Bangkok/Charoenkrung/District Projects
TH | EN

Boat & Boat Station designed by YOU

เรือและท่าเรือที่ออกแบบโดยทุกคน

Boat & Boat Station designed by YOU
Published Date:

Boat & Boat Station designed by YOU

การเดินทางทางเรือ ถือเป็นตัวเลือกในการเดินทางที่ทั้งประหยัดและรวดเร็ว มีช่องทางการเดินทางเป็นของตัวเอง (Right of way) ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับระบบราง (BTS, MRT) และยังมีเส้นทางที่พาดผ่านย่านสำคัญๆ ของกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง แต่การเดินทางทางเรือในกรุงเทพฯ กลับไม่สะดวกและไม่สร้างความมั่นใจในการเดินทางได้เท่าที่ควร

กลุ่มนักออกแบบเมย์เดย์ (Mayday!) ผู้ผลักดันการออกแบบป้ายรถเมล์ใหม่ของกรุงเทพฯ ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน และถูกนำไปผลิตใช้จริงทั่วกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงริเริ่มโครงการ “เรือและท่าเรือที่ออกแบบโดยทุกคน” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวกับเรือและท่าเรือ หน่วยงานที่มีท่าเรือตั้งอยู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนผู้ที่ใช้เรือเป็นประจำและผู้ที่ไม่ใช้เรือ เข้ามามีส่วนร่วมระดมความคิด เพื่อออกแบบแก้ปัญหาให้ตรงจุด และยกระดับการเดินทางทางเรือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการเดินทางของทุกคนอย่างแท้จริง โดยเลือกย่านเจริญกรุง ที่กำลังถูกพัฒนาให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District) มาเป็นพื้นที่ศึกษาและทดลอง โดยเริ่มทดลองใช้งานจริงในระหว่างการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) วันที่ 1-9 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเก็บข้อมูลการทดลองใช้งาน ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงเพื่อนำไปใช้จริงต่อไป

เปลี่ยน “ผู้ใช้” เป็น “ผู้ร่วมสร้าง”

โครงการนี้เน้นที่กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งานเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้การพัฒนาตรงจุด และตอบโจทย์กว่าที่เคยเป็นมา โดยให้ความสำคัญกับสร้างความ “เข้าใจ” ตั้งแต่แต่เข้าใจสถานการณ์ เข้าใจผู้ใช้งาน (ความรู้สึก พฤติกรรม ความต้องการ ปัญหา) ผ่านเครื่องมือหลายแบบทั้งการสังเกตพฤติกรรม แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ ไปจนถึงการร่วมคิด ผ่านเวิร์กชอป “สถานี (เรือ) ดำเนินสะดวก” ที่เปิดกว้างให้ทุกคนได้เข้าร่วม เพื่อหาความเป็นไปได้ของการพัฒนา #ท่าเรือต้นแบบ จากหลากหลายมุมมอง

เปลี่ยน “ปัญหา” เป็น “โจทย์การออกแบบ”

จากรายงานการสำรวจความหนาแน่นผู้โดยสารเรือด่วนเลียบฝั่งแม่น้าเจ้าพระยา ในปี 2561 ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยาและเรือข้ามฟาก จะเห็นได้ว่า มีผู้ใช้งานท่าเรือสี่พระยา รวมเฉลี่ย 75,712 คนต่อวัน เพราะท่าเรือสี่พระยาถือเป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรที่สำคัญของเมือง และมีแนวโน้มจะมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้งาน (โดยกรมเจ้าท่าประจำปี 2562) และการศึกษาของทีมงาน พบว่า ในปัจจุบันมีประเด็นปัญหาในการใช้งานที่จำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะนำมาเป็นโจทย์การออกแบบหลัก ดังนี้

1. การเข้าถึงท่าเรือ
 

ท่าเรือหลายท่าสามารถเข้าถึงได้ลำบาก เพราะหายากและต้องผ่านตรอกซอกซอยเพื่อไปถึงท่าเรือ ทั้งป้ายบอกทางมีจำนวนไม่เพียงพอและไม่ชัดเจน รวมถึงมีสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย หากไม่ได้เป็นผู้ใช้งานประจำ จะเข้าถึงท่าเรือได้อย่างยากลำบาก

2. ความปลอดภัย

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ท่าเรือจนถึงการขึ้น-ลงเรือ ทั้งขนาดของท่าหรือโป๊ะที่มีขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มารอรับบริการจำนวนมากได้ การขึ้น-ลงเรือไม่มีระบบระเบียบ วิธีการที่ชัดเจน ทำให้เกิดการแย่งกัน อาจเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง

3. ข้อมูลและการสื่อสาร

“ไม่ใช้เพราะไม่รู้” คือเหตุผลหลักของผู้ที่ไม่ใช้งานระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะระบบการเดินทางทางเรือ ที่ท่าเดียวกัน สามารถไปได้ 2 ทาง จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจน ทั้งบริเวณท่าเรือ และภายในเรือระหว่างการเดินทาง เพื่อป้องกันผู้โดยสารขึ้น-ลงผิดท่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอ

“ลองทำ” เพื่อ “ขับเคลื่อน”

กระบวนการมีส่วนร่วมจะไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไอเดียไม่ถูกนำไปสานต่อ จึงจำเป็นต้องมีการ “ลองทำ” ต้นแบบจริง บนพื้นที่จริง ที่ท่าเรือข้ามฟากสี่พระยา-คลองสาน เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม (Sense of Belonging) ของผู้ใช้งานจริง และเพื่อสร้างตัวอย่างที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ขับเคลื่อนภาครัฐมองเห็นความเป็นไปได้ในการต่อยอด

จาก 3 ประเด็นปัญหาในการใช้งาน พบว่า “การออกแบบการสื่อสารที่ดี” สามารถช่วยบรรเทาปัญหาเบื้องต้นได้ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ตรงจุด และสามารถลงมือทำได้ทันที จึงนำมาสู่ 40 กว่าชิ้นงานออกแบบประสบการณ์การเดินทางเข้าออกท่าเรือใหม่ บนพื้นที่ริมถนนเจริญกรุง ซอยเจริญกรุง 30 ถนนสี่พระยา ท่าเรือข้ามฟากสี่พระยา ท่าเรือคลองสาน ตลาดคลองสาน และริมถนนเจริญนคร แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

1- ระหว่างทางไปถึงท่าเรือ เช่น ป้ายแผนที่ย่านและข้อมูลเรือ ป้ายนำทางหลายรูปแบบ ทั้งบนพื้น และป้ายห้อย แผนผังเส้นทางเรือและจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ป้ายชื่อท่าเรือหน้าซอย

2- บริเวณท่าเรือ เช่น  ป้ายบอกโป๊ะเรือ ป้ายให้ข้อมูล ณ จุดจำหน่ายตั๋ว (เส้นทาง ราคา) ป้าป้ายข้อมูลท่องเที่ยว  (สถานที่ใกล้เคียง) เส้นจัดระเบียบการเข้าแถวบนพื้น

งานออกแบบเริ่มทดลองใช้งานจริงที่ท่าเรือข้ามฟากสี่พระยา-คลองสาน ในระหว่างการจัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2563 (Bangkok Design Week 2020) และยังคงใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน


โครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มนักออกแบบเมย์เดย์ (Mayday!) บริษัท นาวาสมุทร จำกัด ผู้ให้บริการเรือข้ามฟากสี่พระยา-คลองสาน สำนักการจราจนและขนส่ง (สจส.) คลองสานพลาซ่า River City Bangkok และ Royal Orchid Sheraton