สงขลาได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสองทะเล” เพราะอยู่ติดกับอ่าวไทยและมีทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นทะเลสาบลักษณะลากูนหนึ่งเดียวในไทย ถือเป็นเมืองท่านานาชาติที่สําคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ความรุ่งเรืองในอดีตที่ส่งผลมาถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ริมทะเลในปัจจุบัน ซึ่งถูกเรียกว่า เมืองเก่าสงขลา ส่วนพื้นที่เมืองใหม่ก็เป็นที่รู้จักดีในนามของ หาดใหญ่ ด้วยศักยภาพของทั้งสองพื้นที่นี้ ทำให้จังหวัดสงขลาได้รับการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ดอนล่าง ทั้งด้านการปกครอง การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจ สงขลาจึงรุดหน้ามีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครัน
ทะเลสาบสงขลา คือ หัวใจสำคัญที่ทำให้สงขลามีความพิเศษมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะถือเป็นต้นกำเนิด เสน่ห์แห่งความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของเมือง นอกจากจะเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลากเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยจีน ไทยพุทธ ไทยมุสลิมแล้ว ยังอุดมไปด้วยวัตถุดิบธรรมชาติจาก 3 น้ำ ทั้งจากน้ำจืด นำ้เค็ม และน้ำกร่อย และต่อยอดไปสู่ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมวิถีชาวประมงทั้งในด้านอาหารและงานฝีมือไม่ว่าจะเป็น ไข่ครอบ กระเบื้องเกาะยอ วัฒนธรรมอาหารว่าง ไปจนถึงอาหารจานเด็ดหลากเชื้อชาติที่พบได้เฉพาะที่สงขลาเท่านั้น
ผลผลิตจากความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ชาวสงขลาทุกวัยต่างภาคภูมิใจและหวงแหน ทำให้เกิดการรวมพลังทุกภาคส่วนเพื่ออนุรักษ์และผลักดันสงขลาสู่เมืองมรดกโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งลูกหลานชาวสงขลาเอง และผู้ที่หลงเสน่ห์ จนย้ายถิ่นฐานมาพำนักอยู่ในเมืองนี้ จนถือเป็นอีกหนึ่งเมืองตัวอย่างที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่เป็นหลัก
"อุดมโภชนา"
ในโลกที่เต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน และแม้กระทั่งการฉกฉวยวัฒนธรรม พิกัดทางภูมิศาสตร์ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครพรากไปจากกันได้ จนถึงวันนี้ชาวสงขลายังคงเก็บเกี่ยวดอกผลแห่งความอุดมสมบูรณ์จากการค้าทางทะเลที่บรรพบุรุษแผ้วถางไว้ให้ บนวิถีชีวิตที่เรียกได้ว่าหันซ้ายก็ทะเลสาบ หันขวาก็ทะเล วัตถุดิบทั้งจากน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มจึงมีให้เก็บกิน-เก็บใช้ได้อย่างไม่สิ้นสุด
รู้จักกับสงขลาเพิ่มเติม
"อยากให้พี่น้องมาเห็นกับตาเอง...แล้วมาดูว่ามันสบายยังไง"
บังหมัด ชาวประมงท้องถิ่น
อ้างอิงภาพเนื้อหา: The Cloud