โอกาสในการทบทวนแนวทางส่งเสริมชุมชนในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
Rethink the guideline to promote community in Creative Economic district
ในบริบทชุมชนเมือง วิถีชีวิตความเป็นปัจเจกที่ต่างคนต่างอยู่ในภาวะปกติกลับเปลี่ยนไปเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ในขณะที่ทุกคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย เรากลับเห็นการรวมกลุ่มคนมากขึ้นในช่วงวิกฤตผ่านทางพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ ได้เห็นน้ำใจและความร่วมมือของผู้คนมากหน้าหลายตาในการลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนอื่นที่เดือดร้อน ในขณะที่ต้องปรับรูปแบบธุรกิจให้อยู่รอด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราล้วนเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยย่อยในสังคมเมือง
หากมองนิเวศน์สร้างสรรค์เป็นหน่วยย่อยหนึ่งของสังคมเมือง ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสในการทบทวนมาตรการและแนวทางส่งเสริมชุมชนในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยการตั้งคำถามถึงมุมมองต่อแนวทางส่งเสริมชุมชนและความเป็นย่านสร้างสรรค์และความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนแนวทาง
แนวทางส่งเสริมชุมชนและความเป็นย่านสร้างสรรค์ก่อนเกิดวิกฤต
งานวิจัยฐานข้อมูลและการสื่อสารข้อมูลธุรกิจสร้างสรรค์ ปี 2562 ทำการสัมภาษณ์และสังเกตการณ์ธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลักที่ย้ายเข้ามาอยู่ในย่านบางรักในช่วงปี 2561-2562 จำนวน 15 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจบริการออกแบบ ธุรกิจแกลเลอรี ธุรกิจภาพถ่าย ธุรกิจงานหัตถกรรมและธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สรุปออกมาเป็นความต้องการสนับสนุนและส่งเสริมการประกอบธุรกิจในย่าน ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมพื้นที่สู่ความเป็นย่านสร้างสรรค์ 3 ด้าน ได้แก่ การเตรียมความพร้อมของคนและการส่งเสริมเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ การสร้างกลไกในการส่งเสริมพื้นที่สู่ความเป็นย่านสร้างสรรค์ และการส่งเสริมกิจกรรมภายในย่านสร้างสรรค์
แนวทางการส่งเสริมย่านสร้างสรรค์ด้านแรก คือ การเตรียมความพร้อมของคนและการส่งเสริมเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์ (Supporting and facilitating creative bussiness) ประกอบด้วย การวางแผนและกำหนดเป้าหมายในการสร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการ นักสร้างสรรค์ด้วยกันเอง การประชาสัมพันธ์ธุรกิจและวิชาชีพให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆที่ช่วยสนับสนุนกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มนักสร้างสรรค์และนักลงทุน ด้านการให้ความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ และการสนับสนุนพื้นที่จัดแสดงงานหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น
ด้านที่สองการสร้างกลไกในการส่งเสริมพื้นที่สู่ความเป็นย่านสร้างสรรค์ (Creative District incentive) ประกอบด้วย การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขอบเขต กรอบเวลาและนโยบายการพัฒนาที่ชัดเจน และการจัดเตรียมมาตรการป้องกันการพัฒนาแบบ Gentrification เพื่อลดผลกระทบต่อกลุ่มคนอยู่อาศัยเดิมในย่าน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพย่านจากอัตลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมของย่าน (cultural asset)
ด้านสุดท้ายการส่งเสริมกิจกรรมภายในย่านสร้างสรรค์ (Support neighborhood activities) ประกอบด้วย การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ และการทำปฏิทินกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในย่านอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมงานสร้างสรรค์ให้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ให้ได้เริ่มเห็นประโยชน์ของงานออกแบบเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความสะดวกสบาย และจัดทำแผนที่ย่านสร้างสรรค์และพื้นที่ต่อเนื่อง สุดท้ายด้านการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้เป็นย่านมีวิถีชีวิต หมายรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โครงข่ายการสัญจร การพัฒนาสาธารณูปการในย่าน การบริหารจัดการสัดส่วนประเภทธุรกิจในย่านให้มีการใช้งานตลอดทั้งวันไม่เฉพาะแต่ช่วงเวลาทำงาน
กลุ่มเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์และสังคมจะรอดไปด้วยกันได้อย่างไร
ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มของนักออกแบบและผู้ประกอบการเป็นเครือข่ายธุรกิจสร้างสรรค์แล้วโดยมีเป้าหมายและพันธกิจที่แตกต่างกันออกไป ตามกรอบการพัฒนา สามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลัก อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุน และธุรกิจอื่นทั่วไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กันในเชิงระบบไม่ว่าส่วนไหนปรับเปลี่ยนก็จะส่งผลถึงอีกระดับด้วย โดยนิยามความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลักกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขึ้นกับกิจกรรมการขายสินค้าและบริการผลิตภัณฑ์สุดท้ายในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (End product) ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจปรุงและขายอาหารและเครื่องดื่มเป็นธุรกิจหลัก ส่วนธุรกิจขายวัตถุดิบและอุปกรณ์ทำอาหารเป็นธุรกิจสนับสนุน เป็นต้น
ตัวอย่างการรวมกลุ่มในอุตสาหกรรมออกแบบ กลุ่มนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ Design PLANT รวมกลุ่มกันครั้งแรกในปี 2556 ปัจจุบันมีนักออกแบบมืออาชีพเข้าร่วมกว่า xx บริษัท โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับวงการ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย ให้เป็นที่รู้จักและมีคุณภาพทัดเทียมมาตรฐานระดับสากล ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มส่วนกวางในการรวบรวบและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่หลากหลายให้เกิดเป็นโอกาสและความร่วมมือใหม่ๆ ในรูปแบบการจัดแสดงผลงานทั้งในเชิงธุรกิจ การบริการ และสนับสนุนภาคการศึกษาในการจัดแสดงผลงานกลุ่มนิสิตนักศึกษาและนักออกแบบรุ่นใหม่อีกด้วย ที่ผ่านมาทางกลุ่มมีจัดแสดงผลงานในเทศกาล Bangkok Design Week อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561
อีกตัวอย่างของการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารเป็นสมาคมกาแฟพิเศษไทย SCATH รวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2557 มีผู้ประกอบการกาแฟในหลากหลายแขนงเข้ามาร่วมกลุ่มทั้งผู้ปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ บาริสต้า รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านกาแฟโดยเฉพาะ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนากาแฟพิเศษไทยให้ดียิ่งขึ้นและเชื่อมโยงกับตลาดกาแฟโลกได้อย่างภาคภูมิ ผ่านการจัดกิจกรรมการประกวดสุดยอดกาแฟไทยแห่งปีเพื่อจัดลำดับคุณภาพของกาแฟจากไร่ต่างๆ และนำมาวิเคราะห์ว่าคุณภาพและรสชาติเทียบเท่าได้กับจากแฟจากต่างประเทศหรือไม่อย่างไร กลุ่ม TQC ได้ทำงานในการพัฒนาคุณภาพกาแฟอย่างกว้างขวางมากขึ้น จากไร่กาแฟต้นน้ำ ถึงผู้ดื่มกาแฟปลายน้ำ ผลลัพธ์ที่ได้คือกาแฟไทยมีคุณภาพดีขึ้นเป็นกาแฟพิเศษ
"ความต้องการสิ่งสนับสนุน คือ การประชาสัมพันธ์วิชาชีพนักออกแบบ โดยภาครัฐควรเป็นตัวอย่างใน การใช้นักออกแบบในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณะ ทําให้คนเข้าถึงนักออกแบบได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นยังมี ความต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทั้งในเชิงวิชาชีพ และการประกอบธุรกิจ" ส่วนหนึ่งของความเห็นจากกลุ่มธุรกิจบริการออกแบบสถาปัตยกรรม
เห็นได้ว่าการสร้างเครือข่ายของกลุ่มประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมีเป้าหมายและพันธ์กิจที่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มสมาชิกอยู่แล้ว หากแต่มีช่องว่างอยู่ที่การประชาสัมพันธ์วิชาชีพในวงกว้างและการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพออกแบบ ในช่วงวิกฤตนี้ถือเป็นโอกาสสำหรับนักออกแบบและผู้ประกอบการในการช่วยกันหาทางออกให้กับโจทย์ทางสังคม ทั้งการออกแบบสินค้าและบริการด้านสาธารณสุข การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้านสุขภาพ การสนับสนุนโดยการจ้างงานทางหนึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับนักออกแบบและอีกทางเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมเห็นประโยชน์ของอุตสาหกรรมออกแบบมากขึ้นอีกด้วย
บทบาทของย่านสร้างสรรค์ในการส่งเสริมคนกลุ่มเดิม หรือ ดึงดูดคนกลุ่มใหม่
เหตุผลในการเลือกทำเลที่ตั้งธุรกิจใหม่ในย่านบางรักจากบทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พบว่า ส่วนมากให้น้ำหนักกับความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันของกลุ่มธุรกิจเดียวกันและธุรกิจสนับสนุน การเดินทางเข้าถึงที่สะดวกในราคาค่าเช่าที่สามารถจ่ายได้และเอกลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวข้องกับงานศิลปะ
ความเห็นของทุกกลุ่มธุรกิจไม่คิดว่าผู้ประกอบธุรกิจเดียวกันจะเป็นคู่แข่งกัน เนื่องจากแต่ละธุรกิจมีเอกลักษณ์ จุดเด่น กลุ่มลูกค้าและเป้าหมายที่แตกต่างกันไป ในทางกลับกัน กลุ่มธุรกิจเหล่านี้คำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ย้ายเข้ามาในย่าน. หนึ่งในนั้นเห็นโอกาสในความเป็นคลัสเตอร์ในการแชร์ทรัพยากรหรือร่วมกันพัฒนาธุรกิจผ่านการดำเนินการร่วมกันระหว่างองค์กร นอกจากนั้นกลุ่มธุรกิจยังให้ความเห็นว่าการเกิดขึ้นของคลัสเตอร์ต่างๆ จะเป็นตัวสนับสนุนให้ย่านมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในเชิงเศรษฐกิจ สามารถดึงดูดกลุ่มคนภายนอกที่มีความสนใจในสินค้าและบริการสร้างสรรค์ต่างๆ ให้ได้เข้ามาติดต่อ หาความรู้ ตลอดจนใช้บริการธุรกิจสร้างสรรค์เหล่านั้น
"ความต้องการสิ่งสนับสนุน คือ การเชื่อมโยง สร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ และ ผู้ประกอบการรายย่อย และกลุ่มลูกค้า สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมและแหล่งเงินทุนในการขยายธุรกิจและรวมกันเป็นคลัสเตอร์ที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับย่าน (Community/ Cluster)" ส่วนหนึ่งของความเห็นจากกลุ่มธุรกิจภาพถ่าย
นอกจากทำเลที่ตั้งที่เดินทางเข้าถึงได้สะดวก ราคาค่าเช่าพื้นที่และการกำหนดระยะเวลาสัญญาเช่าที่สามารถมีกำลังจ่ายเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ย่านบางรักได้รับความนิยมสูงขึ้น มีการเปิดตัวของกลุ่มธุรกิจใหม่ในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าเช่าพื้นที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงการกำหนดสัญญาเช่าระยะสั้นลง ทำให้ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มผู้อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจภายในย่านเดิมต้องแบกรับค่าใช้จ่าย หรือบริหารความเสี่ยงในการลงทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วิกฤตการณ์ส่งผลกับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่โดยตรงมากกว่าคนกลุ่มใหม่ที่ยังไม่ได้ย้ายเข้ามาในพื้นที่ แนวทางการส่งเสริมย่านสร้างสรรค์โดยมุ่งเป้าไปที่การดึงดูดคนกลุ่มใหม่ให้เข้ามาในย่านควรถูกทบทวน การกำหนดสิทธิประโยชน์ที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายในอนาคต เช่น มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบกา หรือการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีขอบเขต กรอบเวลาและนโยบายการพัฒนาที่ชัดเจน คาดว่ามีประโยชน์ในการสร้างคลัสเตอร์ดึงดูดคนกลุ่มใหม่ได้ในระยะยาว แต่ความจำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้อาจต้องหันกลับมาดูแลกลุ่มผู้ประกอบการเดิมในพื้นที่ก่อนหรือเปล่า ในขณะที่ Gentrification อาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเสมอไป หากมองว่าเป็นกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านระยะสั้น เปิดโอกาสให้พื้นที่ถูกใช้ประโยชน์ได้ชั่วคราวและมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน
กิจกรรมในพื้นที่ทางกายภาพที่ถูกจำกัดจะใช้ประโยชน์จากการขยายตัวในพื้นที่เสมือนได้อย่างไร
ความเห็นส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการจากบทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พบว่า กลุ่มคนทั่วไปในภาพรวมยังมีความรู้สึกว่าศิลปะงานสร้างสรรค์เป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของสินค้าและบริการที่มีราคาแพงและไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันและไม่เข้ามาใช้พื้นที่ในย่าน ซึ่งความจริงแล้วงานสร้างสรรค์ส่วนมากมีรากฐานมากจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม (cultural asset) ซึ่งเป็นคุณค่าร่วมของทุกคนที่สามารถจับต้องได้ หากปรับมุมมองแล้วงานสร้างสรรค์จึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะคนบางกลุ่มแต่สามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระ
พื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่ายและเป็นชีวิตประจำวันของคนส่วนมากไปแล้วกลับกลายเป็นพื้นที่ออนไลน์ เห็นได้จากการเติบโตของแพลทฟอร์มออนไลน์ในช่วงหลายปีที่ผ่าน ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA ชี้ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 150% จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ปี 2562 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 91.2 ใช้อินเทอร์เน็ตไปกับ Social Media (Facebook, Line, Instagram) รองลงมาคือ ดูหนัง ฟังเพลงร้อยละ 71.2 และค้นหาข้อมูลออนไลน์ร้อยละ 70.7
"ความต้องการสนับสนุน คือ การสร้างการรับรู้เรื่องของงานศิลปะให้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจําวัน ของผู้คน การสร้างกลุ่มของผู้ที่สนใจงานศิลปะในแขนงต่าง ๆ ภายในย่าน การสนับสนุนการทํางานของศิลปินด้วยการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินจัดแสดงงาน รวมไปถึงคนรุ่นใหม่ๆ" ส่วนหนึ่งของความเห็นจากกลุ่มธุรกิจแกลเลอรี
ในช่วงที่กิจกรรมบนพื้นที่ทางกายภาพถูกจำกัดเนื่องด้วยความปลอดภัยทางสาธารณสุข มีแนวโน้มว่าผู้คนจะยิ่งใช้เวลาบนพื้นที่ออนไลน์มากขึ้นอีกแทนที่การใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมบนสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ดังนั้น ถึงแม้ว่าพื้นที่ออนไลน์จะไม่สามารถทดแทนพื้นที่ทางกายภาพได้ทั้งหมด แต่การส่งเสริมกิจกรรมในย่านสร้างสรรค์คงละเลยพื้นที่เสมือนไม่ได้อีกต่อไป ในระหว่างนี้การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์และปฏิทินกิจกรรมสร้างสรรค์ยังสามารถจัดได้อย่างต่อเนื่องบนพื้นที่ออนไลน์ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปะผ่านรูปแบบดิจิทัลและยังทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงงานสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย