Bangkok
TH | EN
©โรงเรียนสังเคราะห์แสง

Bangkok

กรุงเทพฯ

ศูนย์กลางความหลากหลายที่ออกแบบได้


กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยที่ครองอันดับหนึ่งการเป็นจุดหมายปลายทางโลกติดต่อกันหลายปี สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเยือนกว่า 20 ล้านคนต่อปี โดดเด่นที่ความหลากหลาย เพราะเปิดโอกาสให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาอยู่ร่วมกันอย่างสันติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และรู้จักเลือกรับ ปรับใช้ความหลากหลายนั้นมาหลอมรวมจนกลายเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ในที่สุด

จะเห็นได้จากทักษะความเชี่ยวชาญหลากด้าน ศิลปะและสถาปัตยกรรมหลากสมัย อาหารการกินหลากรส รวมถึงความหลากหลายทางพื้นที่และวิถีชีวิต ตั้งแต่เรือกสวนไร่นา ย่านเก่าแก่ พระราชวัง ศาสนสถาน พื้นที่ร่วมสมัย ไลฟ์สไตล์ยามค่ำคืน ไปจนถึงประสบการณ์การเดินจับจ่ายในทุกระดับราคา จนกรุงเทพฯ ถือเป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ดึงดูดแรงงานทั้งจากในและนอกประเทศให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัย

นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในฐานะศูนย์กลางด้านการออกแบบในภูมิภาคอาเซียน เพราะศักยภาพและความเอาจริงเอาจังในการใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมือง และผลักดันจนได้รับเลือกให้เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในฐานะเมืองแห่งการออกแบบในปี 2019

From Past To Present


Bangkok, A Cosmopolitan City Built from Diversity
กรุงเทพฯ ที่สร้างจากความหลากหลายและเป็นสากล

ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ เริ่มต้นในปี 1872 เมื่อรัชกาลที่ 1 สถาปนิกราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ พร้อมกับการย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรธนบุรีซึ่งมีอายุสั้นๆ มายังฝั่งตะวันออก ในบริเวณตรงข้ามกัน

ในวันแห่งการก่อร่างสร้างเมืองนั้น กรุงเทพฯ ประกอบด้วยผู้คนที่เคลื่อนย้ายมาจากอยุธยา ซึ่งเคยเป็นราชธานีอันยิ่งใหญ่, ผู้คนในหลายวัฒนธรรมที่ตั้งรกรากอยู่ก่อน (ลาว จีน เปอร์เซีย อินเดีย มุสลิม และโปรตุเกส) ไปจนถึงคนหลากชาติพันธ์ุ (ลาว ไท เขมร จาม ญวณ มอญ ทวาย มลายู) ที่มาจากดินแดนรายรอบ บ้างอพยพเข้ามาโดยสมัครใจ บ้างก็เป็นเชลยที่ถูกเกณฑ์มาเพื่อเป็นแรงงานโยธา ดังนั้นจึงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า กรุงเทพฯ เริ่มต้นด้วยความเป็นสากลอย่างแท้จริง

Rattanakosin Era: สานต่ออดีต เปิดรับ ปรับใช้ อยู่รอด เติบโต

กรุงเทพฯไม่เพียงเปิดโอกาสให้กับคนจากหลากที่มาและความเชื่อ แต่ยังฉลาดในการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายนั้น แม้จะสร้างบ้านแปงเมืองให้เหมือนอยุธยาที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมเก่าแก่และสูงค่าเพื่อวางรากฐานทางจิตวิญญาณความเป็นไทยให้กรุงรัตนโกสินทร์ แต่กรุงเทพฯจะรุ่งเรืองไม่ได้เลยหากปราศจากความสามารถในการใช้สอยผู้คน คนจากต่างที่มาไม่เพียงเป็นแรงงานสำคัญในการสร้างกรุงเทพฯ แต่ยังได้รับโอกาสเป็นขุนนางระดับสูงผู้มีบทบาทในการบริหารบ้านเมือง โดยเฉพาะชาวจีนที่มีบทบาทในการพัฒนาการคลัง การค้า และการเดินเรือมาตั้งแต่เริ่มยุค และชาวตะวันตกที่เข้ามาช่วยแผ้วถางกรุงเทพฯเข้าสู่สยามสมัยใหม่ ไม่แปลกที่เมืองแห่งนี้จะโดดเด่นในการปรับตัวและอยู่รอดท่ามกลางคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเสมอมา

นอกจากโอกาสในการทำมาหากิน เสรีภาพในการนับถือศาสนาคือหัวใจสำคัญที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้อพยพเข้ามายังเมืองแห่งนี้ การที่ทุกศาสนาและทุกนิกายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติพัฒนามาเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯในที่สุด สะท้อนผ่านทักษะความเชี่ยวชาญหลากด้าน ความบันเทิงหลากแบบ และอาหารการกินหลากหลาย ไม่เพียงเท่านั้น การสนับสนุนให้มีการก่อสร้างศาสนสถานเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนตามความเชื่อต่างๆ ได้พัฒนาจนเป็นอัตลักษณ์ทางพื้นที่อันโดดเด่นของเมืองมาจนทุกวันนี้เช่นกัน


Modern Siam: ทุนจีน ความเชี่ยวชาญตะวันตก และการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ากรุง

ความสามารถในการเลือกรับ-ปรับใช้ คือส่วนสำคัญที่ทำให้สยามรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม สนธิสัญญาเบาว์ริงที่ลงนามกับอังกฤษในปี 1855 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่สมัยใหม่ การค้าเสรีที่เบ่งบานและการพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อรองรับความศิวิไลซ์นำมาสู่วิธีชีวิตแบบใหม่ กรุงเทพฯกลายเป็นมหานครอันโดดเด่นและทันสมัยที่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนจากต่างที่มาเข้ามาแสวงหาโอกาสอีกครั้ง พร้อมกับความพยายามในการรักษาความเป็นตนเองด้วยเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่ขนานกันไปกับการปฏิรูประบบราชการและการปกครองที่ทำให้สยามกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่คงอัตลักษณ์อย่างแข็งแรงในที่สุด

การปฏิรูประบบราชการทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดการจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาจำนวนมากในทุกด้าน ตามมาด้วยการเข้ามาตั้งห้างร้านของชาวตะวันตก ในขณะที่ชาวจีนที่มีอยู่จำนวนมากในกรุงเทพฯกลายเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่น้อย ร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจของเมืองแห่งนี้ ลูกหลานของชาวต่างชาติเหล่านี้กลายเป็นพลเมืองชาวกรุงเทพฯในปัจจุบัน

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา กรุงเทพฯเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าเมืองอีกครั้ง ตามมาด้วยการเข้ามาของแรงงานจากประเทศรอบบ้าน และแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จัดจ้าน ง่ายดาย ประหยัด สังคมพหุวัตนธรรมคือที่มาของเสน่ห์ริมทาง

เมื่อคนมาจากที่ต่างๆ จึงนำพาวัฒนธรรมโดยเฉพาะอาหารการกินมาด้วย ไม่แปลกที่อาหารริมทางอันเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างเสน่ห์ให้กับกรุงเทพฯจะเต็มไปด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวที่เดินทางมากรุงเทพฯพร้อมกับคนจีน ส้มตำรสชาติจัดจ้านที่เป็นมื้อสำคัญของแรงงานอิสาน หรือสะเต๊ะหอมกลิ่นเครื่องเทศที่มาจากอินโดนีเซีย ไม่นับขนมโตเกียวที่หาซื้อไม่ได้ในโตเกียวแต่เป็นในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับลอดช่องสิงคโปร์ และข้าวผัดอเมริกันที่หาไม่ได้ในสิงคโปร์หรือในอเมริกาเช่นกัน

Bangkok As A World Destination


From an R&R Stop to the Mastercard’s Top City

ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯในฐานะจุดหมายปลายทางโลกเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่หลังสงครามโลกครั้งที่1 ในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมต่อสู่อินโดจีนที่อยู่ในการยึดครองของฝรั่งเศส โดยท่าอากาศยานดอนเมืองถือเป็นท่าอากาศยานที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียและเก่าแก่อันดับต้นๆ ของโลก

ความร่วมมือหลายด้านกับอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนำมาสู่การเดินทางไปมาหาสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการลงทุน ก่อนที่รัฐบาลไทยจะมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ผ่านการก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ในปี 1959 และกรุงเทพฯพัฒนาจนเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง R&R (Rest and Recuperation) สำคัญในช่วงสงครามเวียดนามโดยเฉพาะสำหรับทหารอเมริกันที่เป็นโสด โรงแรมและสถานบันเทิงสร้างใหม่กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯในทศวรรษ 1960 การท่องเที่ยวยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับกรุงเทพฯหลังจากสงครามผ่านพ้นไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯขยายตัวอย่างมากในทศวรรษ 1980


ปลายปี 1997 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ออกแคมเปญ Amazing Thailand เพื่อใช้รายได้จากการท่องเที่ยวกู้วิกฤตเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้กรุงเทพฯคงสถานะจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของโลกจนปัจจุบัน จากผลสำรวจของ Mastercard ในปี 2019, กรุงเทพฯครองอันดับหนึ่งการเป็นจุดหมายปลายทางโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ดึงดูดนักท่องเที่ยว 22.78 ล้านคน ในปี 2018 และสร้างรายได้ 20 พันล้านเหรียญ คิดเป็นอันดับสามของโลกรองจากดูไบและเมกกะ ในขณะที่ Business Traveller China ยกให้กรุงเทพฯเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว (Leisure City) อันดับหนึ่งของโลกในปี 2019

ความหลากหลายที่เป็นดีเอ็นเอของกรุงเทพฯ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่จำกัดอยู่เฉพาะความหลากหลายของผู้คน แต่ยังรวมถึงความหลากหลายทางพื้นที่และวิถีชีวิตตั้งแต่เรือกสวนไร่นา ย่านเก่าแก่ พระราชวัง ศาสนสถาน พื้นที่ร่วมสมัย ไลฟ์สไตล์ยามค่ำคืน ไปจนถึงประสบการณ์การเดินจับจ่ายในทุกระดับราคา ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ ตลาดนัด ตลาดน้ำ หรือการเพลิดเพลินกับอาหารริมทางที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก

หนึ่งในไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ และมันเกิดขึ้นพร้อมกับเมืองแห่งนี้

ในปี 1782 เมื่อรัชกาลที่ 1 ย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงย้ายชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่ที่จะสร้างพระบรมมหาราชวังมาอยู่ในบริเวณสำเพ็งบนถนนเยาวราชในปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาเป็นศูนย์กลางการค้าของกรุงเทพฯในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในปัจจุบันถนนเยาวราชทั้งเส้นกลายเป็นย่านวัฒนธรรมสำคัญที่ยังเรืองแสงด้วยป้ายไฟนีออนยามค่ำคืนอย่างที่หาแทบไม่ได้แล้วในเมืองอื่น และเป็นย่านที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบมารับประทานอาหาร ทั้งที่เป็นร้านอาหารและที่สำคัญคือสตรีทฟู้ดส์ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการฉลองเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลกินเจอีกด้วย

Bangkok As A Transforming City


From An Urban Sprawl to a Compact City

ด้วยโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลาย บวกกับแผนผังเมืองรวมใหม่ที่เพิ่งได้รับการประกาศใช้ กรุงเทพฯกำลังเปลี่ยนผ่านอย่างมีนัยสำคัญ

โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟกลางขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร กำหนดเสร็จภายในปี 2023 นอกจากจะเปลี่ยนกรุงเทพฯที่เคยพึ่งพาระบบล้อและรถติดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกให้เป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยระบบรางที่มีเส้นทางรวมความยาวสูงเป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน ยังหมายถึงการเปลี่ยนกรุงเทพฯที่เคยพัฒนาอย่างกระจัดกระจายให้กลายเป็นเมืองที่เติบโตแบบ Transit-Oriented Development(TOD) ที่เน้นการพัฒนาที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย การพาณิชย์ และการพักผ่อนในระยะเดินเท้าจากระบบขนส่งมวลชนหลัก เพิ่มจำนวนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สอดคล้องกับแผนการยกระดับกรุงเทพฯที่เคยพัฒนาแบบไร้ทิศทางให้เข้าสู่การเป็นเมืองกระชับ (Compact city)

ในขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากภาคเอกชนหลายโครงการ นอกจากจะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญแห่งใหม่และเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง ยังมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านกรุงเทพฯเข้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกับที่ย่านเก่ารวมถึงพื้นที่ริมน้ำกำลังได้รับการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม และสถานศึกษากำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในการพัฒนาเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

Bangkok As A Water City


Living in Harmony with Water

ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองที่อยู่กับน้ำ ทั้งในฐานะเมืองชายฝั่ง (Coastal city) เมืองที่มีแม่น้ำผ่ากลาง (Riverfront city) และเมืองที่เต็มไปด้วยคูคลอง (A city of canals) ด้วยทำเลที่ตั้งบนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกเหนือจากการคมนาคมทางทะเลที่พาการค้าจากแดนใกล้ไกลมายังเมืองแห่งนี้ แม่น้ำเจ้าพระยาอันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ยังเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่พาการค้าจากทางตอนเหนือที่อยู่ลึกขึ้นไปมาสู่เมือง และเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของชาวกรุงเทพฯในอดีตที่จะตั้งบ้านเรือนติดริมน้ำและทำการค้าขายกันอยู่บนเรือนแพ แม้ในปัจจุบันจะไม่เห็นเรือนแพแบบนั้น แต่แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังเต็มไปด้วยพลวัต ขับเคลื่อนชีวิตของทั้งชาวกรุงเทพฯที่อาศัยเป็นเส้นทางคมนาคมในชีวิตประจำวัน และนักท่องเที่ยวที่โดยสารเรือเพื่อทำความรู้จักเมืองแห่งนี้

นับตั้งแต่การตั้งกรุงเทพฯในฐานะเมืองหลวง มีการขุดคลองใหม่และขยายลำคลองเดิมมากมาย ทั้งเพื่อเป็นคูเมืองป้องกันข้าศึก และเพื่อเป็นเครือข่ายการคมนาคม โดยเฉพาะหลังจากสยามเปิดเสรีทางการค้า เครือข่ายลำคลองที่ทำให้กรุงเทพฯได้รับฉายาว่าเวนิสตะวันออกก็กลายเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าอันสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่เบ่งบาน จนเมื่อมีการตัดถนนในวงกว้าง บ้านเรือนที่เคยหันหน้าออกลำคลองหันมาตั้งบ้านเรือนกันบนถนน คลองจึงค่อยๆ ลดบทบาท จนในที่สุดมีการถมคลองจำนวนมากเพื่อสร้างเป็นถนน กระนั้นกรุงเทพฯในปี 2019 ก็ยังมีคลองมากถึง 1,682สาย ที่รวมความยาวได้ 2,604 กิโลเมตร

แม้บทบาทในการเป็นเมืองที่อยู่กับสายน้ำของกรุงเทพฯจะลดลงไปมากเมื่อเข้าสู่สมัยใหม่และเริ่มมีการตัดถนนหนทาง แต่ในปัจจุบันเมื่อการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำกลับมาเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูเมือง และกรุงเทพฯกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบบูรณาการของโครงข่ายการคมนาคม การหันกลับมาใช้สายน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมแบบในอดีต จึงเป็นทั้งหนทางในการพัฒนาเมืองและเป็นทั้งการฟื้นฟูอัตลักษณ์ของเมืองแห่งนี้อีกครั้ง น่าดีใจว่าประเพณีการเฉลิมฉลองวัฒนธรรมสายน้ำยังคงอยู่คู่กับเมืองแห่งนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลสงกรานต์หรือลอยกระทง ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

การกลับมาอยู่กับน้ำไม่ได้หมายถึงการใช้ประโยชน์จากสายน้ำเท่านั้น แต่ความท้าทายที่รออยู่ตรงหน้าด้วยก็คือปัญหาน้ำท่วม เมื่อแผ่นดินกรุงเทพฯจมลงทุกปี สวนทางกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นำมาสู่ปัญหาทั้งการระบายน้ำและการสูญเสียที่ดินชายฝั่ง การจมลงของกรุงเทพฯจึงถือเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวงนับจากนี้

From Present To Future


A Megacity Coping with the 21ST Century Challenges

กรุงเทพฯไม่เพียงต้องกลับมาเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ แต่ยังต้องทำงานหนักเพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการขยายตัวของประชากรและการพัฒนาที่รวดเร็วไม่หยุดยั้ง (Rapid growth)

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันคือการที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในเมือง และการเพิ่มขึ้นของอภิมหานคร (Megacity) ซึ่งตามนิยามคือเมืองที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคน จากรายงานของ Global Overview of Megacities ในปี 2018 ที่เผยแพร่โดย Euromonitor International ในปัจจุบันอภิมหานครทั่วโลกมีอยู่ถึง 33 แห่ง โดยอยู่ในทวีปเอเชียมากถึง 19 แห่ง และอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 แห่ง นั่นคือ กรุงเทพฯ มะนิลา จาการ์ตา และโฮจิมินห์ ซิตี้

ในฐานะอภิมหานครของโลก คำถามสำคัญสำหรับกรุงเทพฯก็คือ เมืองแห่งนี้จะใช้ความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยโอกาสในการสร้างนวัตกรรมและความมั่งคั่ง และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายที่มีมากขึ้นไปอีกอย่างไร และในขณะเดียวกันจะรับมือกับความท้าทายของเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความแออัด ความซับซ้อนในการจัดการทรัพยากรและบริหารเมือง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงเปลี่ยนความสามารถในการปรับตัวที่เป็นจุดแข็งมาตลอดประวัติศาสตร์ให้เป็นความยืดหยุ่น (Resilience) พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 อย่างไร


ในปี 2032 กรุงเทพฯจะฉลองวันเกิดครบ 250 ปี แผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี (2012-2032) กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ2032 ไว้คือ “กรุงเทพฯ มหานครแห่งเอเชีย (Bangkok: Vibrant of Asia)” โดยวางแผนพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองชั้นนำในด้านเศรษฐกิจภาคบริการ มีความปลอดภัย สวยงาม สะดวกสบาย น่าอยู่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

การก้าวขึ้นเป็นอภิมหานครจะช่วยเพิ่มหรือลดความสามารถทางการแข่งขันและความยั่งยืนของกรุงเทพฯ และอะไรจะเป็นเครื่องมือที่กรุงเทพฯใช้ในการตอบคำถามนี้?