Chiang Mai/Chang Moi/District Projects
TH | EN

Chang Moi Is Am Are: ช้างม่อย เป็น อยู่ คือ

ทำความรู้จัก ‘ชุมชนช้างม่อย’ ผ่านผู้คน

Chang Moi Is Am Are: ช้างม่อย เป็น อยู่ คือ
Published Date:

นิทรรศการภาพถ่าย 'ช้างม่อย เป็น…อยู่…คือ…'

นิทรรศภาพถ่ายและเรื่องเล่าของผู้คนในชุมชนช้างม่อย ซึ่งเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนย่าน ประกอบรวมกันจากผู้คนหลากหลายวัย หลากหลายอาชีพ หลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ผ่านการสืบทอดและผสมผสานความแตกต่างจนกลายเป็น ‘ตัวตน’ ของย่านช้างม่อยในทุกวันนี้ นำเสนอในรูปแบบนิทรรศการกลางแจ้งแบบ Street Exhibition จัดแสดงตามแนวถนนใจกลางพื้นที่ชุมชนย่านช้างม่อย เปิดโอกาสให้ทั้งคนที่อยู่ในย่าน และผู้ที่เข้ามาเยือนได้ร่วมทำความรู้จัก และทำความเข้าใจย่านช้างม่อยในมุมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านมุมมอง ความรู้สึกนึกคิดของผู้คน เมื่อมีโอกาสได้เจอคนที่อยู่ในภาพตัวจริงโดยบังเอิญ อาจจะรู้สึกเหมือนรู้จักและคุ้นเคยกันมานานก็เป็นได้

นิทรรศการนี้จึงมีประโยชน์ในแง่การส่งเสริมความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่าง คนใน-คนใน คนใน-คนนอก ไปจนถึงระหว่าง คน-พื้นที่ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาย่านช้างม่อยต่อไปในอนาคต

นิทรรศการนำเสนอภาพถ่ายผู้คน กว่า 30 ภาพ ผ่าน 7 หัวข้อหลัก ดังนี้

  1. คนเก่าแก่ ผู้ดูแลและสืบทอดความเป็นชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น  
  2. ความหลากหลายของผู้คน ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม ชาวพุทธ ชาวจีน อินเดีย ไทใหญ่ และมุสลิม
  3. ร้านค้าและธุรกิจในชุมชน ที่สะท้อนความรุ่งเรืองที่ผ่านมาในอดีตของช้างม่อย ข้ามผ่านกาลเวลาจนถึงปัจจุบันที่มีคนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาต่อยอดพื้นที่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง 
  4. ผู้ประกอบการและศิลปินรุ่นใหม่ ที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้ชุมชนช้างม่อย
  5. ภูมิปัญญา ทักษะฝีมือ  ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง
  6. ผู้ปิดทองหลังพระ ผู้ที่อยู่หลังบ้านเป็นแรงเสริมหรือช่วยดูแลชุมชน
  7. ผู้ดูแลสถานที่สำคัญของชุมชน  อาคาร สถานที่ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางชุมชน ไปจนถึงสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่

[ ร้านศุขโข ] คุณตุ๊ - ศิริพงษ์ ชีวะพาณิชย์ 

ในอดีตของชุมชนช้างม่อยย่านวัดชมพูหลอมรวมกันด้วยกลุ่มอาชีพช่างตีเหล็กและทำเส้นขนมจีน ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมถูกยึดเหนี่ยวโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางเมื่อเวลาผ่านไปวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเริ่มเลือนหายไปคงเหลือไว้แต่ภาพจำ ”ศุขโข” เองคงหนีไม่พ้นหลักอนิจจังนี้ บนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของคนในชุมชนซึ่งการทำมาหากินของผู้คนไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับชุมชนอีกต่อไป ผู้คนจากที่ต่าง ๆ มาอยู่ในเชียงใหม่มากขึ้น ทว่าสี่งที่เป็นความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่คือสำนึกต่ออนาคตร่วมกันของคนเชียงใหม่ ผมเชื่อว่าแม้หลายคนแม้ไม่ได้เกิดที่เชียงใหม่แต่มีความรักจึงเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ด้วยงมโนทัศน์ “คนเมือง” ในแบบที่คนท้องถิ่นที่แสดงออก บนสำนึกหวงแหนและรักความเป็นเชียงใหม่ในแบบที่มันเคยเป็น


[ บุญทอง ] ศิลปินช่างซอเลื่องชื่อผู้เกิดและอาศัยอยู่ในชุมชนนี้มายาวนาน
 
ลุงทองบอกเล่าถึงช้างม่อยในอดีตที่มีวิถีชุมชนเมืองที่เงียบสงบและงดงาม ทว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนเกิดแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืน (บ้านสาว ผับ บาร์) เริ่มเปิดกิจการในพื้นที่มากขึ้นความคึกคักยามค่ำคืนหลายครั้งก็สร้างความลำบากให้กับผู้คนในย่านที่อยู่อาศัย ถึงแม้ตอนนี้กิจการเหล่านั้นจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ทว่าผู้คนในชุมชนก็ยังหวาดหวั่นและต้องการปกป้องไม่ให้เกิดสิ่งเหล่านี้บนพื้นที่ในชุมชนอันเงียบสงบ ลุงทองอยากให้ช้างม่อยอยู่กันอย่างร่วมสมัย เป็นมิตรและสร้างสรรค์


[ Jimmy & Jeng HomeStay ] ผมชื่อจิมมี่ เป็นคนไทยครับ

ปัจจุบันทำธุรกิจของครอบครัวอยู่ในชุมชนช้างม่อย กว่า 7 ปี ที่กิจการจิมมี่แอนด์เจ๋ง โฮมสเตย์ ของเราอยู่ร่วมกับชุมชนช้างม่อยมา เสน่ห์ของชุมชชนแห่งนี้คือพื้นที่เมืองเก่าของล้านนา เป็นกำแพงเมืองชั้นนอกของเมืองเชียงใหม่ ผมกับครอบครัวคิดถูกแล้วตัดสินใจย้ายเข้ามาอยู่ เพราะชาวบ้านในชุมชนยังยึดถือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีแต่ดั่งเดิมไว้ อีกทั้งยังมีจิตใจดีเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันนักท่องเที่ยวที่มาพักเมื่อได้เห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชนก็พูดแบบเดียวกัน เรายินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนครับ


[ Pa-O ] พวกเราคือคนไทยเชื้อสายปะโอหรือที่คนเมืองมักเรียกกันว่า "ไทใหญ่" 

ต้นตระกูลของเราย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่เชียงใหม่ลงหลักปักฐานในย่านช้างม่อย อีกทั้งยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการก่อสร้างวัดหนองคำร่วมกับพี่น้องชาวเชียงใหม่ ลูกหลานชาวปะโอดั้งเดิมในช้างม่อยทุกวันนี้ได้ผสมกลมกลืนไปกับคนเมืองเชียงใหม่จนแยกไม่ออก ภาษาคำพูดเขียนอ่านจะมีใช้กันเฉาพะในหมู่ผู้เฒ่าคนแก่เท่านั้น


[ MITTE MITTE ] วีราภา - วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ (วิน - เวฟ)

จากบ้านที่เคยอาศัยอยู่ในสมัยเด็ก กลายเป็นร้าน Brunch Cafe ที่ทำให้มีผู้มาแวะเวียนมากขึ้นในบรรยากาศที่คุ้นเคย


[ ปรีดาอาหลั่ยยนต์ ] - เฮียธีระพงศ์ และ พี่น้อย

ร้านปรีดาอาหลั่ยเป็นที่รู้จักดี ทั้งเหล่าช่างซ่อมและคนรักมอเตอร์ไซต์ทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ร้านปรีดาอาหลั่ยมีจุดกำเนิดและเติบโตบนถนนช้างม่อยมากว่า 50 ปี ทางร้านจึงมีความผูกพันเป็นถนนเส้นนี้มาก นอกจากจะทำการค้าบนถนนเส้นนี้แล้วยังเป็นที่พักอาศัย เป็นบ้านของพวกเรากว่า 50 ปีที่เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมากมาย สิ่งหนึ่งที่แทบจะไม่เปลี่ยนไปของถนนเส้นนี้คือความสุขสงบและการอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย อยากให้นักท่องเที่ยวมาสัมผัสความน่ารักของช้างม่อยกันมาก ๆ นะคะ


[ ซิ้นเซียงหลี ] - อาเกี๊ย  

เราทำธุรกิจผู้ค้าวัสดุก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ยุคคุณปู่ ทว่าเราก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัยให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยส่งต่อธุรกิจนี้สู่มือลูกหลานให้พวกเขาดูแล "ซิ้นเซียงหลี" ทุกวันนี้... จึงกลายเป็นพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่เข้ามาเปิดกิจการที่ตอบสนองความต้องการและธรรมชาติของคนรุ่นพวกเขา นอกจากนั้นเป้าหมายของเราคือคงรักษารูปลักษณ์ดั้งเดิมของตัวโกดังแห่งนี้ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นเพราะตัวอาคารในยุคนั้นมันมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ซิ้นเซียงหลีในวันนี้จึงกลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีความร่วมสมัยและมีชีวิตชีวา


[ ซิ้น ] ณัฐพงศ์ - ชาลี

Sinc เป็นร้านกาแฟและเครื่องดื่มบรยากาศดีกับแนวคิดที่เรียบง่ายของพี่ชาลีที่ฝากบอกว่า - ชีวิตไม่ "ซิ้น" ก็ดิ้นกันไป!


[ ครัวบุญ​รอด​ ] กานต์​สินี​ - ส้ม

เราหลงเสน่ห์​ความคลาสสิก​ของที่นี่จนทำให้เราอยากรักษา​ความดั้งเดิมเอาไว้ จึงผสมกับความเป็นเราเกิดเป็นร้านอาหารที่มีความร่วมสมัยอย่างพอเหมาะพอดี


[ บริษัท เคมีกิจเกษตร จำกัด ] - จักร์ เชิดสถิรกุล

ครอบครัวของผมพักและดำเนินกิจการในพื้นที่ชุมชนช้างม่อยมามากกว่าครึ่งศตวรรษ สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่และชุมชนมาโดยตลอด พวกเราหวังว่าการเปลี่ยนผ่านนี้จะสร้างยั่งยืนให้กับชุมชนช้างม่อยต่อไป


[ เกษมสโตร์ ] ยายกี ป้าบุ้ง พี่แอร์ พี่ x และ พี่เอ๋อ

พวกเราคือร้านขายของชำทำขนม พวกเราคงอยู่คู่กับชุมชนช้างม่อย ที่คอยส่งมอบความสุขและความอร่อยให้แก่ชุมชนกว่า 50 ปี ตราบถึงวันนี้และต่อไป....


[ ชาวใต้ถุนบ้าน ]

ร้านใต้ถุนบ้าน ร้านอาหารเช้าขนาดเล็กที่เรียบง่ายซึ่งให้ความสำคัญแก่ลูกค้า ที่จะได้เข้ามาเก็บการเกี่ยวช่วงเวลายาวเช้าร่วมกัน การปล่อยให้ประสบการณ์และความทรงจำของแต่ละบุคคลทำหน้าที่ในการสร้างความสุขและบทสนทนาคือสิ่งที่สำคัญมากกว่าของตกแต่งชิ้นไหน ๆ ในร้านของพวกเรา


[ Sarita's Kitchen ] สลิตาหญิงเชื้อชาติอินเดียเจ้าของร้านสาลิตาคิทเช่น

อาหารของร้านโดดเด่นด้วยกลิ่นหอมของเครื่องเทศหลากชนิดด้วยรสชาติตามแบบฉบับอาหารอินเดียแท้ ๆ ทว่าไม่ฉุนและไม่เลี่ยน ใครยังไม่เคยลองอาหารอินเดียต้องแวะมาชิมกันได้ที่ร้านสาลิตาคิดเช่น ตั้งอยู่ในซอยโรงแรมนิวเอเชีย


[ บ้านพรรณดาว ] ลุงดาว ป้าพรรณ์ พี่ไกร พี่หนิง และ น้องทัพพ์

อีกทั้งยังมี พี่ลีโอ เจ้าหมาบีเกิลผู้ชอบซ้อนท้ายจักรยานออกไปท่องเที่ยวในชุมชน นี่คือบ้านของพวกเราบ้านจ๊อกหย่อนใจ๋ ที่มีมุมสงบอยู่หน้าบานสำหรับฟังแผ่นเสียงดนตรีคลาสสิคและมุมถ่ายรูปสวย ๆ ที่พร้อมต้อนรับใครก็ตามที่เดินผ่านมาสามารถนั่งพักหรือแวะทักทายได้ครับ


[ LOOPER&CO. ] จันทร์ มาย โต้ และ โชกุน

เปิดบริการเครื่องดื่มดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟในตอนกลางวันหรือค็อกเทลในตอนกลางคืน LOOPER&CO. คือกลุ่มเพื่อนสี่คนที่ร่วมกันทำร้านกาแฟและบาร์ค็อกเทลที่มีบรรยากาศแบบบาร์กาแฟและฟีลสลัวๆ แบบบาร์ค็อกเทล ที่จะสร้างความรู้สึกชิลเมื่อได้เข้ามานั่งในร้านของพวกเรา อีกทั้งเราอยู่ในตึกซึ่งเป็นโกดังเก่าที่ยังคงสภาพความดิบและดั้งเดิมเอาไว้ แต่เราได้เพิ่มความอบอุ่นด้วยเฟอนิเจอร์โซฟาไม้โค้งสีน้ำตาลกับแสงไฟสี WARM LIGHT ที่จะทำให้บรรยากาศภายในร้านรู้สึก COZY และเป็น SIGNATURE ของร้านเรา


[ วัดหนองคำ ] พระครูอานนท์

ชุมชนช้างม่อยเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมมาตั้งแต่ดั่งเดิมย้อนไปตั้งแต่สมัยก่อนพื้นที่เขตกำแพงดินและคูเมืองฝั่งนี้ที่อยู่มาดั่งเดิมประกอบด้วยหลายกลุ่มชาติพันธ์ โดยเฉพาะชาวตองสู (ปะโอ) ซึ่งคนเมืองรู้จักกันในนาม "ไทใหญ่" ซึ่งอยู่ร่วมกับคนเมืองมาช้านานทำให้วัดหนองคำเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจของทั้งคนเมืองและชาวไทใหญ่ วัดหนองคำก็อยากจะรักษาไว้ซึ่งศิลปกรรมและสถาปัยกรรมที่ผสมผสานความเป็นไทใหญ่และลานนาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เห็นตราบนานเท่านาน


[ ตนานุวัฒน์ ] ธนกร  

เกิดและเติบโตอยู่ในชุมชนช้างม่อยมาตั้งแต่จำความได้ เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ถนนเส้นนี้เป็นย่านการค้าสำคัญเพราะเป็นถนนเส้นหลักที่เข้าสู่กาดหลวงและกาดต้นลำใย สำหรับผมช้างม่อยเป็นหมือนสะพานเชื่อมต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ กิจการเก่าแก่เริ่มทะยอยหายไปกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สร้างกิจการของตนเองกำลังเติบโตซึ่งจะกลายเป็นธรรมชาติใหม่ของชุมชน ผมอยากเห็นความคึกคักและมีชีวิตชีวากลับสู่ชุมชนช้างม่อยอีกครั้ง ทว่าการเติบโตก็อยากให้เป็นไปอย่างยั่งยืนและร่วมสมัยด้วยกิจการใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวและผู้คนในพื้นที่เอง


[ ประธานชุมชน ] ป้าดา หญิงสาวร่างเล็กเจ้าของร้านข้าวราดแกงข้างเจดีย์เก่าหลังวัดชมพู

ประธานชุมชนของย่านช้างม่อย นอกจากนั้นยังรับหน้าที่ "ผู้ปกป้อง" ที่คอยดูแลรักษาเจดีย์เก่าแห่งนี้ไว้ให้ไม่ถูกทำลาย แต่เดิมด้านหลังเจดีย์เก่านี้เติมไปด้วยคนมาแอบเสพย์ หลังๆ มาก็มีกลุ่มคนเร่ร่อนมาแอบอาศัยยาหลับนอน ป้าดาเลยพยายามแจ้งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ จนทุกวันนี้เจดีย์แห่งนี้ถูกรักษาเอาไว้ไม่ให้เสื่อมโทรมมีรั้วล้อมด้านหลังไว้และไฟส่องสว่าง ไม่ให้เปลี่ยวไม่มืดไม่น่ากลัวแก่ผู้คนในชุมชนอีกต่อไป


[วัดชมพู] พระครูพิพัฒน์สมาจาร ตุ๊ลุง (หลวงปู่/หลวงพ่อ)

วัดชมพูที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านย่านชุมชนช้างม่อยทุกหมู่เหล่า ตลอดทั้งชีวิตเห็นเรื่องราวมากมายแต่ความดีงามของชุมชนนี้คือทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตุ๊ลุงเองในฐานะสมาชิกของชุมชนก็มีหน้าที่สำคัญคือคอยปัดกวาดเช็ดถูดูแลทำความสะอาดวัดแห่งนี้ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย คนที่อยู่ในชุมชนช้างม่อยก็เช่นกันทุกคนต่างมีหน้าที่ช่วยดูแลรักษาทำให้บ้านเราชุมชนของเราให้ปลอดภัยและน่าอยู่


[ ขนมยายนวล ] ยายนวลขายขนมไทยและของขึ้นชื่อในย่านช้างม่อย

ยายนวลทำขายหลายอย่างเลยนะทั้งขนมวง ขนมไข่เหี้ย (ไข่หงส์) ขนมตุ๊บตับ ขนมตามเทศกาลและฤดูกาลต่าง ๆ อีกหลายอย่าง ทำขายมาตั้งแต่รุ่นแม่ทุกวันนี้ช่วยกันทำและหาบขายกับพี่สาวกันสองคน ใครแวะเวียนมาทางนี้ก็มาชิมขนมยายนวลได้เน่อเจ้า...!


[ เตาทิพย์ ] พี่ตรง ร้านขนมครกหลากไส้แสนอร่อยที่เปิดขายบนถนนช้างม่อย

"พี่ตรง" ผู้ห่วงใยชุมชนช้างม่อย โดยเฉพาะประเด็นความเปลี่ยนแปลงที่เร่ิมปรากฏกิจการกลางคืนมากขึ้นบนพื้นที่โดยรอบ "การถูกปลุกให้ตืนกลางดึก จากเสียงโวยวายของนักท่องราตรี...... ไม่เป็นผลดีต่อคนในชุมชน ที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อทำมาหากิน" เราสามารถสร้างชุมชนที่สงบและเป็นมิตรกับผู้อยู่อาศัยได้บนพื้นฐานความเข้าใจซึ่งกันและกัน


[ สกาล่า ] - กิติ และครอบครัว

ถนนช้างม่อยเป็นถนนคู่ขนานกับถนนเส้นหลักอย่างถนนท่าแพ เมื่อก่อนเราเคยน้อยใจนะว่าทำไมเราไม่เป็นที่รู้จักแบบท่าแพบ้าง แต่ปัจจุบันไม่คิดแบบนั้นแล้ว เพราะย่านช้างม่อยก็มีเอกลักษณ์ในแบบของเราเอง ชุมนของเราเต็มไปด้วยกิจการหลากหลายรูปแบบผสมผสานทั้งใหม่และเก่าไว้ด้วยกัน ร้านสกาล่าเองแต่เดิมเคยเป็นร้านตัดผ้าและโรงรับจำนำมาก่อน ที่มาของชื่อ "สกาล่า" ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เตี่ย (คุณพ่อ) มีความประทับใจใน "โรงหนังสกาล่า" ที่กรุงเทพฯ เลยกลับเอามาตั้งชื่อร้านของตัวเอง ก่อนจะปรับกิจการมาทำร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าตราบจนถึงทุกวันนี้


[ เกษมบัณฑิตย์ภัณฑ์ ] - พี่ตี๋ ร้านเครื่องเขียนเก่าแก่

เราเป็นร้านเก่าแก่บนแยกวัดใจ บางคนก็เรียกแยกพม่า เพราะขับมาอยู่ดีๆ ถนนก็กลับด้านซ้ายขวา ใครไม่เคยมาก็จะงง ๆ ถนนตรงนี้กัน ร้านเกษมบัณฑิตย์ภัณฑ์เกิดขึ้นจากคุณพ่อที่เคยทำงานในร้านเครื่องเขียนแห่งแรกๆ ของเชียงใหม่ (ลีง่วงฮง) คิดขยับขยายมาเปิดร้านของตนเองเมื่อปี พ.ศ. 2512 ทุกวันนี้แน่นอนมันเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน เด็กมักเข้าห้างซึ่งมีทุกอย่างแม้แต่ร้านสะดวกซื้อก็มีเครื่องเขียนขาย... แต่เรายังพออยู่ได้เพราะปรับตัวมาขายส่ง วิถีชีวิตและความเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนไปคือความรู้สึกที่มีต่อช้างม่อยมันยังคงเป็นบ้านตลอดไป


[ Brewgining ] - พีรณัฐ เจ้าของคาเฟ่สุดฮิป

อยากเชิญชวนให้มาเที่ยวช้างม่อยกันเยอะ ๆ ครับ ถึงแม้พวกเราจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ย้ายเข้ามาเพื่อประกอบกิจการ แต่เราตั้งใจเลือกมาลงหลักปักฐานอยู่ที่ช้างม่อยอย่างมีเป้าหมาย เพราะความสวยงามของย่านที่เก่าแก่นี้มันมีเสน่ห์ดึงดูดใจ เราอยากเห็นชุมชนร่วมสมัยที่สิ่งเก่าและสิ่งใหม่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน


[ บรรจงเกษา ] ร้านตัดผมชายเก่าแก่เปิดให้บริการมานานกว่า 60 ปี

ลูกค้าเก่าแก่ที่เคยมาตัดผมตอนเด็ก ๆ จนตอนนี้มาส่งลูกส่งหลานมาตัดผมกันแล้ว พี่นิศานาถ เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 ผู้อารมณ์ดีอยากเชิญชวนมาใช้บริการ ที่ร้านบรรจงเกษามีครบทั้งตัด สระ เซ็ท ซอย โกนหนวด โกนหัว ย้อมผม แคะหู... ถึงร้านจะเก่าแก่ แต่เก๋ามากนะเออ


[ เนรมิต ] คุณวิโรจน์ บริการชุดสูทและเสื้อผ้าชายสั่งตัด

สูทสั่งตัดคุณภาพสูงของร้านเนรมิตเป็นที่รู้จักกันดี เพราะตั้งใจมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ร้านเนรมิตอยู่คู่กับชุมชนช้างม่อยมายาวนานทว่ายังมุ่งสร้างและพัฒนาผลงานคุณภาพอยู่เสมอ เพราะสูทไม่ได้เป็นแค่แฟชั่นเพื่อแสดงออกถึงตัวตนของผู้สวมใส่ ทว่าสูทเป็นสัญลักษณแห่งความสำเร็จของผู้คนในทุกยุคทุกสมัย หากใครต้องการสูทที่ปราณีตสวมใส่ได้อย่างพอหมาะพอดีทั้งสรีระและรสนิยม ร้านเนรมิตยินดีให้คำปรึกษา


[ เชียงใหม่ ฮารท์ ] - ป้าจิ๋ม เจ้าของกิจการร้านขายของทำมือ

ป้าจิ๋มยังเป็นผู้ขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อยู่กันอย่างสร้างสรรค์และร่วมสมัย ชาวชุมชนช้างม่อยนั้นยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้ย้ายมาเข้ามาอยู่ใหม่แต่ความมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะช่วยกันคนละไม้คนละมือร่วมกันคิดร่วมกันทำเพื่อให้กิจการต่าง ๆ บนย่านช้างม่อยของเราเติบโตอย่างมีสำนึกสาธารณะ เราไม่อยากให้ช้างม่อยเป็นเหมือนย่านลอยเคราะห์หรือนิมมานฯ ที่มีอยู่เพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงอย่างเดียว เป็นผับเป็นบาร์เสียหมดจนคนในพื้นที่ต้องย้ายออก ซึ่งตอนนี้เราเห็นชัดแล้วว่าเมื่อนักท่องเที่ยวหายไปกิจการเหล่านั้นก็อยู่กันแทบไม่ได้


[ ก๋วยเตี๋ยวเกสม ] โดยลุงเกสมผู้อารมณ์ดีทำก๋วยเตี๋ยวเนื้อรสชาติล้ำเลิศ

สูตรของทางร้านที่ปรุงขึ้นมาเองไม่ได้ซื้อต่อมาจากใคร ร้านเกสมอยู่คู่ชุมชนช้างม่อยมาเนิ่นนาน เปิดขายมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ สมัยเชียงใหม่ทั้งจังหวัดมีอยู่ห้างเดียว (ตันตราภัณฑ์) ใครมาเที่ยวเชียงใหม่หรือเดินเล่นย่านช้างม่อยพลาดไม่ได้นะ ต้องลองแวะมาลองชิม!


[ ร้าน ส.สว่าง ตุงสามหาง] คุณลุงนิพันธ์ ช่างฝีมือรุ่นที่สองผู้สร้างตุงสามหาง

ตุงสามหางถูกใช้ในพิธีศพของชาวล้านนา ทว่าไม่ใช่เพียงงานฝีมือที่คุณลุงสืบสานเอาไว้ แต่คุณลุงและครอบครัวยังพยายามรักษาสภาพอาคารไม้ครึ่งปูนขนาดสามคูหาที่สร้างไว้ก่อนปี พ.ศ.2500 ให้ยังคงสภาพดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด