผู้ประกอบการในย่านกังสดาล

กังสดาล ย่านเดินเท้า ครั้งที่ 2  โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC มหาวิทยาลัยขอนแก่น (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และหอศิลปวัฒนธรรม) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เครือข่ายชุมชนและผู้ประกอบการในย่านกังสดาล