ย่านสร้างสรรค์ ย้อน กระบวนการสร้างสรรค์
"ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นมาเองหรือนอนหลับ ฝัน เช้าตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่ามันเป็นความคิดสร้างสรรค์...เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์เองพูดถึงภาพรวมของระบบเศรษฐกิจที่มีกระบวนการที่ทำให้เกิดผลผลิตด้วยการใช้ความรู้ ใช้ความสามารถในการเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีของท้องถิ่น โดยที่วันนี้เราเชื่อมโยงกับเงื่อนไขของโลกด้วยการเติมเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้าไป แล้วผลลัพธ์หรือกระบวนการที่ทำมีผลกับสังคม ทำให้สังคมมันดีขึ้น หรือในแง่ผู้ประกอบการเกิดเป็นรายได้" ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์คุณ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล "เศรษฐกิจสร้างสรรค์” แบบจับต้องได้"
ความเป็นย่านสร้างสรรค์จึงเป็นการประมวลผลย้อนกระบวนการสร้างสรรค์ โดยศึกษาผลผลิตที่เกิดขึ้นแล้วจากคน ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงกลับไปสู่สังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2561 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลธุรกิจย่านสร้างสรรค์ครอบคลุมพื้นที่เจริญกรุง เจริญนคร เจริญรัถ หัวลำโพงและนานา และมีการจัดเก็บข้อมูลเศรษฐกิจเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่องทุกปีเพื่อให้ข้อมูลมีความทันสมัยและสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของธุรกิจในพื้นที่ และนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาย่าน จัดทำโครงการและกิจกรรมต่อไป
ในการศึกษาผลผลิตทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีการสำรวจข้อมูลภาพรวมการดำเนินธุรกิจในพื้นที่ศึกษาทุกประเภท จำนวนธุรกิจที่มีสินค้าและบริการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จัดกลุ่มตามคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 15 กลุ่ม และศึกษารูปแบบกิจกรรมทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลักและกิจกรรมสนับสนุน รวมถึงลักษณะการดำเนินธุรกิจว่าเป็นบริการออกแบบ ขายผลิตภัณฑ์ บริการอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรือดำเนินธุรกิจแบบผสมผสาน ซึ่งโยงกลับไปสู่พื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม
ส่วนต่อมาเป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของธุรกิจในย่าน โดยวิเคราะห์ธุรกิจที่เปิดใหม่ในย่านสร้างสรรค์และพื้นที่ต่อเนื่องแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมและประเภทธุรกิจ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจากการสัมภาษณ์และสังเกตการณ์เพื่อรับทราบกิจกรรมทางธุรกิจ ลักษณะการดำเนินธุรกิจ และระบบนิเวศน์ที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการย้ายเข้ามาเปิดธุรกิจในย่าน เช่น สถานที่ ความเชื่อมโยงกับพื้นที่ ธุรกิจสนับสนุน การแข่งขันและมาตรการส่งเสริม เป็นต้น
เจริญกรุง-นานา ผลผลิตจากการสั่งสมความรู้ด้านจิวเวลรี
เจริญกรุง-เจริญนครเป็นพื้นที่แรกที่มีการศึกษาความเป็นย่านสร้างสรรค์เนื่องจากมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และมีการขยายขอบเขตการศึกษาไปยังพื้นที่ต่อเนื่องหัวลำโพงและนานาในปีถัดมา ผลสำรวจข้อมูลธุรกิจย่านสร้างสรรค์ในปี 2562 พบว่า จากธุรกิจในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 1,248 ธุรกิจ 715 หน่วยเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หรือคิดเป็นร้อยละ 55.69 ของธุรกิจทุกประเภท และพื้นที่ที่มีสัดส่วนธุรกิจสร้างสร้างสรรค์ต่อธุรกิจอื่นสูงที่สุดเป็นพื้นที่เจริญกรุง รองลงมาเป็นหัวลำโพง นานาและเจริญนคร ตามลำดับ
สัดส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจทุกประเภทนี้เป็นผลมาจากการที่ย่านเจริญกรุงในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทำมาค้าขาย และมีความโดดเด่นด้านศิลปะเป็นย่านแรกๆของกรุงเทพฯ สะท้อนออกมาเป็นจำนวนธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สูงที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมหัตถกรรมจิวเวลรีและเครื่องเงินร้อยละ 34.20อุตสาหกรรมอาหารร้อยละ 32.97 และอุตสาหกรรมแฟชั่นร้อยละ 11.58 ที่เหลือเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ประเภทอื่น เช่น อุตสาหกรรมออกแบบ อุตสาหกรรมแพทย์แผนไทย อุตสาหกรรมสถาปัตยกรรม เป็นต้น
การคงอยู่ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในย่านเจริญกรุงนี้เป็นการสั่งสมความรู้ในกระบวนการสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมนั้นๆ ผ่านรูปแบบกิจกรรมทางธุรกิจและลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา ผลการวิเคราะห์ปริมาณธุรกิจแบ่งตามลักษณะการดำเนินการในแต่ละอุตสาหกรรม พบว่า ส่วนมากดำเนินธุรกิจผ่านการขายผลิตภัณฑ์สุดท้าย (End product) ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รองลงมาเป็นการให้บริการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และบริการออกแบบพร้อมขายผลิตภัณฑ์ ตามลำดับ ตัวอย่างกลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมจิวเวลรีและเครื่องเงินจำนวน 251 หน่วย ดำเนินการผ่านการขายจิวเวลรีและเครื่องเงิน 164 หน่วย ออกแบบและขายจิวเวลรีรองลงมา 54 หน่วย ส่วนการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ขายวัสดุ อุปกรณ์ ผลิตจิวเวลรีและเครื่องเงิน โรงกลึง เป็นส่วนน้อย และมีเมื่อธุรกิจนั้นออกแบบและขายจิวเวลรีด้วยเท่านั้น ดังนั้น ในพื้นที่เจริญกรุงจึงมีกลุ่มคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสินค้าจิวเวลรีและเครื่องเงิน และการออกแบบเครื่องประดับเป็นอย่างดี
ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงสูงอย่างอาหารและแฟชั่นเป็นผลจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ธรุกิจในอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 242 หน่วย ดำเนินการผ่านการขายอาหารหรือรับสําเร็จรูปมาปรุงมากที่สุดจำนวน 201 หน่วย ส่วนบริการออกแบบอาหารหรือเครื่องดื่มและออกแบบและขายรองลงมา ประมาณ 40 หน่วย ส่วนบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ขายวัตถุดิบทําอาหาร ขายอุปกรณ์ทําอาหาร โรงงานผลิตอาหารมีเพียง 3 ร้านเท่านั้น ส่วนธรุกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น 85 หน่วย เป็นที่น่าสังเกตว่าดำเนินธรุกิจผ่านบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่าการขายผลิตภัณฑ์สุดท้าย เช่น ขายผ้า เย็บผ้าตัดเสื้อ โรงงานผลิตเสื้อผ้า ตัดผมแต่งหน้า เป็นต้น
สัญญาณการเปลี่ยนแปลงสู่ย่านสร้างสรรค์ที่หลากหลาย
เมื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิตใหม่อย่างองค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ซึ่งมาพร้อมกลุ่มคนที่มีความสามารถ ต่างจากปัจจัยการผลิตแบบเดิมที่อยู่นิ่งกับที่แต่พร้อมที่จะเคลื่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ตลอดเวลา การติดตามการเปลี่ยนแปลงและความเคลื่อนไหวของธุรกิจในย่านจึงเป็นการจับสัญญานการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ จากฐานข้อมูลธุรกิจย่านสร้างสรรค์ระหว่างปี 2561-2562 พบว่า มีธุรกิจที่เปิดใหม่ในย่านสร้างสรรค์และพื้นที่ต่อเนื่อง จำนวนทั้งหมด 35 หน่วยธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอื่นหลากหลาย เช่น ธุรกิจประเภทฟิล์มและภาพถ่าย ธุรกิจประเภทแกลเลอรี ธุรกิจออกแบบสถาปัตยกรรม และธุรกิจอื่นๆ เป็นต้น
จากผลการสัมภาษณ์และสังเกตุการณ์หน่วยธุรกิจ ทั้งหมด 15 ธุรกิจ ถึงกิจกรรมทางธุรกิจ ลักษณะการดำเนินธุรกิจและเหตผลในการย้ายเข้ามาเปิดธุรกิจในพื้นที่ เป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจที่ย้ายเข้ามาใหม่ดำเนินการผ่านการออกแบบและให้บริการมากขึ้นกว่าธุรกิจเดิมในย่านที่ดำเนินการผ่านขายผลิตภัณฑ์สุดท้ายของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในรูปแบบคาเฟ่และเบเกอรี่ขายอาหาร ดำเนินธุรกิจผ่านการพัฒนาสูตรกาแฟและขนม ตลอดจนการจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพจากผู้ผลิต เพิ่มเติมบริการให้เช่าพื้นที่จัดเวิร์คชอป โดยให้เหตผลในการย้ายเข้ามาเปิดกิจการในพื้นที่เจริญกรุงว่าในย่านนี้มีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าคุณภาพและเปิดรับกิจกรรมใหม่ๆ ถึงแม้ในย่านนี้มีร้านอาหารและคาเฟ่หลายแห่งเป็นคู่แข่งแต่ทางร้านมีบริการที่เฉพาะตัว อาศัยความผูกพันและปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดี ผ่านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางช่องทางออนไลน์และบริการกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย
ธุรกิจในกลุ่มสถาปัตยกรรมทั้งสถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายใน และภูมิสถาปัตยกรรม ดำเนินธุรกิจผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรม เขียนแบบก่อสร้าง จัดทำโมเดลและภาพจำลอง และมีการร่วมงานกันกับบริษัทออกแบบในพื้นที่ใกล้เคียง ธุรกิจในกลุ่มนี้ส่วนมากเคยตั้งสำนักงานอยู่ในพื้นที่อื่นก่อนย้ายเข้ามาในพื้นหัวลำโพงและตลาดน้อย ตั้งแต่ปี 2558 ด้วยเหตผลว่าต้องการขยายบริษัทมายังพื้นที่ที่ค่าเช่ายังไม่สูงมากนักและคนรู้จักในวงการเดียวกันชักชวนกันมา รวมถึงพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพงและใกล้ทางด่วน และมีธุรกิจสนับสนุนอื่นๆ เช่น ธุรกิจขายวัสดุตัดโมเดล ธุรกิจงานพิมพ์ขนาดใหญ่ เป็นต้น
กลุ่มธุรกิจแกลเลอรีมีลักษณะการดำเนินธุรกิจเป็นสองรูปแบบ แบบ Commercial Gallery ดำเนินการผ่านการขายผลงานศิลปะและผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงทั้งสินค้าตกแต่งบ้าน เสื้อผ้า เครื่องประดับ ส่วนรูปแบบพื้นที่ให้เช่าจัดแสดงงานจะมีการกำหนดตีมในการจัดแสดงร่วมกับศิลปิน โดยเลือกที่ตั้งจากบรรยากาศของย่านที่มีเอกลักษณ์ มีความเกี่ยวข้องกับศิลปะเป็นแห่งแรกๆ ในกรุงเทพมหานคร และมีธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่าง ธุรกิจถ่ายภาพและภาพพิมพ์ เป็นต้น
ย่านสร้างสรรค์ ดึงดูด คนสร้างสรรค์
การทำความเข้าใจความเป็นย่านสร้างสรรค์ผ่านฐานข้อมูลเศรษฐกิจเชิงพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนพัฒนาย่านสร้างสรรค์ให้เป็นกลไกส่งเสริมกระบวนการสร้างสรรค์ เป็นต้นแบบพื้นที่ที่มีกลุ่มนักสร้างสรรค์และนวัตกรเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในพื้นที่ ด้วยการกำหนดนโยบายส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์ การปรับปรุงระบบนิเวศน์ของย่าน การให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดนักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการที่เป็นต้นทุนทางความคิด และหน่วยงานทางเศรษฐกิจและการลงทุนทางธุรกิจต่อไป
ถึงแม้การวางแผนพัฒนาย่านสร้างสรรค์อยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ความเป็นย่านสร้างสรรค์ที่เกิดจากกระบวนการสร้างสรรค์นั้นเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ที่มีอย่างต่อเนื่องด้วยปัจจัยขับเคลื่อนทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาพของย่านสร้างสรรค์ที่เป็นไปตามแผนพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมืองกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์เดิมได้รับการสนับสนุนให้สามารถดำเนินกระบวนการสร้างสรรค์ในพื้นที่ได้ และเป็นปัจจัยในการดึงดูดนักสร้างสรรค์กลุ่มใหม่ให้เข้ามาใช้ชีวิตในย่านสร้างสรรค์