อุตรดิตถ์ ดินแดนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่าแห่งทิศเหนือ เพราะตั้งอยู่ภาคเหนือตอนล่าง เป็นเสมือนประตูเชื่อมต่อภาคเหนือ ภาคกลาง และประเทศลาว มีผู้คนต่างถิ่นหลั่งไหลเข้ามาหลายเผ่าพันธ์ุ ทั้งไทสยาม ไทยวนล้านนา และ ไทลาวล้านช้าง ก่อกำเนิดเป็นเมืองโบราณเล็ก ๆ หลายเมือง แล้วหล่อหลอมจนกลายเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน ทำให้มีเรื่องราวเล่าขานในหลากหลายแง่มุม ทั้งเมืองลับแลเมืองแห่งสัจจะวาจา เมืองแห่งแม่ม่ายและสาวสวย ถิ่นกำเนิดวีรบุรุษพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นแร่เหล็กและศาสตราวุธ เมืองแห่งภูเขากินได้
แต่ที่เห็นเด่นชัดและน่าค้นหาที่สุด ก็คือ ความเป็นดินแดนสามวัฒนธรรม ล้านนา ล้านช้างและสุโขทัย ที่ยังสามารถคงตัวตนที่แตกต่างของวิถีสามอาณาจักรไว้ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหารถิ่น อย่างข้าวและเส้นรูปแบบต่างๆ ข้าวพันผัก ข้าวแคบ ข้าวหมี่พัน ประเพณีทำบุญตักบาตรที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวแต่ละชาติพันธ์ุ อย่างหาบจังหัน สลากภัต ใส่บาตรผิงหนาว ไปจนถึงงานผ้าทอทรงคุณค่าที่ไม่มีใครล่วงรู้ รวมไปถึงวิถี Eco ที่อาศัยความพิเศษของธรรมชาติ ถ่ายทอดออกมาผ่านข้าวของเครื่องใช้ งานหัตถกรรม การดูแลป่าและพันธ์ุไม้โบราณ และความลับอีกมากมายที่ยังรอการค้นพบ