Chiang Rai/Nai Wieng/District Projects
TH | EN

Co-Create Chiang Rai

ทดลองพัฒนาย่านสู่ 'เมืองที่ดี' ผ่านพื้นที่สาธารณะสร้างสรรค์ และการเดินทางสัญจร

Co-Create Chiang Rai
Published Date:

Co-Create Chiang Rai 2022

Co-Create Chiang Rai 2022 จัดขึ้นเป็นปีแรก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Co-create Chiang Rai ให้เมืองเป็นมิตรสำหรับทุกคน” เพื่อทดสอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ย่านในเวียง (ถนนธนาลัยและพื้นที่โดยรอบ) โดยมุ่งเน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะและการออกแบบในการแก้ปัญหาและสร้าง ‘เมืองที่ดี’ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ความสวยงาม แต่ต้องทำให้ผู้คนในย่านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในหลากหลายมิติ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อปูทางยกระดับเชียงรายสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบขององค์การยูเนสโกต่อไป

โดยจากการสำรวจคิดเห็นพบว่า สิ่งที่จะสามารถตอบโจทย์เบื้องต้นของผู้คนในย่านได้เป็นอันดับแรก คือ 'พื้นที่' ทั้งพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่สร้างสรรค์ รวมถึง 'การเดินทางสัญจร' ซึ่งหมายถึงการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ย่าน และการสัญจรภายในย่านอย่างมีคุณภาพ จึงได้ทดลองพัฒนาต้นแบบจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน และจัดกิจกรรมทดสอบแนวคิดเพื่อรับฟังความคิดเห็นสู่การต่อยอดในอนาคต เมื่อวันที่ 11-17 สิงหาคม 2565 ณ ย่านในเวียง จังหวัดเชียงราย


1. Creative Hub สำหรับนักสร้างสรรค์ และธุรกิจสร้างสรรค์

การทดลองปรับการใช้งานของพื้นที่ว่างของ 'เชียงรายไนท์บาซาร์' ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กของจังหวัด ให้กลายเป็น ‘Chiang Rai Night Bazaar Creative Space’  พื้นที่ทำงานหรือจัดกิจกรรมของกลุ่มนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และศิลปิน กลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงรายให้มาทำงานร่วมกัน โดยมีทั้งนิทรรศย่านสร้างสรรค์เมืองเชียงราย นิทรรศการสร้างสรรค์โดยกลุ่มคนสร้างสรรค์ Chiang Rai Creative Commons (CCC) หลากหลายเวิร์กช็อปแบบฉบับเมืองเชียงราย ดนตรีและการแสดงจากศิลปินเชียงรายและกลุ่มชาติพันธ์ุพื้นเมือง และตลาดนัดสร้างสรรค์ของนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นกว่า 25 ร้านค้า ทั้งนี้ยังได้เชื่อมต่อพื้นที่ไปยังย่านเมืองเก่าผ่านการขนส่งรถรางรอบเมือง โดยเพิ่มจุดจอดรถและรอบการให้บริการเป็น 8 รอบต่อวัน

นิทรรศการย่านสร้างสรรค์เมืองเชียงราย แสดงโมเดลจำลองย่านสร้างสรรค์ต้นแบบ ในเวียง จัดแสดงในรูปแบบแผนที่อาคารขนาด 1:1000 ในรัศมี 800 เมตร โดยมีจุดศูนย์กลาง คือ หอนาฬิกาเชียงรายเฉลิมพระเกียรติ พร้อมแสดงตำแหน่งของผลงานทดลองต่างๆ ในโครงการ Co-Create Chiang Rai เช่น เส้นทางเดินรถราง สถานีจอดรถรางที่เพิ่มขึ้น และตำแหน่งการปรับปรุงและเพิ่มทางม้าลาย ทั้งยังให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ปักหมุดนำเสนอพื้นที่ที่ควรพัฒนา เช่น อาคาร/พื้นที่ว่าง พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่สีเขียว สถานี เป็นต้น โดยหลังจากจบงานโมเดลทดลองนี้ได้ถูกนำไปจัดแสดง ณ สถานีขนส่งเชียงราย
นิทรรศการเชียงรายสร้างสรรค์ผ่านเลนส์ (See Chiangrai Through The Lens) โดย Chiang Rai Creative Photo (CCP)
นิทรรศการ Journey of Chair งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้จาก Hohm Studio
นิทรรศการโดยกลุ่ม Chiang Rai Creative Commons (CCC)
การแสดง โดย My Dance Academy
การแสดงดนตรี (photo credit: Chiangrai Creative Commons)
ตลาดสินค้าสร้างสรรค์
ตลาดสินค้าสร้างสรรค์
ตลาดสินค้าสร้างสรรค์ (photo credit: Chiangrai Creative Commons)
กิจกรรมนิทานป้าติง เล่านิทานและวาดภาพประกอบ (photo credit: Chiangrai Crafts Market)
workshop Chiang Rai Tea Testing 101 โดย One Tea at a Time (photo credit: One Tea at a Time)
workshop กับออมละไมไอศครีม (photo credit: Chiangrai Creative Commons)

2. การพัฒนาพื้นที่รอบระบบขนส่งมวลชน

การพัฒนาระบบขนส่งขนาดย่อยที่อยู่ใจกลางเมืองทำหน้าที่เชื่อมต่อการเดินทางภายในเมือง สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตลอดจนทัศนียภาพที่เอื้อต่อการเดินทาง  ได้แก่ พื้นที่สีเขียว (Pocket Park) และปรับปรุงระบบเชื่อมต่อการขนส่งขนาดเล็ก (Feeder) เพิ่มจุดรับส่ง และจำนวนรอบของรถราง เอื้อให้คนในเมืองเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะของเมืองได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

รถรางไฟฟ้าเทศบาล (feeder)
แผนที่แสดงจุดจอดรถราง และเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมกับระบบขนส่งทั้ง 10 สถานี

3. การพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อ

การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเชื่อมต่อหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเดินเท้า และขนส่งขนาดเล็กของเมือง

เส้นทางเดินเท้า 10 นาที ในเมือง และแผนที่ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
แผนที่แนะนำสถานที่สำคัญ เชื่อมต่อเส้นทางหลายรูปแบบ เพื่อให้คนสามารถเดินทางด้วยเท้าสามารถไปถึงได้ ภายใน 10 นาที สามารถไปได้ทั้งวัด ร้านอาหาร และคาเฟ่ เป็นต้น

ป้ายบอกทาง / ป้ายจุดรับส่งขนส่งขนาดเล็ก
ทดลองเพื่อแก้ปัญหาป้ายบอกทางในเมือง ที่ควบรวมข้อมูลสำคัญ ทั้งบอกทิศทาง ให้ข้อมูลสถานที่สำคัญ บอกเส้นทางการเชื่อมต่อ เพื่อลดจำนวนป้าย และปรับแก้การจัดวางที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดิน

ป้ายบอกทาง

4. การพัฒนาความปลอดภัยในการเดิน

การสร้างความปลอดภัยสำหรับการเดินเท้า โดยการเพิ่มจุดของทางม้าลายที่มีการสัญจรของผู้คน เชื่อมทางม้าลายให้มีระยะยาวไกลขึ้น ขยายขนาดทางม้าลาย ตลอดจนทดลองนำอัตลักษณ์ของพื้นที่มาสร้างเป็นลวดลายให้กับทางม้าลาย

งานทดลองทางม้าลาย: บริเวณหน้าสวนตุงและโคม | อาคารขนส่งเชียงราย | สี่แยกบรรพปราการตัดพหลโยธิน |หน้าโรงแรมแสนโฮเทล

Co-Create Chiang Rai 2022 โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกับสำนักงานจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนักสร้างสรรค์ท้องถิ่น