Rayong/Rayong Old Town/District Projects
TH | EN

Co-Create Yomjinda

ทดลองผลักดัน 'ย่านยมจินดา' โดยคนยมจินดา

Co-Create Yomjinda
Published Date:

Co-Create YOMJINDA

โครงการ Co-Create YOMJINDA จัดขึ้นเพื่อสร้างกระบวนการทดลองพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่ายมจินดา โดยการให้คนในร่วมกันกันวิเคราะห์ปัญหา ค้นหาความต้องการ ผลักดันแนวทางที่จะสามารถปลุกปั้นย่านยมจินดาสู่การเป็น พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายต่างๆ ในการขับเคลื่อนพื้นที่ต่อไปในอนาคต ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาพื้นที่อย่าง ‘ต่อเนื่อง’ และ ‘ยั่งยืน’

ยมจินดา หรือ ย่านเมืองเก่าระยอง เป็นพื้นที่ที่ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงาน มีกิจกรรมบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ริเริ่มโดยชุมชนเอง และขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชน ทำให้ชุมชนไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ส่งผลให้การพัฒนาขาดความต่อเนื่องและยั่งยืน

โจทย์ของโครงการจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า 'ทำอะไร?' หรือการทำโครงการสำเร็จรูปที่มีหน่วยงานมาดำเนินการให้แล้วได้ผลลัพธ์ที่ชุมชนพึงพอใจ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ 'ทำอย่างไร?' โดยสร้างกระบวนการและแนะนำเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่ง และมีร่วมแสดงความคิดเห็น ผ่านการ focus group กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แล้วสร้างตัวอย่างเบื้องต้นที่จับต้องได้ เพื่อตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ ของย่าน และส่งต่อให้ชุมชนสามารถนำกระบวนการหรือสิ่งที่ได้จากกระบวนการไปปรับใช้และต่อยอดเองได้ระยะยาว 

โดยได้จัด Test Day ขึ้นเพื่อทดสอบ 'ตัวอย่าง' บนพื้นที่จริงและเปิดรับความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เมื่อวันที่ 9-11 กันยายน 2565 ที่ถนนยมจินดา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยมุ่งหวังว่าโครงการจะสามารถเป็น 'คู่มือ How to' สำหรับชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อนำไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่ย่านยมจินดาได้ต่อไป


'How to ซาวเสียง'

ตัวอย่างการรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากชุมชน สำหรับต่อยอดโครงการพัฒนาของภาครัฐ โดยมีสำนักงานจังหวัดและเทศบาลนครระยองมาร่วมทดสอบและรับฟังความคิดเห็น 

โจทย์ 1: เทศบาลนครระยองมีแผนพัฒนาพื้นที่สีเขียวและสะพานข้ามฟากแห่งใหม่ของถนนยมจินดา ที่บริเวณท่าประดู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในอดีต แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน และปล่อยให้รกร้าง

ผลงาน: The Future of Tha Pradoo นิทรรศการนำเสนอแนวคิด ภาพในอนาคตของพื้นที่ท่าประดู่ และกิจกรรมชวนผู้คนในย่านแสดงความคิดเห็นและร่วมออกแบบพื้นที่ในมุมมองของตนเอง

โจทย์ 2: เทศบาลนครระยองและระยองพัฒนาเมืองมีแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าระยอง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทางกายภาพเพื่อส่งเสริมการรับรู้อัตลักษณ์ของย่านยมจินดา แต่ยังขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนที่มากเพียงพอ ทั้งในด้านสไตล์การออกแบบและฟังก์ชั่นที่สอดคล้องไปกับตัวตนและสภาพแวดล้อมของพื้นที่

ผลงาน: ตัวอย่างการออกแบบ CI (Corporate Identity) ของย่านยมจินดา โดยตีโจทย์และต่อยอดจากงานวิจัยเดิมที่จังหวัดเคยทำไว้อยู่แล้ว (จากรายงาน 4DNA จังหวัดระยอง โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, 2561) และตัวอย่างการนำไปใช้จริงผ่านอุปกรณ์ประกอบถนน (Street elements) ที่จำเป็น ได้แก่ ป้ายข้อมูล ฝาท่อน้ำทิ้ง กระถางต้นไม้ รวมถึงการภาพรวมการสื่อสารของโครงการ Co-Create Yomjinda เพื่อทดสอบความเห็นของชุมชน

งานวิจัย 4DNA จังหวัดระยอง โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, 2561
mock up ฝาท่อน้ำทิ้ง ที่ออกแบบใหม่เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นยมจินดา
mock up ฝาท่อน้ำทิ้ง ที่ออกแบบใหม่เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นยมจินดา
ตัวอย่าง CI (Corporate Identity) ย่านยมจินดา ผ่านการออกแบบภาพรวมการสื่อสารของโครงการ Co-Create Yomjinda
ตัวอย่าง CI (Corporate Identity) ย่านยมจินดา ผ่านการออกแบบภาพรวมการสื่อสารของโครงการ Co-Create Yomjinda

โจทย์ 3: ย่านขาดจุดแวะพักที่มีร่มเงา ที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนได้ รวมถึงพื้นที่สาธารณะที่เป็นศูนย์รวมผู้คน และเป็นแลนด์มาร์กของพื้นที่ อย่างศาลเจ้าแม่ทับทิม ยังไม่ได้ใช้งานพื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ผลงาน: 
Yomjinda Street Furniture พื้นที่นั่งพักคอยพร้อมร่มเงา บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิมและท่าประดู่

ชุดที่นั่งข้างถนน ออกแบบโดย คณาจารย์และนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1 ชุด และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 1 ชุด ผลิตโดย เทคโนโลยีสร้างสรรค์สมัยใหม่ 3D Concrete Printing จากบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC)
ชุดที่นั่งข้างถนน ออกแบบโดย คณาจารย์และนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะ และการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 1 ชุด และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 1 ชุด ผลิตโดย เทคโนโลยีสร้างสรรค์สมัยใหม่ 3D Concrete Printing จากบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC)

โจทย์ 4: ที่ผ่านมามีกิจกรรมจัดขึ้นในย่านยมจินดาหลายกิจกรรม แต่ส่วนมากขาดการมีส่วนร่วมที่แท้จริงจากคนในพื้นที่

ผลงาน: Yomjinda Calendar บอร์ดปฏิทิน 12 เดือน เปิดโอกาสให้คนในชุมชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นว่าอยากจะจัดกิจกรรมอะไรในแต่ละเดือน เพื่อนำไปสู่การพัฒนากิจกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคนยมจินดาเพื่อคนยมจินดาอย่างแท้จริง

จัดแสดงที่ ลานวัฒนธรรมซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์เมืองระยอง และเป็นพื้นที่ที่ใช้จัดกิจกรรมหลักของย่าน

'How to เล่าเรื่องย่าน'

โจทย์: เรื่องราวของย่านยมจินดาถูกเล่าซ้ำไปมาด้วยข้อมูลเดิมๆ แต่ในความเป็นจริงยังมีประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าจากผู้คนที่น่าสนใจมากมาย ที่ยังไม่เป็นที่รับรู้ ไม่เคยถูกบันทึก หรือถูกมองข้ามไป แม้กระทั่งคนในชุมชนเอง รวมถึงคนดั้งเดิมในย่านเริ่มมีจำนวนลดน้อยลง ทำให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของย่านเริ่มสูญหาย

ผลงาน: 
Portrait of YOMJINDA: If Yomjinda Could Say ยมจินดาอยากบอกอะไร?  
นิทรรศการภาพถ่าย ฝีมือชาวยมจินดา ผ่านกระบวนการเวิร์กช็อปถ่ายภาพ เพื่อเรียนรู้วิธีการ Storytelling ด้วยการค้นหาและตีความ "ยมจินดา" ในแบบของตัวเอง จนได้ออกมาเป็นผลงานศิลปะภาพถ่ายที่สะท้อนมุมมองของคนในย่าน 3 ช่วงวัย ที่มีต่อพื้นที่นี้ ได้แก่ ผู้อาวุโส ตัวละครสำคัญและคลังแห่งความทรงจำของย่าน คนทั่วไป ผู้เต็มไปด้วยหลากหลายมุมมองและความรู้สึกที่มีต่อย่าน และเด็ก ผู้ซึ่งเป็นอนาคตและความหวังของย่าน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้หันกลับมามองจุดเด่นของพื้นที่ และร่วมเติมเต็มเรื่องราว แสดงความเห็นเกี่ยวกับย่านทั้งในอดีต ปัจจุบันและสิ่งที่อยากเห็นในอนาคต

นิทรรศการภาพถ่าย พร้อมเสียงของผู้อาวุโสในย่าน ที่อยากบอกเล่าความทรงจำ ความสุขในอดีตในย่านยมจินดาแห่งนี้ จัดแสดงพร้อมภาพเก่าในย่าน (ที่ยังหลงเหลืออยู่)
สถานที่จัดแสดง: ตึกเถ้าแก่เทียนหรือวิกเถ้าแก่เทียน (สร้างในปี 2460) อาคารสำคัญภายในย่าน เคยใช้เป็นธนาคารนครหลวง และวิกภาพยนตร์
นิทรรศการภาพถ่ายโดยคนทั่วไป ทั้งภาพบ้านเรือน ข้าวของ ผู้คน ร้านค้า ถนนหนทาง สะท้อนหลากหลายความรู้สึกที่มีต่อยมจินดา
นิทรรศการภาพถ่ายโดยเด็กๆ ในย่าน ผ่านการเวิร์กช็อปถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ซึ่งถือเป็นฟิล์มม้วนแรกของเด็กๆ ถ่ายทอดความหวังของย่าน
สถานที่จัดแสดงงาน: ร้านกาแฟหลานเอก (ตึกกี่พ้ง อาคารพาณิชย์หลังแรกบนถนนยมจินดาและจังหวัดระยอง สร้างเมื่อ 2456)

'How to เชื่อมคน เชื่อมย่าน เชื่อมการท่องเที่ยว'

ตัวอย่างการเชื่อมโยงผู้คนหลายวัยผ่านกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจในพื้นที่ และส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวในย่านแบบองค์รวม

โจทย์: ย่านยมจินดาในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยหลากหลายธุรกิจโดยคนหลากหลาย generation ที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน ทำให้เมื่อจัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง ต่างคนต่างทำ ไม่เชื่อมโยงกันและไม่สม่ำเสมอ ทำให้ขาดน้ำหนักในการประชาสัมพันธ์ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวซ้ำ และใช้เวลาอยู่ในย่านให้นานขึ้น

ผลงาน: กิจกรรมส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวในย่าน ที่เชื่อมโยงจุดท่องเที่ยวและธุรกิจในย่านเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว และสามารถช่วยยืดระยะเวลาท่องเที่ยวภายในย่านได้ ประกอบด้วย Siamsi Exhibition กิจกรรมเสี่ยงทายเซียมซีแบบฉบับยมจินดา ณ ศาลารวมใจ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ให้ทำหน้าที่เสมือน tourist center นำทางไปสู่จุดท่องเที่ยวและกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ห้องเรียนทำมือ Craft Workshop และ ตลาดศิลปะ Art Market โดยกลุ่ม Yomjinday กลุ่มคนรุ่นใหม่ในย่าน กิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับคนทุกวัยในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นกิจการสร้างสรรค์ในย่าน เช่น Converstation บ้านลุงตุ๋ย ระยองแกลเลอรี่ รวมถึง ตลาดนัดของอร่อย ที่ตะหลาดโรงสี และโปรโมชั่นร่วมกับร้านค้าต่างๆ ผ่านเหรียญดิจิตอล KGO โดยระยองพัฒนาเมือง

Siamsi Exhibition กิจกรรมเสี่ยงทายเซียมซีแบบฉบับยมจินดา ณ ศาลารวมใจ ศาลเจ้าแม่ทับทิม นำทางสู่จุดท่องเที่ยวอื่นๆ
Siamsi Exhibition กิจกรรมเสี่ยงทายเซียมซีแบบฉบับยมจินดา ณ ศาลารวมใจ ศาลเจ้าแม่ทับทิม นำทางสู่จุดท่องเที่ยวอื่นๆ
Siamsi Exhibition กิจกรรมเสี่ยงทายเซียมซีแบบฉบับยมจินดา ณ ศาลารวมใจ ศาลเจ้าแม่ทับทิม นำทางสู่จุดท่องเที่ยวอื่นๆ
ห้องเรียนทำมือ Craft Workshop
ห้องเรียนทำมือ Craft Workshop ณ Converstation
ตลาดศิลปะ Art Market ณ ระยองแกลลอรี่
ห้องเรียนทำมือ Craft Workshop ณ บ้านครูตุ๋ย
ห้องเรียนทำมือ Craft Workshop
ตลาดอาหารท้องถิ่น ณ ตะหลาดโรงสี
โปรโมชั่นร้านค้า ผ่านเหรียญดิจิตอล KGO

Co-Create Yomjinda โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกับ เทศบาลนครระยอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยมจินเดย์ (Yomjinday) โรงเรียนสังเคราะห์แสง (School of Photographic Arts) บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัสดุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ระยองพัฒนาเมือง ศูนย์ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเมืองระยอง (RCDC) ศาลเจ้าแม่ทับทิมจังหวัดระยอง ชุมชนยมจินดา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่